ส่องการบ้านรัฐบาลใหม่ นักวิชาการฝาก"ครม.เศรษฐา1" เร่งศก.-แก้หนี้

03 ก.ย. 2566 | 14:28 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2566 | 14:28 น.

ส่องการบ้านรัฐบาลใหม่ นักวิชาการฝาก"ครม.เศรษฐา1" เร่งศก.-แก้หนี้ นณริฏ ชี้ภาครัฐต้องจัดคนเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ธนิตแนะเร่งแก้ปัญหาระยะสั้นใน 3 เดือน เกียรติอนันท์ แนะปรับกาศึกษาให้ตรงกับแรงงานที่ต้องการ

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในงานเสวนาหัวข้อ "การบ้าน ครม.เศรษฐา1แก้วิกฤตประเทศ" ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ฝ่ายอนุรักษ์นิยม หันมามาสนับสนุนเสรีนิยม และรัฐสวัสดิการมากขึ้น โดยในระยะยาวจะเห็นนโยบายใหม่มากขึ้น 

ส่วนรัฐบาลเศรษฐา1 เมื่อรวมกับ 2 ลุง ก็จะรวมฝ่ายอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม และรัฐสวัสดิการเข้าด้วยกัน ซึ่งคาดหวังต้องการเห็นนโยบายที่ไม่เอื้อต่อนายทุน ,นโยบายที่ลดความเหลี่ยมล้ำ ให้โอกาส ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง นโยบายที่ไม่แจกเงินโดยไร้ความรับผิดชอบ ความจำเป็น ต่อการแจก และเป็นภาระทางการคลังรวมถึงนโยบายพัฒนาทุนนิยมแบบโลกยุคใหม่ รักษาขนมธรรมเนียบแบบเหมาะสม ไม่ต้องการให้เกรงกลัวต่างชาติมากเกินไป ดังนั้น จึงจะเป็นนโยบายที่ร่วมกันได้ทุกฝ่าย

สำหรับความท้าทายของเศรษฐกิจในยุคหลังโควิดที่เป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาลเศรษฐา 1 นั้น มองว่าในระยะยาวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยภาครัฐต้องจัดคนเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องคิดใหม่ทำใหม่ เช่น ภาคการท่องเที่ยว หากต้องการจำนวนคนเข้ามามากขึ้น ก็ต้องอุดหนุนทรัพยากรที่มี ด้านอาหาร ความต้องการอาจจะมากขึ้น แต่คุณภาพอาหารไม่ได้ดีขึ้นก็ต้องปรับปรุง

ส่วนความท้าทายระยะสั้นรัฐบาลจะต้องต่อสู้กันระหว่างแรงกดดันที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลทำตามที่หาเสียงไว้ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ก็ต้องคัดกรองว่านโยบายไหนบ้างยังจำเป็นที่ต้องทำอยู่ นโยบายไหนเหมาะสมกับช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน 

"ต้องการเสนอรัฐบาลในเรื่องเงินดิจิตอล 10,000 บาท ที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้ แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมของสถานการณ์ และต้องดูว่าต้องกระตุ้นเท่าไหร่ หากกระตุ้นมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดเงินเฟ้อได้ หรืออาจจะนำมาทำรัฐสวัสดิการอย่างอื่นแทน"

นอกจากนี้ยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก ดังนั้น จะต้องทำให้ประชาชนลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มเรื่องของความพอเพียงหรือต้องมีเงินออม โดยมองว่าควรจะเป็นเรื่องในลำดับต้นที่รัฐบาลจะต้องทำ เรื่องกระจายอำนาจ เพื่อให้มีการดูแลพัฒนาในพื้นที่มากขึ้น และการต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้วอย่าง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเข้าถึงคนหมู่มาก และต้องทำให้คนยืนได้ด้วยตัวเอง และมองว่า รัฐบาลมีความเสี่ยง หน้าตารัฐมนตรีอาจเลือกเองไม่ได้เพราะเป็นกลไกทางการเมือง แต่สามารถเลือกนโยบายที่ดีที่สุดได้

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นตัวเลือกที่ไม่มีทางเลือก เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และไม่ต้องเรียนรู้งานมาก เพราะมาจากภาคธุรกิจ 

แต่สภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในสภาวะที่บอบช้ำต่อเนื่องมาหลายปีจากการรัฐประหาร โดยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเน้นไปที่ความมั่นคงมากกว่าเศรษฐกิจ รวมถึงยังต้องเจอวิกฤตโลก ปัญหาสภาพคล่อง และหนี้เปราะบางที่ล้วนติดลบหดตัวอย่างหนัก ดังนั้น รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ 
 

โดยมีมาตรการ quick win คือ การแก้ปัญหาระยะสั้นที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน แม้บางนโยบายอาจไม่ตอบโจทย์ความหวังของประชาชน แต่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ ได้แก่ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดเงินต่างๆ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ธุรกิจ โปรโมทภาคท่องเที่ยว แก้ปัญหาส่งออกหดตัว ทบทวนแนวทางการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท และปริญญาตรี 25,000 บาท หากจะปรับจริงควรเป็นเดือนพฤษภาคมปีหน้า และควรทยอยปรับ โดยไม่จำเป็นต้องเฉลี่ยเท่ากัน เพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาปรับตัว หรือปรับให้น้อยลงให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ

การกระตุ้นเศรษฐกิจกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะหาเงินมาจากไหน เพื่อไม่ให้กระทบกับการเงินการคลัง และหนี้ของประเทศในอนาคต รวมถึงจะแจกเมื่อใด แจกอย่างไร เพราะประชาชนคาดหวังว่ารัฐบาลจะแจกทุกปี ซึ่งโจทย์นี้ถือเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมา โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ

อย่างไรก้ดี ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับแรงงาน ยกระดับทักษะแรงงาน โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจ แรงงานที่มีอายุ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีทันสมัยแบบก้าวกระโดด และควรมีสวัสดิการที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ

นายเกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องแก้วิกฤติที่จะเกิดขึ้น 3 โจทย์ ได้แก่ วิกฤติที่มาก่อนเวลา วิกฤตที่ตามมาจากอดีต และวิกฤตที่รัฐบาลผิดพลาดหรือสร้างขึ้นมาเอง ซึ่งรัฐบาลต้องระวังให้ดี โดยในส่วนการศึกษาและแรงงาน เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน การศึกษาจะต้องปรับให้ตรงกับแรงงานที่ต้องการ และต้องได้รับ Upskill Reskill ให้เร็วที่สุด 

นโยบายการศึกษาจะต้องทำเลย ทำใหญ่ ทำเพื่อให้เกิดแรงงานในไทย ส่วนอีก 4 ปีข้างหน้าต้องระวังการศึกษา และความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นระยะยาวหากเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้น ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วถ้าไม่ได้รับการศึกษาที่ดี ก็จะเกิดการความเหลื่อมล้ำรอบใหม่ ถ้าไม่แก้วันนี้จะเป็นปัญหาในอนาคต การแก้ในวันนี้ได้ก็จะปลดล็อกปัญหาในอดีตและวิกฤตในอนาคต ถ้าทำได้จะทำให้ภาคการบริหารรัฐบาลจะดีมาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ต้องการใช้รัฐสวัสดิการมาอุ้ม เพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง ดังนั้นถ้าหากจัดสวัสดิการด้านการศึกษาดี สิ่งที่ได้จะไม่ได้สูญเปล่า เช่น การฝึกงานแล้วมีค่าจ้าง เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวีบนทางเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องเริ่มต้นคำถามยากๆเกี่ยวกับการศึกษา เช่น วิชาที่สอนเหมือนกัน ทำไมทุกโรงเรียนต้องทำซ้ำ ทำเหมือนกัน 

ต้องตั้งคำถามว่าจำเป็นไหมที่ครูต้องสอนเหมือนกันทั้งหมด ถ้ามีคนสอนเก่งแล้วสอนในเวลาเดียวกันเปิดทีวีอัดคลิปไปเปิด แล้วครูในห้อง เป็นครูที่จะสรุปบทเรียนแล้วสอนต่อ แบบนี้คุณภาพของกระบวนการจัดการเรียนรู้ จะใกล้เคียงกับปล่อยให้ครูต่างคนต่างสอน 

อีกทั้งวิธีการออกข้อสอบต้องออกแบบให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน แต่อยู่เนื้อหาเรื่องเดียวกัน เป็นต้น กระทรวงการศึกษาและกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมจะต้องเป็นกระทรวงในลำดับต้นที่หลุดออกจากกรอบก่อนที่ได้ตอบ แม้จะมีคนตั้งความหวังกับกระทรวงเหล่านี้น้อย แต่ถ้าทำสำเร็จจะดีที่สุด ที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนโครงสร้างทางการศึกษา และรัฐมนตรีที่เข้ามาต้องทุบกำแพง เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะได้แค่เสียงปรบมือแต่จะไม่ได้คะแนนในการเลือกตั้งครั้งถัดไป