กทม.เล็งทบทวน 148 ถนนผังเมืองรวม ขยายรับฟังเสียง หลังประชาชนร้อง3,500 คน

28 ก.พ. 2567 | 15:25 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2567 | 12:47 น.
1.7 k

กทม.เล็งทบทวน 148 ถนนผังเมืองรวม โฟกัส เฉพาะ ถนนสาย (ก) และสาย (ข) ขนาด ความกว้าง 12เมตร และ16เมตรตามลำดับ มีมากถึงกว่า100 เส้นทาง หลังประชาชนร้องกว่า3,500 ราย ส่วนใหญ่ขอยกเลิกถนน ตามด้วยขอปรับสีผังเพิ่ม ชัชชาติ ขยายเวลารับฟังเสียงประชาชนต่อ หวังได้ผังเมืองดีที่สุด

 

การขยายเวลาเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนสำหรับร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ปรับปรุงครั้งที่4) ที่จะครบกำหนดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้  แต่มีรายงานจากกรุงเทพมหานครว่านายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) มีนโยบายขยายการเปิดรับฟังความคิดเห็นออกไปอีก6เดือน  

เพื่อให้การวางและจัดทำผังเมืองรวม เกิดความรอบคอบรอบด้าน และเป็นผังเมืองรวมที่ดีสำหรับทุกคน หลังจากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร้องเรียนมากว่า 3,500 ราย (ข้อมูลณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์) ส่วนใหญ่กังวลเรื่องถนนตามผังเมืองรวม ที่ต้องการยกเลิก โดยเฉพาะ ถนน 3 เส้นทาง ได้แก่ บริเวณซอยอารีย์ กระทรวงการคลัง บริเวณดินแดง และบริเวณทองหล่อ-เอกมัย 

นอกจากนี้ที่เรียกร้องมามาก คือต้องการขอปรับ สีการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สูงขึ้น โดยเฉพาะโซนชานเมืองเช่นสีเขียว (ที่ดินประเภทเกษตรกรรม)เป็นพื้นที่สีส้ม (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) และพื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม)  เพื่อพัฒนาได้มากขึ้น ทั้งนี้การพิจารณาปรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะเป็นไปตามหลักวิชาการและข้อเท็จจริง ตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างพื้นฐานอย่าง รถไฟฟ้า ซึ่งอนาคตจะเน้นการเดินทางระบบรางมากขึ้น

จากการตรวจสอบของ”ฐานเศรษฐกิจ”  นอกจากการขยายเวลาการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมฉบับ(ปรับปรุงครั้งที่4แล้ว) ยังพบว่า กทม.มีแนวคิดจะทบทวน แนวถนนตามผังเมืองรวมทั้ง 148 สายทาง ระยะทางรวม 605.31 กิโลเมตร โดยเฉพาะ ถนนสาย (ก) ขนาดเขตทางกว้าง 12 เมตร และ ถนนสาย (ข)เขตทางกว้าง 16 เมตรรวมกว่า 100 เส้นทาง  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะขยายเขตทางเดิมให้กว้างขึ้น เช่นจาก 8 เมตร เป็น 12 เมตรหรือ 16 เมตรเป็นต้น

  ทั้งนี้อาจพิจารณายกเลิกบางเส้นทางที่ไม่จำเป็น ออกไป  บางเส้นทางต้องลดขนาดความกว้างของเขตทางลง หรือลด ระยะถอยร่น ของอาคารเป็นต้น  แต่ในทางกลับกัน ข้อดีของการกำหนดเขตทางไว้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันความแออัดของจราจร  และเจ้าของที่ดินสามารถเว้นระยะถอยร่นของอาคารให้ได้ตามขนาดเขตทางที่กำหนดไว้  ช่วยให้เมืองมีพื้นที่ว่างมากขึ้นและกรณีที่รัฐมีความจำเป็นต้องเวนคืน

ผู้ว่าฯกทม.กับผังเมืองรวมกทม.(ปรับปรุงครั้งที่4)

นอกจากจะไม่กระทบสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นอยู่แล้วนั้น ยังช่วยลดงบประมาณเพื่อการเวนคืน ที่มาจากภาษีของประชาชนได้อีกมาก แต่ตามข้อเท็จจริง การเวนคืน ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ระยะเวลา ความจำเป็นเร่งด่วน  ที่สำคัญต้องดูว่ามีงบประมาณเพียงพอหรือไม่  ขณะกรณีที่ประชาชนกังวลว่า หากอาคารเว้นระยะถอยร่นตามเขตทางแล้วจะเปิดช่องให้ก่อสร้างอาคารสูงได้นั้น กทม.ได้ออกยืนยันว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะการก่อสร้างอาคารสูงได้ ต่อเมื่อถนนเส้นดังกล่าวมีการเวนคืนและก่อสร้างแล้วเท่านั้น 

