ครม.ล่าสุด รัฐบาลเศรษฐา 1 ลงตัวทุกตำแหน่งแล้ว หลังมีพระบรมราชโองการประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี
สำหรับหนึ่งกระทรวงที่ถูกจับตามากเป็นพิเศษก็คือ "กระทรวงพลังงาน" กระทรวงเกรดเอที่หลายคนต้องการเข้ามาคุมบังเหียน
อย่างไรก็ดี รายชื่อได้เคาะออกมาแล้วว่าจะเป็น “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่นั้นไม่มีการพลิกโผ พร้อมควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งตำแหน่ง
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปทำความรู้จัก รมว.พลังงาน ให้มากขึ้น
ประวัติพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
"พีระพันธุ์" เป็นบุตรของ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร และโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ คนแรก ส่วนชีวิตครอบครัว สมรสกับ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: โทณวณิก) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 4 คน
การศึกษา
สำหรับพีระพันธุ์นั้น มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อนเข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมทีมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์
เคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 3 กรุงเทพมหานคร เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นฝ่ายค้าน ในปี 2550 นายพีระพันธุ์ ถูกรับเลือกให้ทำหน้าที่เป็น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเงา และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จริงๆ ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551
ส่วนผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ การสอบสวนการทุจริต “ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท” โดยถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ และมีผลทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยกว่าหมื่นล้านบาท
ขณะที่จุดพลิกผันทางการเมืองของ "พีระพันธุ์" เกิดขึ้นเมื่อครั้งพรรคประชาธิปัตย์ ทำการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนนายอภิสิทธิ์ ภายหลังแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ได้ ส.ส.เพียง 52 ที่นั่ง โดยมีแคนดิเดตร่วมท้าชิงนั่นก็คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายกรณ์ จาติกวณิช นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค โดยคนที่ได้รับการคัดเลือกคือ นายจุรินทร์
อย่างไรก็ตาม ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 นายพีระพันธุ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะมีชื่อถูกแต่งตั้งให้ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 และย้ายสังกัดเข้าพรรคพลังประชารัฐซึ่งสร้างเสียงฮือฮาเป็นอย่างมาก ก่อนจะถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท การบินไทย ในปี 2563
จากนั้นในเดือนเมษายน 2565 ได้ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ก่อนที่ในเดือนสิงหาคม 2565 จะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีเป้าหมายคือ จะรวบรวมคนทำงานทั้ง ส.ส. รุ่นใหม่ รุ่นเก่ามารับใช้ประชาชน