สนพ. เดินหน้าทำ PDP ฉบับใหม่ชูระบบกักเก็บพลังงานเป็นหัวใจสำคัญ

25 ธ.ค. 2565 | 16:54 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2565 | 23:54 น.

สนพ. เดินหน้าทำ PDP ฉบับใหม่ชูระบบกักเก็บพลังงานเป็นหัวใจสำคัญ โชว์สมาร์ทไมโครกริดบนดอยอินทนนท์ ที่ใช้แบตเตอรี่ลดความเสี่ยงไฟฟ้าขาดแคลนพื้นที่ห่างไกล

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการระบบสมาร์ทไมโครกริดบ้านขุนกลาง บริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ว่า ปัจจุบัน สนพ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP2022) จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่เป็นอันดับต้น

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่ามีความมั่นคงทางพลังงานอย่างมาก โดยเฉพาะด้านไฟฟ้า ทั้งนี้มาจากการดำเนินงานให้มีสำรองไฟฟ้าที่เพียงพอ รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาบริหารแหล่งไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนห่างไกล ผ่านการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน 

 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ตามแผนแล้ว ยังช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เสถียรของพลังงานทดแทนอย่างลงตัวและช่วยส่งเสริมระบบไมโครกริด ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่รวมเอาระบบผลิตไฟฟ้า โหลดไฟฟ้า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 

รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานและระบบควบคุมอัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน โดยสามารถลดภาระในการบริหารจัดการไฟฟ้าและต้นทุนของระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ทำให้ระบบมีความมั่นคงขึ้น 

 

นายวัฒนพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมา สนพ.ได้ดำเนินการระบบไฟฟ้าชุมชนแบบอัจฉริยะขนาดเล็ก (สมาร์ทไมโครกริด) ที่ผสมผสานระหว่างไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงและไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เข้าเก็บในแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อรองรับกรณีระบบไฟฟ้าหลักขัดข้องในพื้นที่ห่างไกล ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

 

สนพ. เดินหน้าทำ PDP ฉบับใหม่

โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้หากในพื้นที่ดังกล่าวเกิดปัญหาไฟฟ้าจากสายส่งหลักมีปัญหาไม่สามารถส่งไฟได้ สมาร์ทไมโครกริดนี้จะดึงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมาช่วยเสริมในทันที แบบไม่มีหน่วงเวลา

 

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า การติดตั้งระบบสมาร์ทไมโครกริดบ้านขุนกลาง พร้อมแบตเตอรี่ประเภท Li-Ion ขนาด 100 kW/150Kwh. สามารถช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับในพื้นที่ได้อย่างน้อย 95% เป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง 

โดยระบบสมาร์ทไมโครกริดนี้ มีระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ซึ่งเปรียบเสมือน Power Bank ที่ช่วยกักเก็บพลังงานที่ได้นำพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำและแสงอาทิตย์มาสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น ลดความผันผวนของระบบไฟฟ้าภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี 

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวกและยากต่อการวางระบบสาธารณูปโภค ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ สนพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย มุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ 

 

รวมถึงการจัดการทรัพยากรในระบบจำหน่ายไฟฟ้า และในพื้นที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์ โดยในปัจจุบันมีการติดตั้งสายส่งไฟฟ้าจากพื้นราบแล้ว แต่ด้วยสภาพพื้นที่เป็นป่าเขาหากเกิดฝนตกหนักหรืออุทกภัยจะส่งผลกระทบต่อระบบสายส่งและเกิดไฟฟ้าดับเป็นเวลานานส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานต่างๆ ในโครงการหลวง รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน