วีบียอนด์ ทรานฟอร์ม สู่ "ศูนย์ค้าส่งอสังหาฯ" ปั้นยอด 8 หมื่นล้าน

01 มิ.ย. 2566 | 09:00 น.

เจาะมุมมอง นายวรเดช รุกขพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.วี บียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ เจ้าของแพลตฟอร์มอสังหาฯ อัจริยะ "Property Mall" กับก้าวสำคัญ การทรานฟอร์มบริษัท สู่ "ศูนย์ค้าส่งอสังหาฯ" ปั้นยอด 8 หมื่นล้าน ภายใน 5 ปี

ท่ามกลาง การคาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2566 ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ที่ประเมินว่า ตลาดปีนี้ มีความเสี่ยงสูง จาก ปัจจัยการเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้ง ภาวะหนี้ครัวเรือนทรงตัวสูงเกือบ 90%ของ จีดีพี ทำให้ผู้มีรายได้น้อย - ปานกลาง ยังคงถูกสถาบันการเงินปฎิเสธการเข้าถึงสินเชื่อ กระทบความสามารถการซื้อและกู้ลดลง มีผลต่อยอดขายและการโอนกรรมสิทธิ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

โดยต้นทุนใหม่ที่ส่อแววปรับขึ้นทั้งแผง ยังพาให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมลดความเชื่อมั่นลง คาดปีนี้ การเปิดตัวโครงการเปิดใหม่จะชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา เหลือ แค่ 98,132 หน่วย ลดลงถึง 10.5% หรือ อาจหายไปมากกว่า 19% หากเจอวิกฤติเชิงซ้อนภายในประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ปรากฎการณ์ข้างต้น ได้กลายเป็นก้าวสำคัญของ กลุ่มบริษัทที่เป็นตัวกลางซื้อ-ขาย ระหว่างผู้พัฒนาและผู้บริโภคในระบบ พบมีความเคลื่อนไหวในเชิงกลยุทธ์และการทำการตลาดอย่างน่าสนใจ โดยล่าสุด บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน)ประกาศ ความร่วมมือกับ บริษัท วี บียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ (Property Tech) และ บริษัท ไอเอฟซีจี จำกัด (โบรกเกอร์อสังหาฯ) ผนึก 3 กลุ่มธุรกิจ เพื่อร่วมขยายช่องทางการขาย เจาะทั้งกลุ่มนักลงทุนและผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง โดยชูต้นทุนถูก ผลตอบแทนสูง เขย่ามิติอสังหาฯในช่วงเวลาท้าทายนี้ 

วีบียอนด์ ทรานฟอร์ม สู่ \"ศูนย์ค้าส่งอสังหาฯ\" ปั้นยอด 8 หมื่นล้าน

"ฐานเศรษฐกิจ" เจาะมุมมอง นายวรเดช รุกขพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.วี บียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ เจ้าของแพลตฟอร์มอสังหาฯ อัจริยะ "Property Mall" ที่ถือเป็นตัวกลางที่สำคัญที่สุดในห่วงโซ่การขายดังกล่าว ระบุถึงทิศทางอสังหาฯไทยว่า ขณะนี้ หากประเมินปัจจัยต่างๆ จะพบว่าอสังหาฯ มีปัจจัยลบมากกว่า บวก แต่เชื่อว่า ยังประคองกำลังซื้อต่อไปได้ ภายใต้รัฐบาลยังคงไว้ซื้อมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯและจดจำนอง รวมถึง รอมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของว่าที่รัฐบาลใหม่ ซึ่งมีนโยบาย "บ้านตั้งตัว"รัฐช่วยผ่อนบ้านหลังแรก 2,500 บาท จำนวน 1 แสนราย ในที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เป็นต้น 

ทั้งนี้ ภายใต้ภาพตลาดไม่ได้ร้อนแรงนัก บริษัทมองเป็นโอกาสสำคัญ ของกลุ่มธุรกิจตัวกลางซื้อ-ขาย เพราะในฝั่งผู้พัฒนาฯ ไม่ได้เร่งเครื่องเปิดตัวโครงการใหม่ และ ต้องการระบายสต็อกที่ติดค้างมือเก่าออกไป แต่มีอุปสรรค การขายช้าลง ขณะฝั่งผู้บริโภค ยังอยากได้ที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงมากนัก เพราะติดปัญหา มาตรการ LTV (อัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าบ้าน)
ทำให้ได้วงเงินน้อยลง สำหรับกลุ่มที่อยากจะเข้ามาลงทุนด้วย 

"วีบียอนด์"ศูนย์กลางค้าส่งอสังหาฯ

วีบียอนด์ ที่กำลังพาตัวเองเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยนับเป็นโบรกเกอร์รายเดียวและรายแรกในไทย วางเป้าหมายขึ้นเป็นเบอร์ 1 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงกลยุทธ์ครั้งนี้ว่า เดิมดีเวลลอปเปอร์ ต้องอาศัยสินเชื่อก้อนใหญ่จากธนาคารในการพัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งมีดอกเบี้ยต้นทุนสูง ราคาขายต่อผู้บริโภคจึงสูงไปด้วย แต่ในความร่วมมือล่าสุด จะมีนายทุนอย่างบริษัท ไอเอฟซีจี ในอยู่ในวงการมานานถึง 14 ปี เข้าไปช้อนซื้อโครงการตั้งแต่พรีเซลแบบบิ๊กล็อต หรือราว 50%

