จับตา “โลกร้อน” ทุบสถิติใหม่ เกษตรไทย เสี่ยงเสียหาย 2.8 ล้านล้าน

31 ก.ค. 2566 | 17:18 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2566 | 17:18 น.
2.5 k

จับตา “เอลนีโญ” ปี 67 ทำโลกร้อน ทุบสถิติใหม่เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม นักวิชาการส่งสัญญาณเตือนภาคเกษตรไทยอาจเสียหายมูลค่ากว่า 2.85 ล้านล้านบาท ในปี 2588 ชี้ภาคใต้-ตะวันออก เสี่ยงเสียหายมากสุด กระทบไทยผู้ผลิต-ส่งออกสินค้าเกษตรแถวหน้าโลก รัฐต้องอัดงบช่วยอีกบาน

ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้นในทุกขณะทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างลงความเห็นว่า หากต้องการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยมาออกในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาให้หมดไป ทั่วโลกจะต้องปลูกต้นไม้ให้ได้ถึง 1.2 ล้านล้านต้น ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมากที่จะปลูกต้นไม้จำนวนมหาศาลในช่วงเวลาอันสั้น ในส่วนของไทยผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในลำดับต้นๆ ของโลกก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกัน โดยนักวิชาการชี้ว่า หากไทยไม่ทำอะไรเลยในการป้องกันจะสร้างความเสียหายแก่ภาคเกษตรไทยในอีก 21 ปีข้างหน้า คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.85 ล้านล้านบาท

 

จับตา “โลกร้อน” ทุบสถิติใหม่ เกษตรไทย เสี่ยงเสียหาย 2.8 ล้านล้าน

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์โลกร้อนและผลกระทบต่อเกษตรและอาหาร” ในงานเสวนา “รับมือและปรับเปลี่ยนให้ทัน ป้องกันวิกฤติภาวะโลกร้อน” จัดโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนแห่งเอเชียแปซิฟิก ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (25 ก.ค.66) กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นตัวเร่งให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

จับตา “โลกร้อน” ทุบสถิติใหม่ เกษตรไทย เสี่ยงเสียหาย 2.8 ล้านล้าน

ผลจากงานวิจัยที่ประเมินผลกระทบความเสียหายโดยรวมในภาพรวมทั้งประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอากาศภาคเกษตรไทยที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ภาคเกษตรนอกเขตชลประทานกับในเขตชลประทาน จะพบว่าพื้นที่นอกเขตชลประทานจะมีความเสียหายมากกว่า โดยรวมคาดว่าภาคเกษตรจะเสียหายโดยเฉลี่ยต่อปีประมาณ 83,000 ล้านบาท

 

จับตา “โลกร้อน” ทุบสถิติใหม่ เกษตรไทย เสี่ยงเสียหาย 2.8 ล้านล้าน

“ผลกระทบจากโลกร้อนถ้ารวมตั้งแต่ปี 2554 และเชื่อมโยงไปในอนาคตถึงปี 2588 มูลค่าขั้นตํ่าของความเสียหายต่อภาคเกษตรไทยจะอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท หรือสูงขึ้นไปถึง 2.85 ล้านล้านบาท ซึ่งไทยมีงบประมาณแผ่นดินอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ถือเป็นมูลค่าความเสียหายที่สูงมาก ถ้าเราไม่ลงทุนแก้ไขปัญหาอะไรเลย โดยเฉพาะภาคใต้ และภาคตะวันออก ที่มีความเปราะบางความเสียหายมาก ส่วนหนึ่งจากหันไปปลูกพืชที่มี มูลค่าเพิ่มสูง เช่นทุเรียนที่เป็นไม้ยืนต้น ต่างจากภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกพืชล้มลุก มูลค่าอาจจะเสียหายน้อยกว่า”

จับตา “โลกร้อน” ทุบสถิติใหม่ เกษตรไทย เสี่ยงเสียหาย 2.8 ล้านล้าน

รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ กล่าวอีกว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นตัวเร่งให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) มีการประเมินสถานการณ์โลกร้อนในปัจจุบัน พบว่า ในแต่ละเดือนของปี 2566 ที่ผ่านมา มีอุณหภูมิความร้อนที่ติดอันดับโลกในรอบ 174 ปี และในปี 2567 อุณหภูมิโลกคาดจะทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยจะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม (ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ค.ศ. 1760-1850) ส่วนประเทศไทย คาดผลกระทบจากเอลนีโญจะรุนแรงมากในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมนี้ และจะลากยาวไปถึงเดือนเมษายนปี 2567

ทั้งนี้ผลงานวิจัยในช่วง 10 ปีที่ผ่านจะเห็นความเปราะบางของภาคเกษตรไทยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการศึกษาน้อย (4.46% ของเกษตรกรสำเร็จการศึกษาสูงกว่า ม.6) ครัวเรือนเกษตรกรกว่า 80% เป็นเกษตรกรรายย่อย กำลังเผชิญปัญหาสังคมสูงวัยและคนหนุ่มสาวออกนอกภาคเกษตร สามารถเข้าถึงระบบชลประทานเพียง 26% ของครัวเรือนทั้งหมด มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ยาก เพราะภาครัฐมักมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรแบบให้เปล่า

จับตา “โลกร้อน” ทุบสถิติใหม่ เกษตรไทย เสี่ยงเสียหาย 2.8 ล้านล้าน

“แต่ละปีเกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือเฉลี่ยครัวเรือนละ 17,000 บาท ชี้ให้เห็นว่าการช่วยเหลือเช่นนี้ลดแรงจูงใจ เพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังเพิ่มความเสี่ยงการผลิต ที่มีแนวโน้มว่าอนาคต climate change จะยิ่งรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นหากภาคเกษตรไม่ปรับตัว นั้นหมายความว่า รัฐบาลก็ใช้งบประมาณช่วยเหลือมากขึ้นกว่าเดิม”

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,909 วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566