สรรพสามิตจ่อชงรัฐบาลใหม่ รื้อภาษีพลังงาน มุ่ง NET ZERO

05 ก.ย. 2566 | 11:33 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2566 | 12:29 น.

สรรพสามิตประกาศมุ่งสิ่งแวดล้อม เตรียมชงรัฐบาลใหม่ รื้อโครงสร้างภาษีพลังงาน คิดภาษีตามการปล่อยคาร์บอน หนุนผู้ประกอบการปรับตัว ได้สิทธิลดหย่อนหากส่งออกไปยุโรป-อเมริกา

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ  อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวในงานสัมมนา  ROAD TO NET ZERO โอกาส & ความท้าทายทางธุรกิจ หัวข้อ "นโยบายขับเคลื่อนภาษีคาร์บอน" จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า ประเทศไทยประกาศเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยคาร์บอนจะเป็นศูนย์ หรือ NET ZERO ในปี 2065 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ประเทศไทยทำพันธสัญญาระหว่างประเทศไว้ โดยกรมสรรพสามิตก็ได้ประกาศปรับบทบาทตัวเอง มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อมสังคม และธรรมาภิบาลเช่นเดียวกัน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ  อธิบดีกรมสรรพสามิต

สำหรับอะไรที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเราจะลดภาษีให้ ส่วนอะไรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเราจะเก็บภาษีมากขึ้น เช่น คาร์บอนโดยรถยนต์ที่เราใช้ ประเทศไทยปล่อยคาร์บอน 400 ล้านตันต่อปี โดย 70% มาจากภาคขนส่งและพลังงาน ภาษีสรรพสามิตเก็บทั้งขนส่งและพลังงาน แต่เราจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บเพื่อให้เชื่อมโยงกับคาร์บอน ขณะนี้เราเก็บภาษีตามคาร์บอนที่ปล่อย จากสมัยก่อนเก็บภาษีรถยนต์ตามกระบอกสูบ ซึ่งกรมได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม 

"ตอนนี้หากรถยนต์ปล่อยคาร์บอน 100 กรัมต่อกิโลเมตร เก็บภาษี 25% หากปล่อยคาร์บอน 150 กรัมต่อกิโลเมตรเก็บภาษี 30% และหากปล่อย 200 กรัมต่อกิโลเมตร เก็บาษี 35% ตรงนี้คือภาษีสรรพสามิตที่มาผูกกับคาร์บอน และเราจะมีการเพิ่มอัตราไปเรื่อยๆ ตามการปล่อยคาร์บอน เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และรถอีวี ปล่อยคาร์บอนน้อย เราเก็บ 8% และตอนนี้ต้องการส่งเสริมอีวี เราก็ลดให้เหลือ 2% ทำให้ตลาดรถยนต์เติบโตขึ้น ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต"

นอกจากนี้ สิ่งที่กรมสรรพสามิตจะทำต่อมา คือ พลังงาน ซึ่งอนาคตจะคิดภาษีตามอัตราการปล่อยคาร์บอน โดยกรมได้เตรียมนำเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณาโครงสร้างภาษี เราจะทำรูปแบบเช่นเดียวกันกับรถยนต์ ซึ่งเปลี่ยนจากกระบอกสูบ ไปผูกกับการปล่อยคาร์บอนแทน 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับหากยุโรปและอเมริกาเริ่มเก็บภาษีพรมแดนสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อทำธุรกิจ เราสามารถนำสิ่งที่เราเก็บในประเทศไทย ไปหักลบได้ ซึ่งตอนนี้กรมกำลังคุยกับกระทรวงพาณิชย์ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำโครงสร้างภาษีที่ต่างประเทศยอมให้มีการหักลดหย่อนได้ หากส่งออกไปยังยุโรป อเมริกา เป็นต้น

"ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เราจะเก็บภาษีเมื่อส่งออกไปยังยุโรป หรืออเมริกาอยู่ดี ฉะนั้น นี่คือสิ่งที่กติกาโลกจะบีบบังคับให้เราทำ ดังนั้น ในภาคธุรกิจสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม วันนี้มันไม่ใช่แค่โอกาส และความท้าทาย เราต้องเตรียมพร้อมปรับตัว"

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตเราประกาศเป็นกรม ESG เราต้องเริ่มวัดการปล่อยคาร์บอนเช่นเดียวกัน ธุรกิจต้องเริ่มมีการวัดการปล่อยคาร์บอน เพราะท้ายที่สุดอีก 3 ปีข้างหน้า จะต้องใช้มาตรฐานของยุโรปเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานราชการไทยจะต้องไปเชื่อมโยงกับยุโรปให้ได้ว่าคาร์บอนที่จะเก็บในประเทศไทยจะต้องไปหักลบได้

ส่วนการทำ NET ZERO ในกลไกภาคสมัครใจนั้น ขณะนี้ประเทศไทยได้ดำเนินการ คือ ผ่านคาร์บอนเครดิต และสามารถนำมาซื้อขาย และแลกเปลี่ยนได้ แต่ด้วยความที่เป็นภาคสมัครใจราคาจึงยังไม่ขัยบมากนัก ผู้ที่รักโลกก็เข้ามาซื้อขาย อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดทั้งโลกจะบีบให้ทำเหมือนกัน ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนจะต้องเตรียมปรับตัว 

ขณะที่กรมสรรพสามิตก็พยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้หากนำไอทานอล ผสมน้ำมันกรมก็ลดภาษีสรรพสามิตให้ ส่วนพลาสติกที่ดื่มใช้ตอนนี้กรมจะลดภาษีให้ หากสามารถนำเอเทอนอลมาทำไบโอพลาสติกได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจ เพราะตอนนี้เป็นที่ต้องการในตลาดโลกมาทำให้ธุรกิจไทยเติบโต