สมาคมอุตสาหกรรมซีเมนต์ไทย หนุนใช้ " ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก" ลดก๊าซเรือนกระจก

02 ก.ย. 2564 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2564 | 21:42 น.

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก ชู 3 แผนงานหลักขับเคลื่อน ลดภาวะโลกร้อน ส่งเสริมหน่วยงานใช้ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ปี 2565 ช่วยลด 300,000 ตัน CO2 เทียบปลูกต้นไม้ 31 ล้านต้น

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า “TCMA เป็น ความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายของไทย ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) มีการดำเนินงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องนับแต่ก่อตั้ง TCMA เมื่อปี 2549 แต่ด้วยปัจจุบัน  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบมากขึ้น หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยตั้งเป้าหมายลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อลดภาวะโลกร้อน TCMA จึงผนึกกำลังสมาชิกตั้งเป้าขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกใน 3 แผนงาน

 

1.ส่งเสริมใช้ปูนซีเมนต์ที่ลดก๊าซเรือนกระจก “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ตั้งเป้าปี 2565 ลดได้ 300,000 ตันCO2  เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 31 ล้านต้น TCMA ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกวิจัย พัฒนา และนําเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ตาม มอก. 2594 รวมทั้งได้บูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา 

สมาคมอุตสาหกรรมซีเมนต์ไทย  หนุนใช้ \" ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก\" ลดก๊าซเรือนกระจก

ในการเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน เปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในทุกโครงการก่อสร้าง ภายใต้ ‘บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: มาตรการทดแทนปูนเม็ด’ ระหว่าง 16 หน่วยงาน โดยการสนับสนุนของ 5 กระทรวง ความร่วมมือนี้ ทุกภาคส่วนที่มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก จะนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการลดก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องตามนโยบายภาครัฐ และมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก 

2.พัฒนาเหมืองสู่ความยั่งยืน อนาคตเป็นแหล่งน้ำและจุดเรียนรู้สำหรับชุมชน
TCMA ให้ความสำคัญต่อการนำทรัพยากรแร่มาใช้อย่างคุ้มค่าตามนโยบายรัฐบาล ควบคู่กับการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ภายหลังการทำเหมืองสิ้นสุด โดยพื้นที่เหมืองที่เหมาะสม อาจพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ หรือจุดเรียนรู้สำหรับชุมชนนั้นๆ จึงส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินงาน ตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) ด้วยการทำเหมืองให้ถูกต้องและปลอดภัย ตามหลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการแร่ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ การเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดการเกิดผลกระทบ รวมทั้งการบริหารจัดการและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่ 

สมาคมอุตสาหกรรมซีเมนต์ไทย  หนุนใช้ \" ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก\" ลดก๊าซเรือนกระจก

เช่น การปลูกต้นไม้ในพื้นที่หลังการทำเหมือง เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและช่วยดูดซับ CO2 หรือบางพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ ก็จะพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ เพื่อชุมชนใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ตัวอย่างเช่น ได้มีการบริหารจัดการนำน้ำจากขุมเหมืองบ้านแม่ทาน จังหวัดลำปาง  เชื่อมต่อไปยังบ่อน้ำชุมชนใกล้เคียงให้ได้ใช้ประโยชน์กว่า  250   ครัวเรือน นับเป็นต้นแบบความร่วมมือการนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า และพัฒนาพื้นที่เพื่อชุมชนใช้ประโยชน์ในอนาคต ส่งผลให้อุตสาหกรรมและชุมชนเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

3.สร้าง Ecosystem สำหรับการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  TCMA มีนโยบายส่งเสริมสมาชิกจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดกระบวนการ หันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ Waste อย่างถูกต้อง 


ปัจจุบันอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้นำ Waste ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และการเกษตร มากกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี มาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์แบบ Co-processing นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในนำเศษคอนกรีตที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างและรื้อถอน (Demolition Waste) มาใช้ประโยชน์อีกด้วย โดยการดำเนินงานลักษณะนี้ เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องตามนโยบาย BCG ของภาครัฐ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน และเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง

 

นายชนะ กล่าวย้ำว่า “เชื่อมั่นว่า การดำเนินตาม 3 แผนงานข้างต้น และด้วยความร่วมมือสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะทำให้การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ TCMA ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ให้สนองตอบความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในการพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างพอเพียง ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในที่สุด”