เปิดแผน ลุยรถไฟฟ้า สายสีส้มตะวันตก เชื่อม สายสีส้มตะวันออก บูมทำเลทอง  

11 พ.ย. 2567 | 01:21 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2567 | 08:18 น.
3.5 k

รฟม.-BEM คิกออฟ เปิดแผน ก่อสร้าง งานโยธา รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก จุดพลุประตูน้ำ-ราชเทวี  เชื่อม แอร์พอร์ตลิงก์ -สายสีส้มตะวันออก บูมทำเลทองBEM ยัน เปิดให้บริการเร็วสุดก่อนกำหนด เป็นของขวัญปีใหม่ ปี2570  

รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก กำลังเริ่มต้นก่อสร้าง ทั้งนี้ที่ผ่านมาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเส้นทางรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้วหลายเส้นทาง มีโครงการที่อยู่อาศัยโครงการขนาดใหญ่ เกิดขึ้นรายรอบ  

หากมีเส้นทาง รถไฟฟ้าสายสีส้มก่อสร้างเพิ่มซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ ตัวสำคัญ ที่เข้ามาเติมเต็ม รับส่งผู้โดยสารคราวละมากๆ จากนอกเมืองสู่ใจกลางเมืองและจากใจกลางเมือง ออกนอกเมืองได้เต็มรูปแบบ ซึ่งจะเกิดความเจริญให้กับพื้นที่ เพิ่มความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมหาศาล

ก่อสร้่างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ/ถึงเป้าหมายตรงเวลา  

โดยผู้โดยสาร นักธุรกิจ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติสามารถวางแผนถึงเป้าหมายได้อย่างตรงเวลา ลดผลกระทบปัญหาจราจรติดชัดได้ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน และยังเชื่อมต่อโครงข่ายกับรถไฟฟ้าอื่นๆที่เปิดให้บริการอยู่แล้วได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วง บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่ารวม1.4แสนล้านบาท ระยะทาง35.9กิโลเมตรที่แบ่งการก่อสร้างออกเป็นสองช่วงโดย ช่วงแรกสายสีส้มช่วงตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ) ก่อสร้างแล้วเสร็จ100%  แต่ทั้งนี้ต้องรอผู้รับสัมปทาน ได้แก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  ฐานะคุ่สัญญากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)  ซึ่งทำหน้าที่ก่อสร้าง ช่วงสายสีส้มตะวันตก(ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์)

สายสีส้มตะวันออกเปิดปี71/สายสีส้มตะวันตกเปิดปี73

ขณะเดียวกัน จะทำหน้าที่ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ เดินรถไฟฟ้าทั้งระบบ ส่งผลให้ประชาชนต้องอดใจรอ เพราะหากก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดช่วงสายสีส้มตะวันออกระยะทางประมาณ 22.57 กิโลเมตรได้ในราวต้นปี 2571 (ตามแผนรฟม.)ขณะการก่อสร้างโครงการสายสีส้มช่วงตะวันตกการก่อสร้างและแล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี2573

ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม จุดแรก ประตูน้ำ

ปิดจราจร15พ.ย. สร้าง จุดแรกสถานีประตูน้ำ

ล่าสุดรฟม.และBEM คู่สัญญา รวมถึง บมจ.ช.การช่าง ผู้รับจ้างออกแบบก่อสร้าง ได้วางแผนลงพื้นที่ และกำหนดปิดเบี่ยงการจราจร ตั้งแต่วันที่15พฤศจิกายน 2567เป็นต้นไปเพื่อรื้อย้ายสาธารรูปโภค เขตทาง รวมถึงการขุดเจาะทดสอบดินซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณก่อสร้าง  ทั้งนี้สายสีส้มตะวันตกจะเป็นอุโมงค์ตลอดแนว ระยะทางกว่า13กิโลเมตร เบื้องต้น จะดำเนินการก่อสร้าง5สถานีแรก โดยเริ่มจากจุดแรก ที่ ประตูน้ำ หรือสถานีใต้ดิน (อุโมงค์ ) ประตูน้ำซึ่งจะอยู่ ใต้ถนนเพชรบุรี  

