5 อันดับที่ดินกทม.-ปริมณฑลราคาพุ่ง! โซนรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มมาแรง

13 ก.พ. 2568 | 05:45 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2568 | 07:28 น.
1.2 k

REIC ธอส. เผยดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล Q4/67 แตะ 401.4 จุด เพิ่มขึ้น 1.8% YoY นครปฐมนำโด่ง พื้นที่แนวรถไฟฟ้ายังฮอต MRT สายสีแดงเข้มปรับขึ้นสูงสุด 16.4% YoY

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงาน "ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ไตรมาสที่ 4 ปี 2567" พบว่าค่าดัชนีอยู่ที่ 401.4 จุด เพิ่มขึ้น 1.8% จากปีก่อนหน้า (YoY) และ 2.6% จากไตรมาสก่อน (QoQ)

อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตชะลอตัวลงจากปีที่แล้วที่ขยายตัว 3.4% YoY สะท้อนภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาตามกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ผู้พัฒนาโครงการระมัดระวังในการลงทุนซื้อที่ดินเพิ่ม

5 ทำเลกทม.-ปริมณฑลราคาที่ดินพุ่งสูงสุด

ทำเลที่มีการเติบโตของราคาที่ดินมากที่สุดยังคงอยู่ในพื้นที่ชานเมืองและแนวโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ โดย 5 อันดับแรกที่ราคาพุ่งสูงสุด YoY ได้แก่

 

  1. นครปฐม ราคาเพิ่มขึ้น 59.6% ปัจจัยหนุนมาจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี และรถไฟทางคู่สายใต้

  2. สมุทรสาคร ราคาเพิ่มขึ้น 44.2% รับอานิสงส์จากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาถนนพระราม 2

  3. ปทุมธานี (ลาดหลุมแก้ว-สามโคก) ราคาเพิ่มขึ้น 27.3% จากการขยายตัวของที่อยู่อาศัยแนวราบและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

  4. เขตจตุจักร ห้วยขวาง วัฒนา ราคาเพิ่มขึ้น 16.4% จากความต้องการพัฒนาโครงการ Mixed-use และคอนโดระดับไฮเอนด์

  5. กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและตอนเหนือ (บางเขน สายไหม ดอนเมือง) ราคาเพิ่มขึ้น 1.2% โดยมีปัจจัยหนุนจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและขยายโครงการที่อยู่อาศัย

5 อันดับแนวรถไฟฟ้าราคาที่ดินพุ่งสูงสุด

REIC ยังระบุว่าทำเลที่มีราคาที่ดินปรับตัวขึ้นมากที่สุดยังคงเป็นพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า โดย 5 อันดับแรกที่ราคาขยายตัวสูงสุด YoY ได้แก่

  1. MRT สายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) ราคาพุ่ง 16.4% โดยเฉพาะพื้นที่คลองเตย ดินแดง และจตุจักร
  2. BTS สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ราคาพุ่ง 15.6% โดยพื้นที่คลองหลวงและธัญบุรีมีอัตราเติบโตสูงสุด
  3. BTS สายสีเขียว (คูคต-ลำลูกกา) ราคาพุ่ง 10.1% โดยเฉพาะพื้นที่ลำลูกกาและสายไหม
  4. MRT สายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) ราคาพุ่ง 10.0% โดยเฉพาะบางบัวทองและบางซื่อ
  5. MRT สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค), สายสีทอง และสายสีส้ม ราคาพุ่ง 9.2% โดยเฉพาะภาษีเจริญและธนบุรี

5 อันดับที่ดินกทม.-ปริมณฑลราคาพุ่ง! โซนรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มมาแรง

การเติบโตของราคาที่ดินในแนวรถไฟฟ้าสะท้อนถึงศักยภาพของโครงข่ายขนส่งมวลชนที่ส่งผลต่อการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสถานีเชื่อมต่อสำคัญ ทั้งนี้ นักลงทุนและผู้พัฒนาโครงการยังคงให้ความสนใจทำเลแนวรถไฟฟ้าและพื้นที่ชานเมืองที่มีการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง