กทม.เดินหน้าประกาศใช้ผังเมืองกทม.ใหม่ต้นปี69 คำนึงการมีส่วนร่วมประชาชน

12 พ.ย. 2567 | 06:31 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2567 | 14:20 น.
2.8 k

กรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินหน้าประกาศผังเมืองกทม.ใหม่ต้นปี69 แจงสภาผู้บริโภค ยัน คำนึงถึงสิทธิ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน   กทม. ได้เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 66 - 30 ส.ค. 67 รวมระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนด

ความล่าช้าการประกาศใช้ ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่4) ต้องขยับยาวออกไป เป็นต้นปี2569จากแผนเดิม ต้องประกาศใช้ในปี2568  ซึ่งเกิดจากการขยายเวลาเปิดรับฟังการมีส่วนร่วมของประชาชนเพิ่มมากขึ้น

การประกาศใช้ผังเมืองกรุงเทพมหานคร(ปรับปรุงครั้งที่4) ที่ล่าช้า ประเมินว่าจะเกิดการเสียโอกาสสำหรับดีเวลลอปเปอร์ที่มีที่ดินในมือหรือประชาชนที่ต้องการขายที่ดิน ในโซนที่มีการปรับเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดิน 

อย่างไรก็ตาม กรณีข้อเรียกร้องของสภาผู้บริโภค ที่ตั้งข้อสังเกตการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีการให้รายละเอียดผลกระทบ และการจัดรับฟังความคิดเห็น กรุงเทพมหานครไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะ การกำหนดเขตทางจำนวนมากกระทบต่อการใช้ชีวิตประชาชนนั้น

ผังเมืองกทม.ใหม่

 

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. ชี้แจงว่าการจัดทำร่างผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)  กรุงเทพมหานคร ได้คำนึงถึงสิทธิ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวม ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562

โดยจัดให้มีการประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งก่อนมีร่างและหลังมีร่างผังเมืองรวม ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 60-ปัจจุบัน ในการดำเนินการดังกล่าวได้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์ของโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมฯ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูลก่อนการประชุม

พร้อมเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมการประชุม โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถรับเอกสารประกอบ การประชุม รับฟังและซักถามรายละเอียดได้ในที่ประชุม หรือแจ้งเป็นหนังสือให้ กทม. ทราบ โดย กทม. ได้เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 66 - 30 ส.ค. 67

รวมระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแบบรายเขตทั้ง 50 เขตเพิ่มเติมด้วย โดยเป็นการจัดประชุมในสถานที่ ณ เขตต่าง ๆ ร่วมกับการประชุมแบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากที่สุด

โดย เป้าหมายของการจัดทำร่างผังเมืองใหม่ มุ่งเน้นรองรับ การลงทุนรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในเขตกทม.ทุกเส้นทางครอบคลุมพื้นที่กทม.และปริมณฑล อย่างไรก็ตาม ยอมรับประชาชนกังวลเกี่ยวกับ การเวนคืน ก่อสร้างถนน จำนวนมาก 148สาย ซึ่งเรื่องนี้ กทม.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับจำนวนถนนที่เป็นข้อขัดแย้งลง

โดยยืนยันว่าการกำหนดเขตทางของถนนดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจะเวนคืน ตามที่ประชาชนเข้าใจแต่เป็นลักษณะการเว้นระยะถอยร่นห้ามไม่ให้เกิดการก่อสร้างอาคารที่หนาแน่นล้ำแนวเขตทางที่กำหนดไว้ เพื่อลดภาระภาครัฐหากจำเป็นตอ้งขยายถนนในอนาคต  ขณะเดียวกันกทม.จะไม่ขยายการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนเพิ่มอีก และนับจากนี้จะเดินหน้าการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯในขั้นตอนอื่นๆต่อไป

 คาดการณ์ว่าการบังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ปรับปรุงครั้งที่4) อย่างเร็วปลายปี2568 อย่างช้าต้นปี2569 และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่มากไปกว่านี้ เพราะถือว่าร่างผังเมืองรวมฯฉบับนี้ถือว่าเปิดกว้างที่สุดแล้ว 

สำหรับ  ข้อโต้แย้ง ของสภาผู้บริโภค ต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่4)  มีผลกระทบ9ข้อ โดยเฉพาะการตัดถนนใหม่ กว่า 148 สาย และต้องเวนคืนในหลายพื้นที่

