จับตาหุ้นกู้อสังหาฯ ครบกำหนดชำระ 9.5 หมื่นล้าน

31 พ.ค. 2566 | 19:15 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2566 | 19:15 น.

กูรูจี้รัฐ-เอกชน สะท้อนปัญหาหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ หลังพบปัญหามากขึ้น หวั่นกระทบผู้ลงทุนรายย่อย จับตากลุ่มอสังหาฯ มีหุ้นกู้จะครบกำหนด 9.5 แสนล้านบาทในปีนี้ เหตุ roll over ชี้ต้นทุนแพงขึ้น

“ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจความเห็นในวงการตลาดเงินถึงหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้พบว่า หุ้นกู้ที่มีปัญหาพุ่งขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกระแสเงินสดของบางบริษัทยังไม่กลับมาเต็มที่ และยังมีหุ้นกู้ส่วนหนึ่งที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้มาแล้วหลายรอบ ซึ่งมีหลายกรณีที่มีปัญหาเรื่อง ธรรมาภิบาล ทำให้กระทบความสามารถในการชำระคืนหนี้ในช่วงที่เหลือได้

ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับตลาดทุน ทั้งหน่วยงานกำกับและผู้ออกตราสารหรือผู้มีส่วนร่วมทุกคนต้องช่วยการให้ข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะคราวนี้เกิดปัญหาเข้ามาในผู้เล่นระดับกลาง ซึ่งแตกต่างเหตุการณ์หลายปีที่ผ่านมาที่เกิดปัญหาเฉพาะกรณีไม่ลุกลาม

จับตาหุ้นกู้อสังหาฯ ครบกำหนดชำระ 9.5 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีกลุ่ม Call Default ใน 3 บริษัท หุ้นกู้ 8 รุ่น มูลค่ารวม 10,619 ล้านบาท ได้แก่

  • ALL ผิดนัดชำระ 2 รุ่นรวมมูลค่า 1,011ล้านบาท
  • CHO เพิ่งผิดนัดชำระ 408 ล้านบาท ที่เหลือยังมีหุ้นกู้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างมาแล้ว
  • STARK ผิดนัดชำระแล้ว 5 รุ่นรวม 9,198 ล้านบาท และยังมีรายเล็กรายน้อยอีก

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หุ้นกู้เอกชนที่ออกใหม่ปีนี้มียอดรวม 3.69 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ออกหุ้นกู้มากสุดคือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์มี 321 ราย วงเงิน 7.9 แสนล้านบาทคิดเป็น 22% ของหุ้นกู้ที่ออกใหม่ทั้งหมด รองลงมาเป็นกลุ่มไฟแนนซ์ 18% และกลุ่มพลังงาน 16% ขณะที่ปีนี้จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระมูลค่า 4.92 แสนล้านบาท โดยเป็นกลุ่มอสังหาฯ 9.5 หมื่นล้านบาท

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจทีทีบี

“หุ้นกู้ที่ออกส่วนใหญ่เป็นอันดับเครดิตที่ลงทุนได้ แต่ต้องจับตาหุ้นกู้กลุ่มอสังหาฯ ที่ออกมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของหุ้นกู้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เก็งกำไร เรทติ้งต่ำหรือไม่ได้จัดอันดับเลย ซึ่งเมื่อครบกำหนดอายุ ต้นทุนที่ออกใหม่เพื่อนำมาชำระคืนจะแพงกว่าที่ผ่านมา เฉพาะปีนี้ มีหุ้นกู้กลุ่มอสังหาฯจะหมดอายุ 95,084 ล้านบาทและปีหน้าอีก 155,997 ล้านบาท”นายนริศกล่าว 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า แนวโน้ม 7 เดือนข้างหน้าของปีนี้ จะมีบริษัทเอกชนระดมทุนผ่านตราสารหนี้ (หุ้นกู้)เพิ่มเติมอีกประมาณ 6.7 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุน เพื่อชำระคืนหนี้ ไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม ซึ่งทยอยครบกำหนดราว 376,939 ล้านบาท รวมทั้งล็อกต้นทุนทางการเงินเตรียมสภาพคล่อง เพื่อขยายหรือลงทุนในกิจการตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ขณะที่ภาพรวม 5 เดือนที่ผ่านมา เอกชนได้ออกหุ้นกู้ไปแล้ว 903,425ล้านบาท กระจายตัวใน 21 ธุรกิจ ซึ่งมีวงเงินตั้งแต่ 125 ล้านบาทสูงสุดถึง 2.37 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 61,696 ล้านบาทหรือ 7.33%จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ 841,729 ล้านบาท โดยหุ้นกู้ที่ออกไปแล้ว 903,425 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ระยะยาว 474,901 ล้านบาทและหุ้นกู้ระยะสั้นอีก 428,524 ล้านบาท

