เปิดไส้ในพัฒนา พื้นที่รอบสถานี ‘หัวลำโพง’

22 ธ.ค. 2564 | 10:42 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2564 | 18:30 น.

เปิดไส้ในพัฒนา ‘หัวลำโพง’ ลดบทบาท เดินรถ 23 ธ.ค. ปมรฟท.-คมนาคมรีบร้อน ขอปรับสีผังเมือง กำหนดโมเดลพัฒนาเรียบร้อย เผย ราคาที่ดิน พุ่ง ตาราวาละ1.6ล้าน ทำเลกลางเมือง ล่าสุดศักดิ์สยามสั่งเบรก ใช้หัวลำโพงต่อชะลอสถานีกลางบางซื่อให้รฟท. ศึกษา ผลกระทบ30 วัน

นโยบายหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ หรือ "หัวลำโพง" นับตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป และให้เปลี่ยนไปใช้สถานีกลางบางซื่อ ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหารถติดในเขตเมือง กลายเป็นประเด็นเผ็ดร้อนบาดลึกถึงหัวใจคนไทย ส่งผลให้ทุกภาคส่วนพร้อมใจกันต่อต้าน เพราะแนวคิดนี้จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน มีค่าครองชีพสูง ทำลายเศรษฐกิจในพื้นที่ ขณะแผนเชื่อมโยงการเดินทางสำรองยังไม่มี

 ที่สำคัญสถานีรถไฟหัวลำโพงแห่งนี้เป็นสถานีแห่งแรกของประเทศไทย อายุเก่าแก่กว่า 105 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบไว้ให้ประชาชนได้ใช้สัญจร

สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือ เบื้องหลังของการสั่งหยุดเดินรถ อาจส่อไปในทางที่จะนำที่ดินอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ใช้เพื่อการเดินทางสาธารณะ ไปตกอยู่ในมือใครคนใดคนหนึ่ง

แม้แต่ข้ออ้างตัวสถานีส่วนของโถง จะอนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายประภัสร์ จงสงวนอดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งธงว่าอาจเป็นเพียงซุ้มประตูทางเข้าห้างขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังเสียมากกว่า

เปิดไส้ในพัฒนา พื้นที่รอบสถานี ‘หัวลำโพง’

ในที่สุดเสียงค้านได้ผลเมื่อนายศักดิ์สยามสั่งการให้ หัวลำโพงยังคงทำหน้าที่ตามปกติ ชะลอใช้สถานีกลางบางซื่อศูนย์กลางคมนาคมระบบรางแห่งใหม่ แต่ในทางกลับกัน หลายฝ่าย ตั้งข้อสังเกตว่าท่าทีดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าจะล้มเลิกแนวคิดเหล่านั้นในหัวเสียทีเดียว เป็นเพียงการถอยทัพเพื่อตั้งหลักดับอุณหภูมิร้อน เสียมากกว่า

พิจารณาได้จากการมอบให้รฟท. ศึกษา ผลกระทบให้รอบด้านเป็นเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคมเป็นต้นไป จึงเกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดไม่ตัดสินใจเปิดใช้ทั้งสถานีรถไฟเก่าและสถานีใหม่ไปพร้อมกัน ใกล้ที่ไหนไปที่นั่นตามที่ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัว หน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้อธิบายไว้ ตอนหนึ่งบนเวทีหัวลำโพงที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขึ้น

 ย้อนวันวานหากจำกันได้วันที่ 15 กันยายน 2564 นายศักดิ์สยามแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีคำสั่งให้รฟท.เร่งศึกษาแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่สถานีหัวลำโพง นำเสนอในเดือนพฤศจิกายน 2564 และพร้อมสำรวจ พื้นที่ริมทางรถไฟ “หัวลำโพง- บางซื่อ” จัดทำเป็นแผนพัฒนาสร้างรายได้ เพิ่มทางเลือกเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หวังเป็นรูปธรรมก่อนปี 2568

เปิดไส้ในพัฒนา พื้นที่รอบสถานี ‘หัวลำโพง’

นายศักดิ์สยามมีข้อสั่งการเพิ่มเติมคือ

1. ให้รฟท.กำหนดรูปแบบการพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่ชัดเจนโดยเร็วรวมทั้งให้เร่งรัดแผนการพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่เดิมกำหนดไว้ในช่วงปี 2568 ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

2. ให้พิจารณานำรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ของภาคเอกชนมาประยุกต์ใช้ รวมทั้งให้เน้นการพัฒนาพื้นที่แนวดิ่ง

3. ให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีต่างๆด้วยโดยกรณีที่เป็นพื้นที่ของภาคเอกชนหรือส่วนราชการอื่นให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน

4.การให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาสถานีหัวลำโพง ให้พิจารณาเปรียบเทียบข้อสรุปถึงรูปแบบที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและรฟท. เช่น การเปรียบเทียบระหว่างการให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งแปลง หรือการแบ่งการพัฒนาเป็นแปลงย่อย เป็นต้น และมอบให้บริษัทลูกรฟท.บริษัทเอสอาร์ทีแอสเสท จำกัด (SRTA) ศึกษาพื้นที่หัวลำโพงพร้อมกับยื่นขอแก้สีผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครจากสีนํ้าเงิน (สถาบันราชการและสาธารณูปโภค) เป็นพื้นที่สีแดง (พาณิชยกรรม)

