Net Zero คืออะไร แล้วเราจะทำให้เกิด Net Zero ได้อย่างไร ?

26 ธ.ค. 2565 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2565 | 21:21 น.

ทุกวันนี้มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติบนโลกจะดูดซับได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” วิกฤตที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

สาเหตุของภาวะโลกร้อน มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ถูกเผาไหม้นั้นถูกปล่อยออกมาเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปสะสมอยู่บนชั้นบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ

 

ปัจจุบันรัฐบาลในหลายๆ ประเทศต่างมีภารกิจเพื่อลดโลกร้อน ด้วยการกำหนดเป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการทำแผนพลังงานต่าง ๆ เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในประเทศ แต่การจะบรรลุเป้าหมายนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของธุรกิจรวมถึงภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่ต้องให้ความสำคัญในการกำหนดเป้าหมาย Net zero ในการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน

 

 สิ่งสำคัญคือนอกจากเป้าหมาย Net Zero แล้ว คือจะทำให้เกิด Net Zero ได้อย่างไร ?

จะทำให้เกิด Net zero ได้อย่างไร ?

แนวทางมุ่งสู่ Net Zero

1. การใช้พลังงานหมุนเวียน / พลังงานสะอาด
พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดถูกนำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อโลก เป็นพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไป และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะมีแหล่งกำเนิดจากธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ความร้อนใต้พิภพ ชีวมวล รวมถึงของเหลือใช้จากการเกษตร เช่น มูลสัตว์ ชานอ้อย ก็สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานด้วยเช่นกัน หรือที่เราเรียกกันว่าก๊าซชีวภาพ

2. ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 100%

ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นยานยนต์ทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในที่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ ไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อใช้ในระบบขับเคลื่อน และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ในประเทศไทยมีมาตรการของรัฐบาลที่หนุนทั้งการใช้ และผู้ประกอบการรถ EV ในภาคเอกชน นอกจากนี้ก็ยังได้เห็นความพร้อมของภาคเอกชน เช่น กลุ่มปตท.ก็ออกมาตอบโจทย์การใช้รถ EV ในทุกมิติ ทั้งการตั้งสถานีชาร์จไฟ EV Station PluZ ให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่ การเปิดสถานีสลับแบตเตอรี (Swap & Go) สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รองรับผู้ใช้งาน EV ในอนาคตมากขึ้น

3. ปลูกป่า ฟื้นฟูธรรมชาติ
แหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือการมีพื้นที่สีเขียวให้กับโลกมากขึ้น ซึ่งการปลูกป่าคือหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่ช่วยกู้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้ เพราะปัจจัยที่ทำให้ต้นไม้สังเคราะห์แสงได้คือคาร์บอนไดออกไซด์ และการฟื้นฟูสภาพป่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บกรีนคาร์บอนได้ นอกจากนี้พื้นที่ป่าชายเลนก็สำคัญเช่นกัน ช่วยในเรื่องของระบบนิเวศน์ชายฝั่ง ช่วยให้คาร์บอนตกตะกอนในมหาสมุทร และสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ในชั้นดินได้ หรือที่เรียกว่า บลูคาร์บอน

4. ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน 

เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) เป็นอีกหนึ่งวิธีที่หลายภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกดำเนินการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการดำเนินงาน กลุ่มปตท. มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีนี้ เช่นเดียวกัน เป็นโครงการที่ดำเนินงานในพื้นที่บริเวณอ่าวไทย รวมถึงพื้นที่บนฝั่งภาคตะวันออก เพื่อบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มร่วมกัน โดยนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด และไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ 

5. ลดการใช้พลาสติก / แยกขยะ

ลดปัญหาเรื่องของขยะที่ย่อยสลายยาก ที่ส่วนมากจะใช้วิธีการเผาเพื่อทำลาย จึงทำให้เกิดมลพิษไปสู่ชั้นบรรยากาศ 

6. ลดก๊าซมีเทน

ก๊าซมีเทน ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 รองจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถทำได้โดยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เพราะก๊าซมีเทนส่วนใหญ่มักเกิดมาจากการเลี้ยงโคเนื้อและโคนม

7. หยุดการใช้ถ่านหิน

ถ่านหินคือพลังงานฟอสซิลที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การใช้พลังงานถ่านหินในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีพลังงานทดแทนอย่างอื่นที่สามารถใช้แทนพลังงานจากถ่านหินได้ ดังนั้นการยุติการทำธุรกิจจากถ่านหิน จะช่วยให้เข้าใกล้เป้าหมาย Net Zero ได้มากยิ่งขึ้น

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งต้องอาศัยการผลักดันให้เป้าหมาย Net Zero เกิดขึ้นจริงได้การดำเนินงานจากทุกภาคส่วน ก่อนที่ภาวะโลกร้อนจะเป็นวิกฤตที่สายเกินแก้