 “การออกหุ้นกู้ขยายตัวต่อเนื่องจากปลายปีก่อน ด้วยทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งมีทั้งกลุ่ม Investment grade และกลุ่ม Non-rated เฉพาะกลุ่ม Non-rated ประมาณ 9,800 ล้านบาทคิดเป็น 1.1% ของหุ้นกู้ออกใหม่ 9.03 แสนล้านบาท คาดว่าทั้งปี จะมียอดออกหุ้นกู้ 1.1-1.3 ล้านล้านบาท ขณะที่นักลงทุนขายสุทธิบอนด์ไทยแล้ว 43,506 ล้านบาท จากทั้งปีที่แล้วซื้อสุทธิ 46,391 ล้านบาท”

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ตลาดหุ้นกู้มี Supply ออกมามากอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หลังโควิดกำลังซื้อนักลงทุนสถาบันทรงตัวไม่เพียงพอจะดูดซับ supply ที่เร่งตัวมาก จึงต้องกระจายการลงทุนมาในกลุ่มบุคคลธรรมดาและสหกรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกู้ออกขายให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering) มีปริมาณและสัดส่วนมากขึ้น โดยพบว่ามีสัดส่วนถึง 40% ของยอดการออกหุ้นกู้รวม

จับตาหุ้นกู้อสังหาฯ ครบกำหนดชำระ 9.5 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ อายุสั้นๆไม่เกิน 3 ปี มีส่วนต่างอัตราผลตอบแทน(credit spread)แคบลง เนื่องจากเส้นอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ของรัฐที่ไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (risk-free govt bond curve) ปรับตัวขึ้นมากจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)  

ขณะที่กลุ่มอายุ 5 ปี อันดับความน่าเชื่อถือ A- และ BBB+ กว้างขึ้นชัดเจน ราว 10-20bp สะท้อนภาวะ supply ที่กดดัน ทั้งสองกลุ่มเรทติ้ง รวมทั้งนักลงทุนอาจจะเลือกลงทุนอายุสั้นลง และแนวโน้มยังมีโอกาสที่ credit spread อาจจะค่อย ๆ กว้างขึ้น

สำหรับความเสี่ยงของหุ้นกู้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 

  • กลุ่มแรกคือ กลุ่ม High yield อันดับเครดิตไม่ค่อยดีอยู่แล้ว มีความตึงตัว เพราะข่าวหุ้นกู้มีปัญหาที่มีให้เห็นเป็นระยะๆทำให้นักลงทุนเสีย sentiment นักลงทุนอาจระมัดระวังมากขึ้น และผู้รับประกันการจัดจำหน่ายเพิ่มความระมัดระวังในการขายหุ้นกู้ มีเกณฑ์ในการเลือกชื่อผู้ออกที่เข้มงวดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงให้นักลงทุน การ rollover มีความตึงตัวมากขึ้น หรือ roll ได้ไม่ครบทั้งหมดที่ต้องการ  
  • กลุ่มสองคือ Investment Grade แม้จะเป็นผู้เล่นขนาดใหญ่ ไม่มีปัญหา credit risk มีธนาคารพาณิชย์สนับสนุน แต่การที่บริษัทออกหุ้นกู้มาอย่างต่อเนื่อง ในปริมาณมาก ขณะที่ demand ไม่ได้ขยายตัวรองรับได้ดี จนมีความตึงตัว ก็มีผลให้ credit spread กว้างขึ้นได้ สำหรับธนาคารเอง หลังสถานการณ์วิกฤติระบบธนาคารในสหรัฐ อาจจะมีความระมัดในการปล่อยสินเชื่อ การเลือกที่จะสนับสนุนผู้ออกหุ้นกู้ก็อาจจะคัดเลือกมากขึ้น

“ผู้ลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวัง อาจลงทุนในหุ้นกู้อายุสั้นลงบ้าง เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยที่คาดการณ์ไม่ได้ โดยเน้นไปที่ BBB+ หรือ A- เป็นอย่างต่ำ ส่วนบริษัทผู้ออกหุ้นกู้อาจต้องหาแหล่งเงินกู้อื่นๆเพิ่ม เผื่อสภาพตลาดที่เงินหายากขึ้นหรือต้นทุนเงินที่แพงขึ้นหรือพิจารณาลด leverage ratio ไม่เช่นนั้นตลาดจะตึงตัว” นายสงวน กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,892 วันที่ 1 - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566