 จุดสังเกตในความรีบร้อนนำที่ดินหัวลำโพงออกหารายได้ ขณะผังเมืองรวม กรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกภาคส่วนไปแล้วเพียงแต่รอขั้นตอนประกาศใช้  แต่รฟท.เพิ่งจะขอเปลี่ยนแปลงสีผัง

รวมทั้งเหตุใดไม่นำที่ดินแปลงที่พร้อมกว่าพัฒนาหารายได้ ทั้งที่ไม่มีใครคัดค้านนั่นเป็นเพราะสถานีหัวลำโพงตั้งอยู่ใจกลางเมืองบนถนนพระราม 4 ทำเลมีศักยภาพสูงที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ให้ความสนใจเคลื่อนทัพเข้ามาปักหมุดจำนวนมาก

อีกทั้งเป็นที่ดินผืนใหญ่แปลงเดียวกลางใจเมือง 120 ไร่ ไข่แดงกลางกรุงหาที่ไหนไม่ได้อีก เมื่อลงพื้นที่สำรวจ พบว่า เมื่อก้าวออกจากโถง หรืออาคารขายตั๋วที่นั่งสำหรับผู้โดยสารจะเป็นส่วนของชานชาลาที่เต็มไปด้วยขบวนรถและพวงราง

โดยอาณาบริเวณของแปลงที่ดินหัวลำโพงจะไปจรดตึกแดงของรฟท. ซึ่งอยู่ติดสะพานกษัตริย์ศึก ตึกเก่าที่อนุรักษ์ไว้ มีการมาถ่ายทำภาพยนต์กันอย่างต่อเนื่องซึ่งสร.รฟท. ยํ้าว่าหากไม่ค้านอาจ โดนทุบทิ้งแน่ รวมถึงตึกบัญชาการใหญ่ จะเอาอนุสาวรีย์กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินไปไว้ที่ใหน นี่คืออีกสิ่งที่คนรถไฟหวงแหน

นอกจากนี้ยังมีเส้นทาง MRT สายสีนํ้าเงินเชื่อมเข้าตัวอาคารของสถานี มีจุดขึ้นลงทางด่วนตั้งอยู่บริเวณด้านข้าง สามารถวิ่งเข้าพื้นที่ได้ทันที และหากใครได้ที่ดินหัวลำโพงไปยังสามารถเปิดพื้นที่ตลอดแนวของถนนรองเมืองซื้อตึกแถวของเอกชนรวมแปลงเชื่อมโยงได้อีก

สำหรับพื้นที่โดยรอบสถานีหัวลำโพงในส่วนที่เป็นที่ดินของภาคเอกชน ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง (ประเภทภาณิชยกรรม) ซึ่งบริษัทพัฒนาได้สูงถึง 7 เท่าของแปลงที่ดิน (FAR 7:1)

ขณะราคาที่ดินต้องยอมรับว่าสูง ตารางวาละ 1.5-1.6 ล้านบาท เฉพาะมูลค่าที่ดินสถานีหัวลำโพง 7.5 หมื่นล้านบาท แนวโน้มหากพัฒนาจะวิ่งไปแตะที่ 2-3 ล้านบาทต่อตารางวา

ที่สำคัญอีกความไม่พร้อมคือสายสีแดงเชื่อมสถานีหัวลำโพงแห่งนี้ยังไม่ได้ลงทุนและเป็นไปได้ยาก หากจะลากเส้นทางฝ่าตึกสูงใหญ่ไปมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เพราะถูกล้อมด้วยโครงการของเอกชน หากทำได้ต้องขุดเป็นอุโมงค์ทางลอดลงได้ดิน ซึ่งลึกมากและไม่คุ้มทุน

อย่างไรก็ตาม นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เอสอาร์ทีแอสเสท จำกัด (SRTA) บริษัทลูกรฟท.ยืนยันก่อนมีคำสั่งให้หัวลำโพงได้ไปต่อว่า ต้องค่อยๆ บีบให้การเดินขบวนรถไฟเข้าหัวลำโพงลดลงและปิดสถานีลงในที่สุดเพราะสถานีกลางบางซื่อก่อสร้างแล้วเสร็จหากเปิดใช้ทั้งสองแห่งต้องประสบปัญหาขาดทุนเพิ่ม ซึ่งไม่คุ้มค่า

ขณะที่ที่ดินหัวลำโพงเห็นควร นำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์เพราะมูลค่าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการใช้เพื่อการเดินรถ และการรื้อยํ้าว่าจะเน้นอาคารใหม่เสียมากกว่า

นี่คืออนาคตสถานีหัวลำโพง สถานีรถไฟหลักแห่งแรกของประเทศไทย ที่เก่าแก่ที่สุด ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ น่าจะเพียงพอแก่การอนุรักษ์ไว้ใช้ในกิจการเดินรถรองรับประชาชนและเป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมืองสืบต่อไป

เปิดไส้ในพัฒนา พื้นที่รอบสถานี ‘หัวลำโพง’