บริเวณหน้าห้างพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำเดิมหรือห้างค้าส่งอาหารAEC ในปัจจุบัน ภายใต้การบริหารของ นางวัลลภา ไตรโสรัส ทายาทเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี  โดยจะขุดเจาะอุโมงค์ และทางวิ่ง ในเดือน มกราคม ปี2568 แต่ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัว บริษัทช.การช่าง  ในฐานะผู้รับจ้าง  มีความประสงค์ต้อง ปิดเบี่ยงจราจร บนถนนเพชรบุรี บริเวณธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาประตูน้ำ ถึงบริเวณหน้าปากซอยเพชรบุรี 20เพื่อดำเนินงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค ปรับทางเดินเท้า และติดตั้งงานไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 – 31 มกราคม 2568 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง


สำหรับสถานีส่วนที่เหลือโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ปัจจุบันมีความก้าวหน้า แล้ว 1.90 %  (ข้อมูล 31ตุลาคม2567)  โดยผู้รับจ้าง คือ บริษัท ช.การช่างจำกัด (มหาชน) ฐานะผู้ออกแบบ ก่อสร้างอุโมงค์และทางวิ่ง เข้าพื้นที่ไปก่อนหน้านี้ 

 เป้าหมาย ก่อสร้าง 5สถานีแรก ประกอบด้วย  

1.สถานีบางขุนนนท์

2.สถานีศิริราช

3.สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

4.สถานียมราช

และ5.สถานีประตูน้ำ

ทุบทิ้ง3สะพานข้ามแยก ไฮไลต์ "ประตูน้ำ-ราชเทวี"

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่คนใช้รถใช้ถนน ต้องเตรียมคงามพร้อมเนื่องจาก เหลือเวลาอีกไม่กี่ วัน จะถึงวันที่15 พฤศจิกายน นี้ จะมีการทุบทิ้งสะพาน เดิม เพื่ออำนวยความสะดวกในการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

 

เริ่มตั้งแต่การทุบสะพาน ข้ามแยก ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ภายหลังแล้วเสร็จจะก่อสร้างคืนให้ตามเดิม ซึ่งระหว่างนี้ส่งผลกระทบต่อการจราจรมากได้แก่

 1.สะพานข้ามแยกราชเทวี  และตรงไปข้างหน้า คือ 2.สะพานข้ามแยกประตูน้ำ ซึ่งจะถูกรื้อพร้อมกันเพื่อก่อสร้างสถานีราชเทวี (OR08) และสถานีประตูน้ำ (OR09) ของรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ออกจากสถานีประตูน้ำ จะเลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชปรารภ เพื่อเข้าสู่สถานีราชปรารภ (OR10) และเชื่อมกับสถานีราชปรารภ ของแอร์พอร์ตลิงค์ ก่อนมุ่งหน้าสู่ถนนวิภาวดี ย่านดินแดง เข้าสู่สถานีดินแดง (OR11)  (สายสีส้มตะวันออก) ตามด้วยสถานีประชาสงเคราะห์ (OR12) และสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ (OR13) ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ของสายสีน้ำเงิน และสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ซึ่งก่อสร้างเสร็จไปแล้วก่อนหน้านี้  

 และ  3.สะพานข้ามแยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์   ที่ผ่านมากทม. ในสมัย พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในสมัยนั้นได้ ขยาย สะพานอรุณอมรินทร์ เป็น 6 เลน พร้อมทางขึ้น-ลง พ่วงทางยกระดับข้ามแยกศิริราช-กรมอู่ทหารเรือ เพื่อรับปริมาณจราจรมาจากสะพานข้ามแยกดังกล่าว  ซึ่งมีปริมาณหนาแน่นและเต็มไปด้วยสถานที่ทำงานที่อยู่อาศัย และมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ขณะเดียวกัน สถานีปลายทางบางขุนนนท์ จะมีจุดตัด3 รถไฟฟ้า ได้แก่ สายสีส้ม สายสีน้ำเงินและสายสีแดง

อย่างไรก็ตาม รฟม. และกทม.ได้เตรียมคามพร้อม วางแผนกรณีการทุบทิ้งสะพานข้ามแยกทั้ง3แห่งซึ่งมองว่าเป็นเรื่องใหญ่เนื่องจากล้วนอยู่ในย่านจุดสำคัญที่มีปริมาณจราจรคับคั่งแทบทั้งสิ้น

คิกออฟ แผนก่อสร้างงานโยธา เริ่ม ม.ค.ปี68

โดยแผนก่อสร้างงานโยธา พื้นที่ประตูน้ำ เบื้องต้น  BEM คาดว่าจะเข้าพื้นที่ได้ในราวเดือนม.ค. - ก.พ.2568  ส่วนพื้นที่อนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณงานก่อสร้างสถานีสนามหลวง สถานีศิริราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณถนนผ่านฟ้าลีลาศ คาดว่าใต้ดินอาจจะมีโบราณสถาน หรือวัตถุโบราณ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกรมศิลปากรที่ต้องวางแผนดำเนินการร่วมกัน พื้นที่ส่วนนี้จะใช้เวลาขุดเจาะเพื่อสำรวจประมาณ 4 - 6 เดือนหลังจากนี้

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม BEM เอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า ได้ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เพื่อดำเนินงานออกแบบ และก่อสร้างงานโยธา (Civil Works Contract) และสัญญาจ้างงานจัดหาระบบรถไฟฟ้า (M&E Works Contract) รวมมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน BEM วางแผนดำเนินงานก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาภายใน 6 ปี โดย BEM คาดว่าจะเร่งรัดงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนกำหนด เพื่อเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573 ซึ่งมีแผนงานเบื้องต้น ดังนี้

ปีที่ 1 งานออกแบบ และเข้ารื้อย้ายสาธารณูปโภค ขุดสำรวจใต้ดิน เพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง

ปีที่ 2 เริ่มขุดเจาะสถานี และทำผนัง

ปีที่ 3 – 5 จุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน

ปีที่ 5 – 6 เก็บรายละเอียดงานก่อสร้าง พร้อมติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และทดสอบระบบ

 

BEM มั่นใจ สายสีส้มตะวันออก เปิดเป็นของขวัญปีใหม่ปี70

นาย พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า BEM มั่นใจว่าจะสามารถติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมจัดหาขบวนรถเพื่อมาเปิดให้บริการเดินรถส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในสิ้นปี 2570 เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน รวมทั้งจะเร่งรัดงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ ให้แล้วเสร็จเร็วกว่ากำหนด

ทั้งนี้บริษัท คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในปีแรกของการให้บริการช่วงตะวันออก จะมีประมาณ 1.2 แสนคนต่อวัน และเมื่อเปิดตลอดเส้นทางคาดว่าจะมี 3 แสนคนต่อวัน สำหรับค่าโดยสารนั้นจะเริ่มต้นที่ 17-44 บาท โดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลอดแนวเส้นทางช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสถานีศิริราช จากนั้นจึงวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้พื้นที่ถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวงจนถึงแยกยมราช

หลังจากนั้นจะเลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงสี่แยกประตูน้ำ เลี้ยวซ้ายลอดใต้ถนนราชปรารภ ตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง แล้วจึงเลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง เลี้ยวซ้ายวิ่งตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต แล้วเลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2 และเบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งขนานไปตามแนวถนนพระรามเก้าไปยังสถานี รฟม. ลอดใต้คลองแสนแสบ ก่อนเลี้ยวซ้ายไปตามถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ไปจนถึงบริเวณคลองบ้านม้า ก่อนเปลี่ยนแนวทางวิ่งจากอุโมงค์ใต้ดินเป็นทางวิ่งยกระดับ และวิ่งตามแนวถนนรามคำแหงไปจนถึงบริเวณคลองสองที่สถานีมีนบุรี ก่อนสิ้นสุดแนวเส้นทางที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณสามแยกรามคำแหง – สุวินทวงศ์