เบื้องหลังความสำเร็จและความท้าทายของการอพยพคนไทยท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในซูดาน

21 มิ.ย. 2566 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2566 | 17:35 น.

เบื้องหลังภารกิจการอพยพคนไทย ความสำเร็จ ความยากลำบาก ความเสี่ยงต่อชีวิต ทรัพย์สิน และความท้าทาย ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในซูดาน

การอพยพคนไทยและครอบครัวรวม 218 คน จากประเทศซูดานถึงประเทศไทยโดยเที่ยวบินพิเศษของกองทัพอากาศเมื่อวันที่ 27 และ 29 เมษายน และ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จด้วยดีในเวลารวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของกระทรวงการต่างประเทศ กองทัพอากาศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ทุกมุมโลกกลับประเทศ อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไปถึงเบื้องหลังภารกิจการอพยพไม่ใช่เรื่องง่าย มีความยากลำบากและความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากซูดานเป็นประเทศที่ไม่มีสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ตั้งอยู่ จึงอยากแบ่งปันเรื่องราวเกร็ดการอพยพครั้งนี้ให้ทุกคนได้รับทราบ

 

เบื้องหลังความสำเร็จและความท้าทายของการอพยพคนไทยท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในซูดาน

 

หลายคนอาจไม่รู้จักประเทศซูดานและสงสัยว่า คนไทยไปทำอะไรที่นั่น ประเทศซูดานตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา มีพื้นที่ 1.9 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบ 4 เท่า มีประชากรประมาณ 49 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีกรุงคาร์ทูมเป็นเมืองหลวง คนไทยที่อยู่ในซูดานจำนวนทั้งหมด 215 คน

ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาไทยมุสลิม โดยเฉพาะนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ได้รับทุนจากรัฐบาลซูดานไปเรียนด้านศาสนศาสตร์ กฎหมายอิสลาม และภาษาอาหรับ ที่มหาวิทยาลัย International University of Africa อีกทั้งซูดานยังมีค่าครองชีพไม่สูงมาก จึงเป็นหนึ่งในจุดหมายด้านการศึกษาที่ได้รับความนิยมจากนักศึกษาไทยมุสลิม นอกจากนักศึกษาไทยแล้วยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งไปทำงานหรือแต่งงานกับชาวซูดานด้วย

 

เบื้องหลังความสำเร็จและความท้าทายของการอพยพคนไทยท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในซูดาน

 

สถานการณ์ความไม่สงบในซูดาน

ซูดานประสบปัญหาสภาพการเมืองที่ผันผวนและมีการช่วงชิงอำนาจระหว่างกองทัพซูดานกับกองกำลังติดอาวุธ Rapid Support Forces (RSF) ที่ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา และสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 459 คน และได้รับบาดเจ็บ 4,072 คน ความเป็นอยู่ของผู้ที่อยู่ในกรุงคาร์ทูมและเมืองข้างเคียงได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขาดแคลนน้ำประปาและไฟฟ้าในช่วงวิกฤติ อาหารขาดแคลน การคมนาคมถูกตัดขาด เนื่องจากการปะทะของกลุ่มกองกำลัง

ด้วยเหตุนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ซึ่งมีเขตอาณาดูแลซูดานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหารือกับนายอะห์มัด บาเชียร์ เอลเนอเฟดี กงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยที่กรุงคาร์ทูม เพื่อประเมินสถานการณ์ในการเตรียมการอพยพอย่างเร่งด่วน พร้อมกับได้แจ้งกระทรวงการต่างประเทศ โดยศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน (Rapid Response Center – RRC) ซึ่งเป็นกลไกหลักสำหรับเชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพอากาศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยเหลืออพยพคนไทยในต่างประเทศในทันที

 

เบื้องหลังความสำเร็จและความท้าทายของการอพยพคนไทยท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในซูดาน

การอพยพคนไทยออกจากซูดาน

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้เตรียมแผนอพยพในสถานการณ์ฉุกเฉินทางบกไว้ถึง 3 เส้นทาง คือ

