รถไฟฟ้า สายสีส้มตะวันออก หนุน ตลาดที่อยู่อาศัยคึก จุดพลุทำเลทอง ราคาที่พุ่ง

06 พ.ย. 2567 | 16:57 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2567 | 08:48 น.
2.0 k

“รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก”จุดพลุทำเลทองใหม่ หนุนตลาดที่อยู่อาศัยคึกคัก "SCB EIC" คาดว่า ราคาที่ดินขยับสูงขึ้น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องระวัดระวัง การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย กลุ่มกลาง-ล่าง ทั้งต้นทุนสูงขึ้น

 

ทำเลโซนตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพมหานคร คึกคักมีสีสันขึ้น เมื่อ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคู่สัญญา บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทาน ขยับเดินหน้าโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วง บางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท
 

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

โดยเริ่มวางแผนก่อสร้างในส่วนช่วงตะวันตก ในขณะช่วงตะวันออกก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 100% ซึ่งเหลือติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ อย่างไรก็ตามหากแล้วเสร็จนอกจากขยายเส้นทางรถไฟฟ้าแล้ว ยังเปิดทำเลทองใหม่ พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย การลงทุนทนเชิงพาณิชย์
 

เปิดโซนทำเลทองใหม่

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (ส่วนตะวันออก)  มีแผนเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2027 (พ.ศ.2570) หรือไม่เกินต้นปี 2028 (พ.ศ. 2571) ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง ตั้งแต่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แยกลำสาลี ไปจนถึงพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ

 

 

ได้แก่ คันนายาว มีนบุรี คลองสามวา และหนองจอก ประกอบกับการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-หัวลำโพง) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-หัวหมาก-สำโรง) และสายสีชมพู (ศูนย์ราชการนนทบุรี-วัดพระศรีมหาธาตุ-มีนบุรี) เป็นการเปิดโอกาสสำหรับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใหม่ ๆ

 

อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกจะหนุนตลาดที่อยู่อาศัยให้คึกคักขึ้น

SCB EIC คาดว่าการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกในช่วงปลายปี 2027(พ.ศ. 2570) หรือไม่เกินช่วงต้นปี 2028 (พ.ศ. 2571) จะหนุนตลาดที่อยู่อาศัยให้คึกคักขึ้น

ผลสำรวจ SCB EIC Real estate survey 2024 สะท้อนว่า ทำเลที่ไม่ได้อยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก แต่ยังอยู่ใกล้เคียง หรือเชื่อมต่อกับทำเลในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกได้ อย่างกรุงเทพฯ ชั้นนอกฝั่งตะวันออก (ได้แก่ บางกะปิ บึงกุ่ม สะพานสูง ประเวศ ลาดกระบัง)

และกรุงเทพฯ ชั้นกลางฝั่งเหนือ (เช่น บางเขน จตุจักร ลาดพร้าว) ยังมีแนวโน้มได้รับความสนใจจากผู้ที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบ มากกว่าทำเลกรุงเทพฯ ชั้นนอก ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ (ได้แก่ คันนายาว มีนบุรี คลองสามวา และหนองจอก) ซึ่งเป็นทำเลในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกโดยตรง

ในส่วนของผู้ที่มีแผนจะซื้อคอนโดมิเนียม สนใจทำเลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-หัวลำโพง) ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ

 SCB EIC มองว่า การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกตามแผนในช่วงปลายปี 2027 หรือไม่เกินช่วงต้นปี 2028 จะช่วยให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งจะหนุนตลาดที่อยู่อาศัยในทำเลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกให้มีความคึกคักขึ้น โดยเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในช่วงต้นสาย ถึงกลางสาย

สำหรับในช่วงปลายสาย ได้แก่ ทำเลกรุงเทพฯ ชั้นนอก ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ โดยทำเลนี้เป็นพื้นที่ศักยภาพต่อเนื่องมาจากในแถบบางกะปิ บึงกุ่ม และสะพานสูง ประกอบกับราคาที่ดินในทำเลกรุงเทพฯ ชั้นนอก ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ

ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าทำเลบางกะปิ บึงกุ่ม และสะพานสูงค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบได้อีกมาก โดยเฉพาะโครงการระดับราคาปานกลางลงมา ไม่เกิน 5 ล้านบาท

 

สายสีส้มตะวันออก เปิดใช้ ดันต้นทุนที่ดินพุ่ง

ทำเลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก และพื้นที่ใกล้เคียงยังมีความท้าทายด้านหน่วยเหลือขาย ประกอบกับส่วนใหญ่พึ่งพากำลังซื้อปานกลาง-ล่าง รวมถึงราคาที่ดินมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในทำเลนี้ยังต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะโครงการระดับราคาปานกลางลงมา ท่ามกลางแนวโน้มการฟื้นตัวช้าของกำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง และต้นทุนการพัฒนาโครงการที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปตามราคาที่ดิน

ภายหลังจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้า หรือกรณีที่ผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์หันไปพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลาง-บนในทำเลนี้ ก็ยังจำเป็นต้องพิจารณาการแข่งขันกับโครงการระดับราคาปานกลาง-บนในทำเลอื่น ๆ ซึ่งยังมีตัวเลือกตอบโจทย์ผู้ที่มีกำลังซื้ออยู่มากประกอบกันอีกด้วย