โดยเจ้าของโครงการ ลดความเสี่ยง ขายช้า และมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการพัฒนา ขณะบริษัทจะรับช่วงต่อจาก ไอเอฟซีจี มาบริหารจัดการต่อเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยต่อไป วางตำแหน่งตัวคล้ายเป็น "ศูนย์กลางค้าส่งอสังหาฯ" หนุนแรงซื้อใหม่ๆ เข้ามาในระบบ จากของที่ลูกค้าจะได้รับในราคาต้นทุนที่ถูกกว่าการขายทั่วไป ผนึก 3 ขา เป็นอีโคซิสเต็มอสังหาฯอีกหนึ่งรูปแบบ

ขณะ ผลตอบแทนที่บริษัทจะได้รับแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ค่าคอมมิชชั่นจากการเป็นนายหน้าขายอสังหาฯในช่วงพรีเซล และ 2. กำไรส่วนต่างจากราคาขายในส่วนของโครงการพร้อมอยู่ ซึ่งจะซื้อมาขายต่อให้กับลูกค้าในแพลตฟอร์มของบริษัท
 
เจาะเชียงใหม่-ภูเก็ต-หัวหิน

ในการคัดสรรโปรดักส์นั้น นายวรเดช เผยว่า อสังหาฯรายแรกที่เข้ามาร่วม คือ บมจ.ชาญอิสสระ ซึ่งถือเป็นบิ๊กแบรนด์ในวงการ อีกทั้งมีพอร์ตอสังหาฯหลากหลาย ตั้งแต่โครงการบ้าน คอนโดมิเนียมหรู โรงแรม และ ร้านอาหาร ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มนักลงทุน ที่แสวงหาส่วนต่างในการถือครอง ขณะกลุ่มเรียลดีมานด์ก็มีโปรดักส์ตอบโจทย์ และถือเป็นสินทรัพย์แบบใหม่ ที่มูลค่าแปรผันสูงขึ้นในอนาคต เช่น คอนโดมิเนียม บลู แซฟไฟร์ หัวหิน , โครงการ ดิ อิสสระ เชียงใหม่ อีกทั้ง พบในปีนี้ จะมีการเปิดโครงการใหม่อีก ทั้งย่านกรุงเทพกรีฑา ภูเก็ต และหัวหิน เป็นต้น ครอบคลุม 1.สินค้าดี 2.มีคาเรคเตอร์ และ 3.มีคุณภาพ /แบรนด์น่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญสูงสุด คือ ทำเลที่ตั้ง พบขณะนี้ จังหวัดเชียงใหม่ และ ภูเก็ต กำลังร้อนแรงในความต้องการ ไม่ว่าจะจากผู้ซื้อคนไทยหรือต่างชาติ ขณะหัวหินกำลังจะกลับมา ซึ่งบริษัทมีกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติมากขึ้น โดยจะจับคู่ โลเคชั่นกับกลุ่มลูกค้า เช่น เชียงใหม่ กับ ชาวจีน หรือ ภูเก็ต ก็จะเป็นชาวจีน บวก รัสเซีย เป็นต้น 

5 ปี ตั้งเป้า ส่วนแบ่ง 4 หมื่นล้าน

สำหรับเป้าหมายของบริษัทนั้น หลังจากเร็วๆนี้ เตรียม IPO ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะระดมทั้งทุนและพันธมิตร จะรุกธุรกิจอย่างเต็มสูบ วางเป้าภายในระยะ 5 ปีนับหลังจากนี้ จะชิงส่วนแบ่ง ราว 4 หมื่นล้านบาทต่อตลาด ภายใต้ ตลาดที่อยู่อาศัยใหม่ มูลค่า 8 แสนล้านบาทต่อปี ขณะ ตลาดบ้านมือสอง อีก 9 แสนล้านบาทต่อปี รวม 8 หมื่นล้านบาทต่อปี 

ซึ่ง ภายใต้การนำร่องร่วมกันของ 3 บริษัทครั้งนี้ และเตรียมที่จะลงนามร่วมกับบริษัทอสังหาฯรายอื่นๆเพิ่มเติม โดยอาศัยฐานลูกค้าของทั้งวีบียอนด์ และ ไอเอฟซีจี ก็มีลูกค้านักลงทุนในมืออีกร่วม 5 หมื่นราย เน้นสร้างผลตอบแทนการลงทุนร่วมกัน 7-8% ต่อหน่วยนั้น คาดปีนี้จะเป็นอีกปีที่ดีของบริษัท จากการลงทุน มากกว่า 5 พันล้านบาท แต่ วางเป้าการลงทุนในแต่ละปีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท  กำไร มากกว่า 800 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ตัวขับเคลื่อนสำคัญ นอกจาก แพลตฟอร์มออนไลน์  Property Mall ที่มีโครงการต่างๆเสนอขาย-เช่า-ลงทุน ราว 300-400 โครงการ มูลค่ามากกว่า 2 หมื้่นล้านบาท ครอบคลุม 40 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมียอดเข้าชม และ ซื้อเพิ่มขึ้นตามลำดับ และอยู่การพัฒนาระบบ เฟส 2 ,เฟส 3 เพื่อให้ AI ทำงานได้มีประสิทธิภาพ คัดเลือกโครงการให้เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้งานแล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่าง การพัฒนา IP โปรแกรมเพื่อการลงทุน ที่จะเชื่อมกับ ธนาคาร สถาบันการเงิน และ ตลาดหลักทรัพย์ ในอนาตอีกด้วย