รับสร้างบ้าน จัดใหญ่ กระตุ้นกำลังซื้อ ลุ้นมาตรการรัฐ หนุนตลาดโต

26 ม.ค. 2567 | 13:11 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2567 | 09:08 น.

สมาคมรับสร้างบ้านจัดใหญ่งาน “รับสร้างบ้านและวัสดุ Focus2024” กระตุ้นกำลังซื้อตั้งแต่ต้นปี พร้อมลุ้นมาตรการรัฐ หนุนตลาดโต

 

ตลาดรับสร้างบ้านหนึ่งในฟันเฟือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากในแต่ละปี มีความต้องการสร้างบ้านเองบนที่ดินของตนเอง กว่า 2 หมื่นหน่วย โดยตัวเลขอ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และเป็นตัวเลขที่ทรงตัวไม่หวือหวาเหมือนกับตลาดบ้านจัดสรร แต่เป็นตัวเลขที่มั่นคงและตลาดใหญ่กระจายตามต่างจังหวัด ซึ่งมีโอกาสขยายตัวได้ อย่างต่อเนื่อง  ขณะภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2567 ยังไม่ชัดเจนมีความท้าทายรอบด้าน ซึ่งต้องอาศัยมาตรการจูงใจจากรัฐบาลกระตุ้นกำลังซื้อในรูปแบบต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนรวมตัวจัดกิจกรรม ส่งเสริมการตลาดอีกทาง

 

 

 นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ตลาดรับสร้างบ้านปีนี้ ยังอยู่ในภาวะทรงตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการกระตุ้นธุรกิจที่ 8 องค์กรอสังหาฯ ผลักดัน จะเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ช่วยให้ผู้บริโภคได้สิทธิ์เข้าถึงที่อยู่อาศัยและรัฐมีรายได้มากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้บริโภคได้รอมาตการของรัฐ มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้ ยังชะลอการตัดสินใจ

โดยประเมินว่า ขณะนี้ถึงเวลาจัดงานกิจกรรมรับสร้างบ้าน ซึ่งเป็นแผนของสมาคมฯ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยแต่ละปีจัด 2 ครั้ง ช่วงต้นปี และกลางปี เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้โคจรมาพบกันโดยปีนี้ จะจัดงานค่อนข้างใหญ่ ร่วมกับบริษัท ยูเนี่ยน แพน เอ็กซิบิชั่นส์ จำกัด ฐานะผู้ดำเนินธุรกิจทางด้านการจัดงานแสดงสินค้า  รวมถึงพันธมิตรเฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้าน บนพื้นที่ 5 หมื่นตารางเมตร ภายใต้ชื่องาน “รับสร้างบ้านและวัสดุ Focus2024” ระหว่างวันที่ 17-25กุมภาพันธ์ ณ อิมแพ็คฮอลล์ 8  เมืองทองธานี  ซึ่งมีครบจบในที่เดียว และมีแคมเปญลด-แลก-แจก-แถมเพื่อให้ผู้บริโภค ได้ตัดสินใจ

 อย่างไรก็ตามมองว่าตลาดรับสร้างบ้าน ไม่ได้เติบโตเหมือนกับอสังหาฯกลุ่มอื่น แต่ตัวเลขข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯเก็บรวบรวมมีแค่ 2 หมื่นหน่วยต่อปี ขณะราคาค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งวัสดุก่อสร้าง พลังงานฯลฯที่นับวันจะเข้าถึงยากแต่ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภครอคอยคือ มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีสร้างบ้านบนที่ดินตนเอง กับบริษัทที่จดทะเบียน โดยสมาคมฯต้องการผลักดันเพื่อผู้บริโภค ในระยะยาวอย่างแท้จริง

โอฬาร จันทร์ภู่ วรวุฒิ กาญจนกูล

“ปกติเราซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว แต่นี่คือการสร้างบ้าน ที่ไม่ได้สร้างกันทุกปี บางคนสร้างหลังเดียว แต่การที่เราขอ แค่ล้านละหมื่นบาท  ง่ายๆ ถ้ารัฐบาลเห็นว่ามีประโยชน์จะขยายให้มากกว่านี้ก็ได้เพราะการเป็นหนี้ คือการลงทุนเพื่อความมั่นคงในชีวิตของเขาซึ่งการลดหย่อนล้านละหมื่นบาท ไม่น่ายากถ้ารัฐบาลส่งเสริม”