1) กรุงคาร์ทูม – ชายแดนอียิปต์ ทางทิศเหนือระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร 2) กรุงคาร์ทูม – เอธิโอเปีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทางราว 600 กิโลเมตร และ 3) กรุงคาร์ทูม – ซูดานใต้ ทางทิศใต้ ระยะทางกว่า 1,500 กิโลเมตร และทางอากาศจากกรุงคาร์ทูมไปยังกรุงไคโรหรือประเทศข้างเคียง แต่การสู้รบที่กระจายไปทั่วประเทศ ทำให้เส้นทางคมนาคมทางทุกทางอันตรายเกินว่าจะเดินทางผ่าน อีกทั้งน่านฟ้าซูดานปิดและสนามบินเป็นจุดที่กองกำลังทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างต่อเนื่องได้ ศูนย์ RRC จึงเห็นว่า การอพยพคนไทยออกจากพื้นที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอย่างแรก จึงขอให้คนไทยหลบอยู่ในที่พักเพื่อความปลอดภัยจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และขอให้กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม กักตุนอาหารที่จำเป็นเพื่อนำไปแจกจ่ายให้ความช่วยเหลือคนไทย

สัญญาณการอพยพที่รอคอยปรากฏขึ้น เมื่อกองทัพซูดานและกองกำลังติดอาวุธ RSF ตกลงหยุดยิงเป็นเวลา 72 ชั่วโมง อีกครั้ง หลังจากการตกลงหยุดยิงครั้งก่อนล้มเหลว โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 00.00 ของวันที่ 24 เมษายน 2566 นานาประเทศจึงใช้จังหวะนี้เริ่มปฏิบัติการอพยพคนชาติของตน โดยศูนย์ RRC และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้ร่วมประเมินช่องทางการอพยพที่คาดว่าจะปลอดภัยที่สุด และได้ข้อสรุปว่า จะใช้เส้นทางเมืองพอร์ตซูดานซึ่งอยู่ทางตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างปลอดภัยและถนนมีสภาพดีพอที่จะเดินทางออกจากซูดานทางเรือไปยังเมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอยู่ใกล้กับซูดาน และท่าอากาศยานเมืองเจดดาห์มีความพร้อมในการรองรับปฏิบัติการของเครื่องบินกองทัพอากาศไทย อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ และมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ที่สามารถช่วยอำนวยความสะดวกและประสานงานในการนำคนไทยเดินทางกลับประเทศไทย

 

เบื้องหลังความสำเร็จและความท้าทายของการอพยพคนไทยท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในซูดาน

 

ความยากลำบากในการอพยพ

ตั้งแต่ก่อนการเคลื่อนย้ายคนไทยจากกรุงคาร์ทูมไปยังเมือง Port Sudan จะเริ่มขึ้นในช่วงเช้าของวันที 24 เมษายน 2566 การหารถเช่าเพื่อไปส่งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากทุกประเทศเร่งอพยพคนชาติตนและมีค่าใช้จ่ายที่สูงถึงคันละ 7-8 แสนบาทต่อคัน ความท้าทายก่อนเคลื่อนขบวนเริ่มตั้งแต่จุดรวมพลที่ร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่ชานกรุงคาร์ทูมต้องยกเลิกในวินาทีสุดท้ายเพราะมีการปะทะอย่างหนักในบริเวณดังกล่าว ทำให้คนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ชานเมืองหรือในเมืองต้องไปรวมพลที่จุดนัดหมายบริเวณ International University of Africa ในกรุงคาร์ทูม โดยมีนักศึกษาที่อาศัยอยู่นอกเมืองต้องใช้เวลานานเพื่อหลบเลี่ยงจุดที่มีการปะทะ นอกจากนี้สัญญาณอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์แทบจะใช้การไม่ได้ทั่วซูดาน และยังต้องติดต่อหาผู้คุ้มกันขบวนรถสำหรับการอพยพ รวมถึงรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้โทรศัพท์ถึงมิตรประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือ

ในการดูแลและให้ความช่วยเหลือคณะรถบัสของไทยระหว่างทางด้วย เพราะแม้ว่าจะมีการประกาศหยุดยิงกันชั่วคราว แต่ในความเป็นจริงในหลายพื้นที่ของซูดานยังคงมีการปล้นสะดมและยิงปะทะกันอยู่ อย่างไรก็ตาม คนไทยก็สามารถไปถึงจุดรวมพลที่กรุงคาร์ทูมและขึ้นรถบัสจำนวน 5 คัน ที่จัดเตรียมไว้ด้วยความช่วยเหลืออย่างดีจากกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม ถึงแม้จะเริ่มเดินทางล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดกว่า 3 ชั่วโมง จากจุดรวมพลในกรุงคาร์ทูมไปยังเมืองพอร์ตซูดานมีระยะทางราว 826 กิโลเมตร และระหว่างทางมีจุดตรวจมากกว่า 10 จุด โดยในบางจุดมีคนในเครื่องแบบซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นฝ่ายใดพกอาวุธขึ้นมาตรวจบนรถ โดยการเดินทางครั้งนี้ใช้เวลาราว 14 – 20 ชั่วโมง กว่าคนไทยทุกคนจะเดินทางถึงเมืองพอร์ตซูดาน เนื่องจากรถบัสบางคันติดที่ด่านตรวจและแวะพักรอเพื่อให้มั่นใจว่าเส้นทางปลอดภัย แต่ถือว่าคณะคนไทยและครอบครัวโชคดีที่ทุกคนถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ ไม่ถูกปล้นระหว่างทางหรือถูกลูกหลงจากการปะทะจนได้รับบาดเจ็บ

เมื่อถึงเมืองพอร์ตซูดานคณะคนไทยและครอบครัวต้องพักรอในบริเวณท่าเรือพร้อมกับชาวต่างชาติอีกจำนวนมาก เพื่อรอการอพยพไปยังเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับทางการซาอุดีอาระเบียและได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี โดยทางการซาอุดีฯ ได้ตกลงรับผู้อพยพชาวไทยและครอบครัวทั้งหมดขึ้นเรือรบ เรือข้ามฟาก หรือเครื่องบินทหารของซาอุดีฯ จากเมืองพอร์ตซูดานเพื่อทยอยข้ามไปยังเมืองเจดดาห์

ทีละกลุ่ม รวม 6 กลุ่ม ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 10 - 20 ชั่วโมง โดยทางเรือกลุ่มแรก จำนวน 78 คน เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 และกลุ่ม 2 จำนวน 135 คน (ในจำนวนนี้ เป็นคนไทย 132 คน ครอบครัวต่างชาติ 3 คน) เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566 ทั้งนี้ คนไทยกลุ่มสุดท้ายจำนวน 5 คน ได้เดินทางออกจากเมืองพอร์ตซูดานเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 และเดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ได้อย่างปลอดภัย

การอพยพคนไทยและครอบครัวกลับประเทศไทยจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ ซึ่งได้จัดเที่ยวบินพิเศษไปรับคนไทยที่เมืองเจดดาห์ จำนวนทั้งสิ้น 3 เที่ยวบิน ในวันที่ 27 และ 29 เมษายน 2566 และ 1 พฤษภาคม 2566 โดยกระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการเร่งขออนุญาต 8 ประเทศ ที่เครื่องบินของกองทัพอากาศต้องบินผ่านน่านฟ้าในเวลาอันจำกัด เพื่อให้สามารถเดินทางไปนำคนไทยกลับบ้านได้อย่างทันเวลา

 

เบื้องหลังความสำเร็จและความท้าทายของการอพยพคนไทยท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในซูดาน

 

บทสรุป

การอพยพครั้งนี้มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจปะทุขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ต้องขอบคุณรัฐบาลประเทศซาอุดีอาระเบีย และกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม ที่มีส่วนสำคัญในการอพยพให้สำเร็จไปได้ด้วยดี รวมทั้งแกนนำกลุ่มนักศึกษาไทยเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้กระทรวงฯ ประสานงาน สร้างความเข้าใจ และท้ายที่สุด คือความตั้งใจและอุตสาหะของเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร ที่อียิปต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ที่ซาอุดีอาระเบีย เจ้าหน้าที่กรมการกงสุล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศูนย์ RRC ของไทยที่บูรณาการทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพในการอพยพคนไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยกลับประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ

สุดท้ายนี้ กระทรวงการต่างประเทศขอความร่วมมือพี่น้องคนไทยที่ไปพำนักหรือทำงานในต่างแดนในการลงทะเบียนกับสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ที่มีถิ่นพำนัก เพื่อสร้างเครือข่ายติดต่อสื่อสารของชุมชนคนไทย และพร้อมเตรียมการรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้อย่างทันท่วงที ดังเช่นกรณีการอพยพในครั้งนี้