ทุบทิ้งแน่! 3สะพานข้ามแยก ใจกลางกรุง ลุยรถไฟฟ้า สายสีส้ม จับตาจราจรติดหนึบ

09 พ.ย. 2567 | 14:12 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2567 | 17:26 น.
8.4 k

ทุบทิ้งแน่ 3 สะพานข้ามแยกใจกลางกรุง ลุยรถไฟฟ้าสายสีส้ม จับตาจราจรติดหนัก ช.การช่าง เข้าพื้นที่ รื้อย้ายสาธารณูปโภค - เขตทาง ขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน สร้างสถานีรถไฟฟ้า สายสีส้ม กทม. วางแผนรฟม. จับมือแก้รถติด

การลงมือก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม)ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เอกชนฐานะคู่สัญญากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)
 

สะพานข้ามแยกปะตูน้ำ


ในการนี้ บมจ.ช.การช่าง รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้างอุโมงค์และทางวิ่ง โดยลงพื้นที่รื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค และเขตทาง ส่งผลให้รฟม. ประกาศปิดเบี่ยงจราจร เริ่มวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไปเพื่อก่อสร้าง 5 สถานีแรก โดยเริ่มจาก สถานีสายสีส้มประตูน้ำ เป็นพื้นที่แรก ในเดือนมกราคมปี 2568 และทยอย ปิดเบี่ยงจราจร ในสถานีที่เหลือ โดยเฉพาะเขตพื้นที่อ่อนไหว พื้นที่อนุรักษ์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ บนเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ต้องระมัดระวัง

ที่น่าเป็นกังวลและส่งผลให้จราจรติดขัดคับคั่งในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน นั่นคือการทุบทิ้งสะพาน ข้ามแยกสำคัญๆ 3 แห่ง ที่ดูแลโดย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง 3 สะพานข้ามแยกรองรับปริมาณจราจรที่มาจากทั่วทุกสารทิศในเขตเมือง ส่งผลให้  กทม.มีความกังวลมากที่สุด ที่ต้องทุบทิ้ง หรือรื้อสะพานข้ามแยก 3 แห่ง ได้แก่ สะพานข้ามแยกประตูน้ำ สะพานข้ามแยกราชเทวี และสะพานแยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กทม.มีแผนเจรจากับรฟม. เพื่อลงนาม MOU รื้อ สะพานข้ามแยก ทั้ง 3 แห่งเพื่อลดผลกระทบต่อปัญหาจราจร   

สายสีส้ม


จากการประชุมคณะกรรมการส่งมอบและรับมอบถนนของกรุงเทพมหานคร ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานเขต 7 แห่ง ของนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา กทม.ที่ผ่านมาที่ประชุมได้หารือเรื่อง การส่งมอบและรับมอบพื้นที่สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบส่งมอบถนนตลอดความกว้างเขตทางตามแนวถนนที่รถไฟฟ้าสายสีส้มผ่าน เพื่อให้ รฟม.ก่อสร้างและส่งมอบคืน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีการลงนาม MOU ระหว่าง กทม.กับผู้ว่าการ รฟม.ในสัปดาห์นี้

ขณะเดียวกันภายหลังส่งมอบพื้นที่แล้ว ผู้รับเหมาก่อสร้างจะเข้าสำรวจสิ่งก่อสร้างทั้งบนดิน และใต้ดินตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทั้งนี้จะขุดเจาะสำรวจในช่วงกลางคืน และคืนผิวจราจรให้รถสัญจรได้ในช่วงกลางวัน ก่อนจะเริ่มปิดการจราจรเพื่อเริ่มก่อสร้างจริงปี 2568 โดย ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี

 

สำหรับ สะพาน 3 แห่งที่ต้องทุบทิ้ง เพื่อเจาะอุโมงค์และหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสร้างสะพานกลับคืนใช้สัญจรเป็นปกติได้แก่

1สะพานข้ามแยกประตูน้ำ ซึ่งเป็นสะพานเก่าแก่ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2509 เป็นสะพานข้ามแยกสำหรับให้รถยนต์วิ่งข้ามเป็นแห่งแรกของไทยซึ่งกำกับดูแลโดยกทม. โดยแต่ละวันจะมีปริมาณรถจำนวนมาก เข้าสู่เมืองโดยผ่านสะพานนี้ 

ทั้งนี้ ย่านประตูน้ำ ที่จะมีสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มจะสร้างความเจริญอย่างมากในอนาคต โดยเป็นชื่อย่านและทางแยกหนึ่งใน เขตราชเทวี ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่าง ถนนเพชรบุรี ถนนราชดำริ และ ถนนราชปรารภ และใกล้กับศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์ (เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์) อันเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร มีการจราจรพลุกพล่านตลอดทั้งวัน นอกจากนี้แล้วยังเป็นที่ตั้งของท่าประตูน้ำ เป็นท่าเรือโดยสารคลองแสนแสบ ที่อยู่ใต้สะพานเฉลิมโลก 55 อันเป็นสะพานข้าม คลองแสนแสบอีกด้วย

2. สะพานแยกราชเทวี  มาจากประตูน้ำข้ามไปกิ่งเพชร และรับปริมาณจราจรบริเวณสถานีรถไฟฟ้าพญาไท ที่จะข้ามไปยังถนนศรีอยุธยา

3. สะพานข้ามแยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์ 

เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ภายหลังแล้วเสร็จจะก่อสร้างคืนให้ตามเดิม ซึ่งระหว่างนี้ส่งผลกระทบต่อการจราจรมาก