  นายโอฬารระบุว่าที่ผ่านมาได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี  ซึ่งมองว่าธุรกิจรับสร้างบ้านน่าจะด้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อผู้บริโภค สำหรับสมาคมหรือสมาชิกมองว่าเป็นเพียงแรงกระตุ้นทั่วไป ที่จะสร้างบ้านกับใครก็ได้ ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และหากมีลูกค้ามาใช้บริการมาขึ้นจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องคือวัสดุก่อสร้าง โดยจะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ขยายตัวตามไปด้วย 

  โดยสมาคมได้เสนอแยกการสนับสนุน จากรัฐบาลเป็น 2 เรื่องคือ 1. สร้างบ้านบนที่ดินกับบริษัทที่จดทะเบียน ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาล้านละ 1 หมื่นบาท สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท และ 2. สร้างบ้านบนที่ดินตนเองหลังแรกให้ รวมอยู่ในโครงการบ้านหลังแรกและได้รับลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนอง รวมถึงรัฐให้การช่วยเหลือทางด้านการเงินสูงสุด 1แสนบาท

 “สิ่งที่นายกรัฐมนตรี  สนใจ คือธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่จะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของนายกฯในอดีต ถ้าเป็นไปได้การกระตุ้นเศรษฐกิจวิธีนี้ จะถือว่าดีแต่ถ้าเป็นข้ออื่นจะถูกหลายภาคส่วนตั้งคำถามแต่เรื่องการลดหย่อนให้ผู้บริโภคกับการสร้างบ้านมันจะมีผลกระทบน้อยกว่านายกฯเลยสนใจและบอกว่าถ้าข้ออื่นไม่ได้ก็เอาอันนี้ ไว้ก่อน”

  นายโอฬารยืนยันว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะทำงานโดยมี ผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีที่ดูแลทางด้านเศรษฐกิจและกฎหมายมาร่วมพิจารณากับภาคเอกชนซึ่งมองว่าจาก 8 ข้อ น่าจะได้รับสนับสนุน  6 ข้อ โดยข้อที่อาจไม่ได้คือการถือครองที่ดินของต่างชาติ รูปแบบการเช่า จาก 30 ปี เป็น 50 ปี โดยอาจเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะได้หรือไม่

   แต่เรื่องที่ไม่น่าจะได้รับการพิจารณา  คือเกณฑ์  LTV รวมถึงเรื่องของการลดขนาดพื้นที่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์  ซึ่งค่อนข้างยากเพราะเกี่ยวเนื่องทั้งกระทรวงมหาดไทย และกฎหมายหลายกระทรวง  ในมุมกลับกันมาตรการของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านน่าจะผลักดันได้ง่ายที่สุดเพราะเกี่ยวกับประชาชนรากหญ้าในต่างจังหวัด ที่ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านสร้างเอง และดึงเข้ามาสู่ระบบ

 ขณะกรณี ค่าโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง  สมาคมฯขอ สร้างบ้านบนที่ดินตนเองรวมเข้าไปอยู่ในโครงการบ้านหลังแรกแยกจากกลุ่มสร้างบ้านเอง ขอลดหย่อนภาษี แยกมาสร้างบ้านเอง  คือบ้านหลังแรกให้รวมบ้านสร้างเองด้วย ถ้าบ้านสร้างเองได้แล้ว ลด 1 แสนบาท มองว่าจะเกิดผลดีแต่มีคำถามว่า 1 แสนบาทใครจะมาสนับสนุนให้รัฐบาลช่วยบ้านหลังแรก จำนวน 1 แสนหลัง หลังละ 1 แสนบาท อาจดูมากเกินไป ซึ่งเอกชนอาจถอยมาอยู่ที่ 5 หมื่นบาท แต่ทั้งนี้สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ การได้รับสนุนอัตราดอกเบี้ยตํ่านาน3 ปี ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อจะเหมาะสมกว่า 

  ด้านนายวรวุฒิ กาญจนกูล อดีตนายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เสริมว่าเศรษฐกิจโดยรวมยัง ไม่ชัดเจนยังมีความเสี่ยงอยู่หลายด้าน มองว่าปีนี้ตลาดรับสร้างบ้านต้องประคองตัว ซึ่งอยู่ในภาวะทรงๆ  เพราะธุรกิจนี้ไม่หวือหวา หากเติบโตขึ้นก็ขยับเล็กน้อย จาก 2 หมื่นหน่วยต่อปี ทั้งนี้ หากรัฐบาลสนับสนุนมาตรการ เชื่อว่าตลาดจะเติบโตและรัฐบาลมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น