จับตาราคาสินค้าพุ่ง 5-12% หลังค่าไฟปีหน้าเอกชนขึ้น 5.69 บาท/หน่วย

15 ธ.ค. 2565 | 13:22 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2565 | 20:22 น.
554

จับตาราคาสินค้าพุ่ง 5-12% หลังค่าไฟปีหน้าเอกชนขึ้น 5.69 บาทต่อหน่วยงวด ม.ค.-เม.ย. 66 หรือเพิ่มขึ้น 20.5% จากปัจจุบัน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ค่าไฟสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ โรงแรม กิจการไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว (ระหว่าง ก่อสร้าง) คือ อุตสาหกรรม การค้า การเกษตร การบริการ ทั้งหมดจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วยในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 หรือเพิ่มขึ้น 20.5% จากงวดปัจจุบัน

 

"ในการประชุมครั้งที่ 58/2565 (ครั้งที่ 825) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 พิจารณาผลการคำนวณค่า Ft ที่ กฟผ. เสนอตามแนวทางที่ กพช. เห็นชอบ ประจำงวดเดือน มกราคม – เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย"

 

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่กระทบค่าเอฟที ในรอบนี้มาจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้ามาทดแทนการลดลงของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและก๊าซธรรมชาติในสหภาพพม่าตามการประมาณการ ปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติในการคิดค่า Ft ในรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2566 และภาระการทยอยจ่ายคืนหนี้ Ft กฟผ.

 

สมมุติฐานและการบริหารเชื้อเพลิงที่ ปตท. และ กฟผ. ปรับปรุงตามแนวทางการบริหารเชื้อเพลิงของกระทรวงพลังงานเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน ม.ค. - เม.ย. 66 ตามมติ กพช. สรุปได้ ดังนี้

 

ค่าไฟปีหน้าเอกชนขึ้น 5.69 บาทต่อหน่วย  
นายคมกฤช กล่าวต่อไปอีกว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 8/2565 (ครั้งที่ 163) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน ม.ค. - เม.ย. 66 
 

โดยให้จัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเป็นลำดับแรก ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน ซึ่งมอบหมายให้ กกพ. ไปคำนวณอัตราค่าเอฟที (Ft) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ตั้งแต่ใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม – เมษายน 2566

 

และให้ ปตท. ร่วมกับ กฟผ. บริหารจัดการผลกระทบราคาก๊าซธรรมชาติต่อค่าไฟฟ้า โดยให้ ปตท. คิดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้ประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรปรับอัตราค่า Ft ตั้งแต่เดือนที่ กพช. มีมติเป็นต้นไป 

 

และให้นำส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมที่เรียกเก็บดังกล่าวไปทยอยเรียกเก็บคืนในการคำนวณค่า Ft รอบถัดไป และได้รับแจ้งมติดังกล่าวมายังสำนักงาน กกพ. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 แล้วนั้น กกพ. จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแนวทางการคำนวณค่า Ft ประจำเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ที่ได้รับฟังความเห็นไปแล้วให้สอดคล้องกับมติดังกล่าว

 

ก่อนหน้านี้นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า หากรัฐบาลพิจารณาปรับขึ้นค่าเอฟที งวด ม.ค.-เม.ย. 66 เพิ่มขึ้นอีกจากปัจจุบันที่ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยจะส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าโดยเฉลี่ยประมาณ 5-12% 

 

อีกทั้ง ยังจะกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่กำลังย้ายฐานท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย

 


ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปี 66 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ละประเทศแข่งขันกันสูงขึ้นทั้งการส่งออก และดึงดูดลงทุนที่กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน ไทยมีจุดเด่นหลายอย่างแต่ค่าไฟที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับเวียดนามที่อยู่เพียง 2.88 บาทต่อหน่วย จะส่งผลต่อขีดการแข่งขันให้ยิ่งลดต่ำลงไปอีก

 

อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติพบว่าค่าไฟฟ้าของไทยค่อนข้างสูง และเมื่อต้องเสนอเข้าบอร์ดบริษัทแม่ก็มักจะไม่ผ่านในประเด็นนี้ ซึ่งเป็นการบั่นทอนการตัดสินใจการลงทุนของต่างชาติ