“ลดราคาพลังงาน-นโยบายเกษตร” งานหนัก “ครม. เศรษฐา 1”

04 ก.ย. 2566 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2566 | 07:04 น.
778

นักวิชาการ และอดีตคณะกรรมการ กนง. ระบุ งานหนัก “ครม. เศรษฐา 1” ผลักดันนโยบาย “ลดราคาพลังงาน-ภาคเกษตร” รับมือค่าครองชีพ สู้ภัยแล้ง มองโฉมหน้า ครม. เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

หลังได้เห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หรือ "ครม. เศรษฐา 1" ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้วนั้น ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ และ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อย่าง นายพรายพล ขุมทรัพย์ ได้เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หน้าตาของ "ครม. เศรษฐา 1" น่าจะเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลายคนก็มีประสบการณ์ 

โดยหากมองทางด้านเศรษฐกิจ "นายกรัฐมนตรี" ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยตนเอง ถือว่านายกเอาใจใส่เรื่องการใช้เงินใช้งบประมาณ ภาษี และอาจเป็นเรื่องที่ต้องมีการปรับแต่ง หรือปฏิรูปโครงสร้าง ที่เอาจริงเอาจัง 

ประกอบกับมี อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งรู้งานภายในของกระทรงงการคลังเป็นอย่างดีในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ จะช่วยให้การทำงานคล่องตัว

ส่วนกระทรวงอื่นๆ ที่เป็นเศรษฐกิจ กระทรวงพลังงาน คมนาคม พาณิชย์ อุตสาหกรรม นั้น เรื่องเร่งด่วนคงหนีไม่พ้นการปรับ "ลดราคาพลังงาน" ถือเป็นงานหนักของรัฐบาล ที่อาจจะปรับลดได้น้อย เนื่องจากมีผลกระทบต่อรายได้ภาครัฐ และเม็ดเงินจากภาษีที่จะต้องลดมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งจะเป็นหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นหรือไม่

พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ และ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน

รวมทั้งภาษีที่ขาดหายไปจากการลดราคาพลังงาน จะมีการนำส่วนใดมาชดเชยแทน ถือเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล ซึ่งก็คงไม่สามารถปรับอะไรได้ทีเดียว เนื่องจากต้องคำนึงถึงงบประมาณของภาครัฐด้วย

ขณะที่ด้าน "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ก็ถือเป็นงานหนักเช่นกัน ของรัฐบาลชุดนี้ แม้ราคาพีชผลทางการเกษตรในปัจจุบันจะยังมีราคาดี แต่ยังน่าเป็นห่วงเพราะต้องมีการปรับตัว เพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน ที่ยังคงมีขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างด้านการผลิต เพื่อรับมือในอนาคต ผ่านนโยบายภาครัฐ

ส่วนเรื่อง "กระทรวงอุตสาหกรรม" ยังคงเดินหน้าต่อโครงการผลักดันการลงทุนใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และไม่มีอะไรน่ากังวล

ขณะที่ "นโยบายเร่งด่วนภาครัฐ" มองว่า นโยบายเรื่องการพัฒนาคนเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากการพัฒนาในระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทยเดินหน้าไปมากแล้ว 

ดังนั้นการ "พัฒนาคน" ถือเป็นเรื่องสำคัญ ในการผลักดันผ่าน "กระทรวงแรงงาน" และ "กระทรวงศึกษาธิการ" เพื่อให้คุณภาพของคนที่ดีขึ้น ปรับทักษะแรงงงาน เพิ่มความรู้ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญหากมองในแง่เศรษฐกิจ ที่จะต้องปรับตัวคนให้เข้ากับเทคโนโลยีในอนาคต

รวมทั้งการที่ต้องเพิ่ม ศักยภาพแรงงานนั้น เนื่องจากในระยะข้างหน้าเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้มีจำนวนประชากรที่เป็นวัยทำงานลดลง 

ซึ่งจำนวนปริมาณแรงงานอาจจะสู้ไม่ได้ จึงต้องเร่งพัฒนาความสามารถเข้ามารองรับแทน หากไม่พอต้องดึงแรงงานทักษะสูงเข้ามารองรับด้วย ซึ่งควรต้องปรับตัว