นักกฎหมาย ชี้ชัด "คำพิพากษาศาลฎีกา" ที่ดินเขากระโดงเป็นที่รฟท.

07 พ.ย. 2567 | 18:37 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2567 | 20:26 น.
14.1 k

นักกฎหมายมหาชน "ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม" เผยกับโพสต์ทูเดย์ ยืนยันที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ตามคำตัดสินของศาลฎีกา ชี้ มติคณะกรรมการสอบสวนฯไม่เพิกถอนที่ดิน เป็นแค่การประวิงเวลา แต่ยังไม่สิ้นสุด

หลังจากเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 กรมที่ดินได้ออกคำสั่งสำคัญ โดยอธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งหมายเลข 1195-1196/2566 ออกตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องเอกสารสิทธิที่ดินซึ่งออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนถึง 995 ฉบับ คำสั่งนี้เป็นการตอบสนองต่อคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 และคดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ซึ่งเป็นที่ดินขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,083 ไร่

เจ้าหน้าที่กรมที่ดินของจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมกับฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดินของรฟท. และฝ่ายการช่างโยธา ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจแนวเขตที่ดินของรฟท. บริเวณเขากระโดงอย่างละเอียด และเสร็จสิ้นกระบวนการรังวัดที่ดินในที่สุด ข้อมูลการรังวัดทั้งหมดถูกส่งให้คณะกรรมการสอบสวนเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ได้ส่งหนังสือแจ้งว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเอกฉันท์ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินของรฟท. บริเวณแยกเขากระโดง โดยให้เหตุผลว่ารฟท. ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่จะยืนยันว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองอย่างเป็นที่สิ้นสุด

ในรายงานข่าวของโพสต์ทูเดย์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชนคนสำคัญ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ถึงกรณีนี้ว่า กรณีที่ดินเอกสารสิทธิทับที่ดินเขากระโดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นมหากาพย์ที่ยาวนาน ประชาชนอาจสับสนว่า คำพิพากษาศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ขัดแย้งกันหรือไม่ อย่างไร 

นอกจากนี้มติที่คณะกรรมการสอบสวนฯของกรมที่ดินที่ตั้งคณะกรรมการหยิบมาพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดว่า ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. มติดังกล่าว มีผลทางกฎหมายเพียงใด 

มติคณะกรรมการสอบสวนฯเป็นคำสั่งทางปกครองไม่เป็นที่สุด

จึงขอให้ความรู้ด้านกฎหมายมหาชนให้แก่ประชาชนอีกแง่มุมหนึ่งว่า มติคณะกรรมการสอบสวนที่กรมที่ดินใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินตั้งขึ้นมาตามมาตรา 61 เป็นการที่อธิบดีกรมที่ดินใช้อำนาจตามกฎหมายในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาเพิกถอนที่ดินตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางหรือไม่ คำวินิจฉัยไม่เพิกถอน เป็นเพียงคณะกรรมการสอบสวนฯวินิจฉัย  เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายมีผลกระทบต่อสถานภาพสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถือว่า เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนที่ดินมีผลกระทบต่อการรถไฟ ยังไม่เป็นที่สุด 

หากการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่ามติของคณะกรรมการสอบสวนฯไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 90 วันนับแต่ได้รับทราบผลมติวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนฯของชุดที่กรมที่ดินตั้งขึ้น  เพื่อเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง(1) ประกอบมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หากไม่ฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง กระบวนการขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยสิ้นสุดทันที

 

คำพิพากษาศาลปกครอง-ศาลยุติธรรมแยกจากกัน

ส่วนคำพิพากษาของศาลยุติธรรม กับคำพิพากษาศาลปกครอง ในประเทศไทยใช้ระบบศาลคู่ ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นโดยผลของรัฐธรรมนูญ 2540 ผลคำพิพากษาของทั้งสองศาล แยกต่างหากจากกัน ประชาชนอาจสับสวน คำพิพากษาศาลยุติธรรม คือ คำพิพากษาของศาลฎีกาถือเป็นศาลสูงสุด หากเป็นคดีแพ่ง คำพิพากษาย่อมมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีและต้องบังคับตามคำพิพากษา

ส่วนคำพิพากษาศาลปกครอง เป็นเรื่องระหว่างหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชน หรือหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน พิพาทกัน คดีที่จะใช้สิทธิฟ้องศาลปกครอง แยกเป็น 4 กลุ่ม คือ คำสั่งทางปกครอง การกระทำทางปกครอง การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ และสัญญาทางปกครอง เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาทั้งสองศาล ต้องแยกต่างหากจากกัน เพราะคู่ความแตกต่างกัน มีผลเฉพาะคู่ความเท่านั้น แตกต่างจากศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ แห่งรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาด ผูกพันทุกองค์กร คำพิพากษาของศาลปกครอง ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้ถือตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม

มีเพียงศาลยุติธรรมในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือตามคำพิพากษาส่วนอาญาเท่านั้นและมีผลเฉพาะคู่ความ

ที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ

กรณีที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือที่เรียกว่า คดีเขากระโดงหากพิจารณาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 – 876 /2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้ง ว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย

โดยมีข้อเท็จจริงว่า ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟที่ได้มาตาม พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวงพระพุทธศักราช 2464 และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง กรมที่ดิน จึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าวตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2557

ประกอบกับ เมื่อมีข้อเท็จจริงที่มีผลเกี่ยวเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้ง 2 คดีดังกล่าวว่า อธิบดีกรมที่ดิน ได้มีคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พ.ย.2564 แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ข.) เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวน พร้อมจำหน่าย ส.ค.1 เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดิน และยกเลิกเรื่องการขอออกโฉนดที่ดินจำนวน 40 ฉบับของประชาชนจำนวน 35 ราย ตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560

ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้ยันบุคคลภายนอกได้

รวมทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3  ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลจังหวัดบุรีรัมย์จังหวัดบุรีรัมย์ และเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 206 ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งที่ดินทั้งหมดข้างต้นเกิดขึ้นในพื้นที่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวอ้างว่า เป็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย แม้ในคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้ง 2 คดี และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค3จะไม่ได้วินิจฉัยให้เพิกถอนที่ดินแปลงอื่นๆนอกเหนือจากที่ปรากฎเป็นข้อพิพาทในคดีก็ตาม แต่คำพิพากษาดังกล่าวก็ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึง ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) จึงสามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่ บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า 
    
ตรงนี้แหละที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้หยิบเอาผลของคำพิพากษาศาลฎีกา มาร้องขอให้อธิบดีกรมที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิแสดงกรรมสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ

หากพิจารณาจากกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2557 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 2 ว่า ให้กรมที่ดินมีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ จากข้อกำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว เห็นได้ว่า กรมที่ดิน มีภารกิจหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแลและรักษาที่ดินของรัฐทุกประเภท และอธิบดีกรมที่ดิน ในฐานะผู้บังคับบัญชา ก็ย่อมมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้กรมที่ดิน ให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่ถูกกำหนดไว้

การรถไฟแห่งประเทศไทย ใช้ช่องทางนี้ ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยอ้างว่ากรมที่ดิน หน่วยงานของรัฐ อธิบดีกรมที่ดิน เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตาม พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2)

หากพิจารณาจาก คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 วินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน) ละเลยต่อหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีหน้าที่ในการดำเนินการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาตามคำร้องขอของผู้ฟ้องคดี (รฟท.) เพื่อตรวจสอบถึงความถูกต้องในการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณที่พิพาทว่าเป็นการออกโดยทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือไม่

คำวินิจฉัยศาลปกครองกลาง ตรงนี้  เป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ดินเขากระโดง นำไปสู่มติไม่เพิกถอน อ้างความไม่ชัดเจนของเอกสารสิทธิ์ หมายความว่า อธิบดีกรมที่ดิน ปฎิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแล้ว เมื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำให้เกิดคำสั่งทางปกครอง ฉบับใหม่เกิดขึ้น

แผนที่ท้ายพรฎ.จัดซื้อที่ดินไม่ยืนยันแน่ชัดคือปมปัญหา

การโยนภาระการพิสูจน์เอกสารสิทธิ์ เป็นภาระของการรถไฟ เพราะเพิกถอนที่ดินที่อยู่นอกเหนือคำพิพากษาของศาลฎีกาด้วย และแผนที่ ท้าย พรฎ.การจัดซื้อที่ดินฯ ไม่มียืนยันแน่ชัด โดยเปิดช่อง ให้คณะกรรมการสอบสวนฯใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้ เพราะเป็นคำสั่งทางปกครอง ที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกาและไม่ขัดต่อคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เพราะคำพิพากษาไม่ได้บังคับให้เพิกถอน แต่ไปออกช่องให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้เปิดช่องให้ คดีกลับไปสู่สารตั้งต้นในการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า มติของคณะกรรมการสอบสวนฯ กรมที่ดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐาน เป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.ขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ 

มติคณะกรรมการฯเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ไม่ได้

ดร.ณัฏฐ์ มือกฎหมายมหาชนคนดัง กล่าวว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของมติคณะกรรมการสอบสวนฯ กรมที่ดิน เป็นคำสั่งทางปกครอง ใหม่ที่เกิดขึ้น แยกต่างหากจากคำพิพากษาศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลปกครองกลาง  สะท้อนให้เกิดแตกเป็นคดีใหม่  คดีเดิมยังทำอะไรไม่ได้ เป็นการประวิงเวลา อีกประการหนึ่งเปิดช่องมิให้ อธิบดีกรมที่ดิน หรือ เจ้าหน้าที่ที่ดินที่เกี่ยวข้องมิให้ถูก ดำเนินคดีอาญามาตรา 157 โดยอ้างว่า ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางแล้ว แต่มติคณะกรรมการสอบสวนไม่เพิกถอน เป็นคำสั่งทางปกกครองใหม่เกิดขึ้น ยังเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ไม่ได้

แต่หากพิจารณาถึงประเด็นแนวทางต่อสู้ เป็นจุดอ่อนของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยคำพิพากษาระบุตอนหนึ่งว่า มีหนังสือกรมที่ดิน ลับ ที่ มท 0516.2/15572 ลงวันที่ 27 ก.ค.2564 ขอให้การรถไฟ ชี้แจงว่า แผนที่แสดงเขตที่ดินของการรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 27 พ.ย.2465 หรือไม่

มีหนังสือการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ รฟ 1/2281/2564 ลงวันที่ 20 ส.ค.2564 แจ้งตอบผู้กรมที่ดิน ว่า ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ไม่มีแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯ  มีเพียงแผนที่แสดงเขตที่ดินของการรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง ซึ่งเป็นเอกสารที่ยื่นในคดีพิพาทต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) จึงมีหนังสือกรมที่ดิน ลับ ที่ มท 0516.2 ลงวันที่ 27 ก.ย.2564 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดี(รฟท.)นำส่งแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ หรือนำครอบแผนที่อีกครั้ง พร้อมทั้งแจ้งว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาทั้ง 2 คดีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง ไม่ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่สามารถดำเนินการแก้ไขหรือเพิกถอนตามมาตรา 61 วรรคแปด แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้

การตอบคำถามโดยยืนยันข้อเท็จจริง เป็นการเปิดช่องในเรื่อง แผนที่ที่ดิน เป็นภาระการพิสูจน์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพราะฟ้องให้อธิบดีกรมที่ดิน ฟ้องเพิกถอนทั้งหมด นอกเหนือที่ปรากฏในคำพิพาษาของศาลฎีกาทั้งฉบับและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หนึ่งฉบับ คือ ฟ้องเหมารวมทั้งทั้งหมด แต่คำพิพากษาของศาลฎีกาผูกพันเฉพาะคู่ความที่ศาลให้เพิกถอนเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงบุคคลอื่นที่ถือครองและไม่ใช่เป็นบริวารของคู่ความ

 

ที่มา โพสต์ทูเดย์ :  "ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม" ผ่าปมเขากระโดง ยึดคำตัดสินศาลฎีกาเป็นที่รฟท.