 ทั้งนี้ในภาพรวมของร่างผังเมืองรวมประเมินว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน การปรับเปลี่ยนสีของผังเมือง จะต้องเป็นไปตาม การลงทุนรถไฟฟ้าเป็นหลัก รวมถึงการกำหนด โซนศูนย์ชุมชนชานเมือง ที่เปิดโอกาสประชาชนทำกิจกรรมได้หลากหลายทั้งพาณิชยกรรม การอยู่อาศัย ฯลฯ  นำไปสู่การลดการเดินทางทางเข้าเมือง อีกทั้งผังเมืองรวมยังเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยกรองฝุ่น PM2.5 มากขึ้น

   สำหรับ ข้อกำหนดผังเมืองรวมกทม. (ปรับปรุงครั้งที่ 4) พบว่าแต่ละสีผังมีการยืดหยุ่นการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น เริ่มจากประเภทบ้านเดี่ยวสร้างได้ทุกพื้นที่ ทุกสีผังเมือง ประเภทบ้านแฝดเปิดให้พัฒนาบนพื้นที่ ย.2 (พื้นที่สีเหลืองที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยตั้งแต่ ย.1-ย.5 ) เป็นต้นไป ประเภทบ้านแถว (ทาวน์โฮม ทาวน์เฮ้าส์) สร้างได้บนพื้นที่ ย.2 เงื่อนไขตั้งอยู่ริมถนนที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรหรืออยู่ระยะ 800 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหรือสถานีร่วม

   เช่นเดียวกับประเภทห้องแถวตึกแถวอนุโลมสร้างบนพื้นที่ ย.2 เงื่อนไข ตั้งอยู่ริมถนนที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่ากว่า 16 เมตรหรืออยู่ในระยะ 650 เมตรจากสถานี รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหรือสถานีร่วมและสร้างได้บนพื้นที่ ย.3 หากแปลงที่ตั้งอยู่ติดกับถนน ที่มีความกว้างของเขตทางไม่น้อยกว่า 12 เมตร

 ประเภทที่อยู่อาศัยรวม พื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร สร้างบนพื้นที่ ย.2. ได้แต่มีเงื่อนไขที่ดินต้องตั้งติดริมถนนที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 30 เมตร และย.3 ที่ดินติดริมถนนมีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 16 เมตร ประเภทที่อยู่อาศัยรวม ขนาดพื้นที่ไม่เกิน2,000 ตารางเมตรสร้างบนพื้นที่ ย.3. ย.4 เงื่อนไขต้องตั้งติดริมถนนที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 30 เมตร

ห้ามสร้างบนพื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม) พ.1 พ.2 อาคารประเภทที่อยู่อาศัยรวมพื้นที่ไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร สร้างได้บนพื้นที่ ย.4 และย.5. แต่มีเงื่อนไขต้องตั้งติดริมถนนกว้างไม่น้อยกว่า 30 เมตร ห้ามสร้างบน พื้นที่พ.1 พ.2 (พื้นที่สีแดงพาณิชยกรรม) ประเภทที่อยู่อาศัยรวมพื้นที่ไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร ห้ามสร้างบนพื้นที่ ย.1.ถึงย.3 อนุโลมสร้างได้ ย.4ย.5 แต่ต้องตั้งอยู่ริมถนน ที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 30 เมตร ห้ามสร้างบนพื้นที่สีแดง พ.1 ถึงพ.3 อนุโลม สร้างได้ พ.4 ถึง พ.6.

เงื่อนไขต้องตั้งติดริมถนนเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 16เมตร อาคารประเภทที่อยู่อาศัยรวมพื้นที่เกิน 10,000 ตารางเมตร ห้ามสร้างบนพื้นที่สีเหลืองที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ตั้งแต่ย.1.ถึงย.5 อนุญาตสร้างได้ ตั้งแต่พื้นที่สีส้ม (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) เป็นต้นไป แต่พื้นที่สีส้ม ตั้งแต่ ย. 6 ถึง ย.10 มีเงื่อนไขต้องตั้งติดริมถนนที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 30 เมตรห้ามสร้างบนพื้นที่สีแดง พ.1 ถึงพ.3 อนุโลมสร้างได้ พ.4 ถึง พ.6.เงื่อนไข ที่ดินตั้งติดริมถนนเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 30 เมตร

  ประเภทพาณิชยกรรมประเภทห้องแถวตึกแถวไม่เกิน 100 ตารางเมตร สร้างได้ทุกพื้นที่ ประเภทพาณิชยกรรมประเภทห้องแถว ตึกแถว ขนาดไม่เกิน 300 ตารางเมตร สร้างบนพื้นที่ ย.1ย.2 มีเงื่อนไขต้องตั้งติดริมถนนที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 16 เมตร ประเภทพาณิชยกรรมประเภทห้องแถวตึกแถว ขนาด ไม่เกิน 500 ตารางเมตร ห้ามสร้างบนพื้นที่ ย.1 อนุโลมสร้างพื้นที่ ย.2.ย.3 เงื่อนไข ต้องตั้ง ติดถนนที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 30 เมตร และย.4 ที่ดินตั้งติดถนนเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า  16 เมตร เป็นต้น

               นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หากผังเมืองรวมกทม.ฉบับใหม่มีผลใช้!!!