โดยพบปัญหาดังนี้

1.ปัญหากระบวนการรับฟังความเห็น ปรึกษาหารือ มีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ไม่มีข้อมูลความละเอียด ว่า “ผลกระทบ” และแนวทางเยียวยา ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ที่เดือดร้อน เสียหายจากผังเมืองดังกล่าว ซึ่งเป็นสาระเงื่อนไขสำคัญที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562ที่ต้องชี้แจงรายละเอียด ผลกระทบและมาตรการเยียวยากับชุมชน

2. กระบวนการรับฟังความเห็นอย่างไม่เท่าเทียม มีการจัดรับฟังความคิดเห็น ผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานราชการองค์การรัฐวิสาหกิจและองค์กรวิชาชีพ ทั้งหมด 3 วันเต็ม แต่ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพียง 1 วัน

3.ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เคยทราบเรื่องการวาง และจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) มาก่อน และไม่สามารถเข้าใจในเนื้อหา โดยเฉพาะเนื้อหาผลกระทบเรื่องการขยายถนน การตัดถนนใหม่ 148 เส้นและผังแสดงผังน้ำ ที่มีการขยายคลองระบายน้ำ การขุดคลองระบายน้ำ จำนวน 200 คลองรวมไปถึงการวางแนวอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลถึงเรื่องการเวนคืนที่ดินจากประชาชน

4.การชี้แจงเนื้อหาการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีการสะท้อนถึง “ผลกระทบ” ที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนในทุกมิติ เช่น การพัฒนาการคมนาคม การพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่มุ่งให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ การลงทุนของกลุ่มคนบางกลุ่ม มากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของชุมชน

5.หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ได้มีการลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่มีการจัดทำร่างผังเมืองรวม ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเวนคืนที่ดิน การเปลี่ยนสีของผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน

6. การดำเนินการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา ๓๗ วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 บัญญัติว่า กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ให้ชัดแจ้ง แต่การทำผังเมืองรวมที่ระบุแนวการขยายถนน หรือการตัดถนนใหม่ กว่า 148 สาย ระยะทางรวมกว่า 600 กิโลเมตร ,แผนผังแสดงผังน้ำ ที่มีการวางแนวการขยายคลอง ตัดคลอง หรือทำอุโมงค์ระบายน้ำใหม่ กว่า 200 สาย ที่ส่งผลไปถึงเรื่องการเวนคืนที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่มีการระบุระยะเวลา และงบประมาณที่ชัดแจ้ง

7.ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560มาตรา 41 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่ แต่พบว่ามีประชาชนเพียง 21,776 คน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จากประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 5,471,588 คน หรือคิดเป็นเพียง ร้อยละ 0.4 ของประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด

8.ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 72(2) บัญญัติว่า รัฐต้องจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพรวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่ประชาชนไม่ทราบถึงกระบวนการต่าง ๆ มากถึง ร้อยละ 95

9.ขัดต่อประกาศคณะกรรมการผังเมือง เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวม พ.ศ.2562กำหนด ไว้ทั้งหมด 22 ขั้นตอน แต่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนเหลือ 18 ขั้นตอน โดยการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการดำเนินงานโดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ แจ้งให้ประชาชนรับทราบจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยได้รวบรวมรายชื่อกว่า 493 รายชื่อมายื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ตรวจสอบกระบวนการจัดทำเนื่องจากเราพบว่ากรุงเทพมหานครดำเนินการละเมิดสิทธิของชุมชน

“พบว่ากรุงเทพมหานคร จัดทำผังเมืองรวมฯละเมิดสิทธิของชุมชนในหลายประเด็น อาทิ กฎหมายกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ แต่ กทม.ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้รับฟังปัญหาก่อนว่าประชาชน มีปัญหาอะไรกับการใช้ผังเมืองเดิมหรือไม่ ทั้งในเรื่องน้ำท่วม การก่อสร้างอาคารสูงหรือไม่ หรือสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 10 -20 ปีที่ผ่าน เพื่อนำเอาความคิดเห็นและปัญหาความต้องการดังกล่าวมาออกแบบผังเมืองใหม่ให้ใช้ประโยชน์ร่วม แต่ กทม.ติดกระดุมผิดเม็ดทำผิดขั้นตอน โดยนำร่างผังเมืองใหม่ มาอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ทำให้ประชาชนอยู่ในสภาพจำยอมไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ และ ไม่มีโอกาส หรือมีส่วนร่วมรับรู้ผลกระทบต่อชุมชน”