การศึกษาล่าสุดรายงานว่า คลื่นความร้อน ที่มีความถี่และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อ อินเดีย ทั้งด้านสุขภาพประชาชนและเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็น ความเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศ โดยที่ชนชั้นแรงงานและผู้มีรายได้น้อยอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด
อุณหภูมิอากาศที่ร้อนจัดทำให้แรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในตึกแถว เขตคุรุครามซึ่งอยู่ใกล้เมืองหลวงนิวเดลีของอินเดีย มักใช้เวลาอยู่ด้านนอกแทนที่จะพักผ่อนอยู่ภายในบ้าน และการทำงานกลางแดดร้อนจัด ก็ทำให้พวกเขาทำงานได้ไม่นาน และต้องคอยพักหลบแดดที่แผดเผาเป็นระยะๆ
อาลอค ดาซ หนึ่งในผู้ใช้แรงงานที่อาศัยในเขตคุรุคราม กล่าวว่า การเปิดพัดลมไม่ช่วยคลายร้อนแต่อย่างใด แต่พวกเขาก็ไม่มีเงินพอจะใช้เครื่องปรับอากาศได้
ขณะที่ริจินา บีบี ผู้ใช้แรงงานอีกรายที่อาศัยในเขตคุรุคราม เล่าว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำและไฟฟ้าที่ขัดข้อง ทำให้ทุกอย่างย่ำแย่ลงไปอีก
สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐ รายงานว่า ผู้คนนับล้านในอินเดียต่างต้องเผชิญชะตากรรมที่คล้ายกัน ในการศึกษาล่าสุดโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ชี้ว่า คลื่นความร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กำลังส่งผลกระทบต่อประเทศส่วนใหญ่ในโลก
โรนิตา บาร์ดัน อาจารย์ภาคสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า ประชากรอินเดีย เกือบ 90% ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ตรงไหนของประเทศ ก็ตกอยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกระบุว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ทางการรัฐพิหารและรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของอินเดีย กำลังสืบสวนว่า การเสียชีวิตของประชาชนราว 100 คนที่เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 นี้ เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิที่สูงกว่า 42 องศาเซลเซียสหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า คลื่นความร้อนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีความถี่และรุนแรงมากขึ้น อันก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน
นายอันจาล ปรากาช ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันนโยบายสาธารณะภารตี ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า หลักฐานชี้ให้เห็นถึงกลุ่มคนที่อยู่ฐานล่างของสังคม ที่มีอยู่ราว 400 ถึง 500 ล้านคน พวกเขารับมือความเครียดอันเกิดจากความร้อนได้น้อยกว่าผู้ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้มากกว่า ดังนั้น คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการปกป้องด้วยบริการด้านสุขภาพที่ดีกว่า
ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอีกเรื่องที่น่ากังวล คนที่ทำงานกลางแจ้งคือกลุ่มที่ต้องเผชิญปัญหานี้อย่างเลวร้ายที่สุด ทั้งคนงานก่อสร้าง คนขายของตามถนน และแรงงานตามไร่นาในชนบท ซึ่งอินเดียไม่มีกฎหมายจำกัดชั่วโมงทำงานในช่วงบ่าย
บาบะลู ซิงห์ คนงานก่อสร้างคนหนึ่ง กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูร้อนในเดือนเมษายนปีนี้ เขาต้องหยุดงานมากขึ้น โดยทำงานได้ประมาณ 15 วันต่อเดือน ทั้งนี้เนื่องจากความร้อนขณะทำงานกลางแจ้ง ทำให้เขารู้สึกปวดหัว และต้องหยุดอยู่บ้านเพื่อทำการพักฟื้น
ผลการศึกษายังคาดการณ์ว่า คลื่นความร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น อาจทำให้อินเดียต้องสูญเสียผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ราว 2.8% ภายในปี ค.ศ. 2050
โรนิตา บาร์ดัน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เสริมว่า เมื่ออากาศร้อนส่งผลต่อการทำงานของมนุษย์ นั่นคือการสูญเสียทางเศรษฐกิจไปมาก มันเป็นการบั่นทอนศักยภาพของผู้ใช้แรงงานโดยตรง
การศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ยังได้เตือนว่า ภาวะอากาศร้อนที่รุนแรงนี้ อาจจะเป็นอุปสรรคต่อความคืบหน้าในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการแก้ปัญหาความยากจนในอินเดีย เนื่องจากสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อแรงงานรายได้ต่ำซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
เดือนพ.ย. 2564 นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย สร้างความประหลาดใจให้แก่บรรดาผู้แทนในที่ประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศโลก COP26 ด้วยการให้คำปฏิญญาที่เด็ดขาดว่า อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเป็นอันดับ 3 ของโลก จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายในปี 2613 (หรือ ค.ศ. 2070) ซึ่งเมื่อเทียบกับเป้าหมาย Net Zero ของผู้นำอังกฤษที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน COP26 ในปีดังกล่าวแล้ว การตั้งเป้าหมายของนายโมดีก็นับว่าช้ากว่าถึง 20 ปี อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่า อินเดียมีความมุ่งมั่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในฐานะที่อินเดียมีประชากรคิดเป็น 17% ของคนทั้งโลก และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในสัดส่วน 5% ของทั้งหมด
ที่สำคัญคือ อินเดียกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิที่สูงขึ้นโดยตรงกับตัวเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง