กรมส่งเสริมการเกษตร แนะจัดการสวนไม้ผลภาคตะวันออกท่ามกลางวิกฤตน้ำขาดแคลน

19 เม.ย. 2567 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2567 | 13:05 น.

ปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น และเกิดภาวะความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ยาวนานต่อเนื่อง ฝนตกน้อยลงกว่าปกติ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ส่งผลกระทบกับพื้นที่ทางการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร แนะจัดการสวนไม้ผลภาคตะวันออกท่ามกลางวิกฤตน้ำขาดแคลน

จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยแจ้งว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น และเกิดภาวะความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ยาวนานต่อเนื่อง ฝนตกน้อยลงกว่าปกติ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ส่งผลกระทบกับพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงให้ผลผลิต หากน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตก็อาจส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตได้
    
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ภาคตะวันออกนั้นเป็นพื้นที่สำคัญในการปลูกไม้ผลของประเทศ เกษตกรชาวสวนสามารถจำหน่ายผลผลิตสร้างรายได้ ทั้งภายในประเทศและเป็นสินค้าส่งออกมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี หากมีการบริหารจัดการสวนที่ดีโดยเฉพาะเรื่องน้ำ ก็จะเป็นผลดีต่อตัวของเกษตรกร และยังช่วยให้กรมส่งเสริมการเกษตรสามารถขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้สุทธิของเกษตรกรเป็น 3 เท่า ใน 4 ปี ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

 

การบริหารจัดการน้ำในสวนผลไม้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการผลิตไม้ผล เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งหากพืชอยู่ในสภาวะที่ได้รับน้ำเพียงพอ ปลูกในดินหรือวัสดุปลูกที่มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ และปลูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อพืชชนิดนั้น ๆ พืชก็จะสามารถสังเคราะห์แสง สร้างอาหาร ให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น การเตรียมการบริหารจัดการน้ำที่ดีและเหมาะสม จะลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลไม้ได้นั้น คือ ต้องทราบว่าควรให้น้ำแก่พืชเมื่อใด และให้ปริมาณน้ำเท่าใด 

ซึ่งในทางปฏิบัติ การให้น้ำจะมีปัจจัย 3 ประการที่ต้องคำนึงถึง คือ ดิน น้ำ และพืช เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญเบื้องต้นที่จะนำมากำหนดความถี่และปริมาณน้ำในการให้น้ำแต่ละครั้ง ได้แก่ 1) ดิน : ความสามารถในการอุ้มน้ำของดินในเขตรากพืช 2) น้ำ: ปริมาณของน้ำที่ต้องจัดหามาให้แก่พืช และ 3) พืช : ปริมาณน้ำที่พืชต้องการในช่วงเวลาต่าง ๆ ตลอดอายุพืช หากไม้ผลได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตมีขนาดเล็กคุณภาพต่ำ ส่งผลกระทบต่อไม้ผลทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เกษตรกรจึงต้องมีการดูแลสวนไม้ผลเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถจัดการสวนของตนเองให้ต้นไม้อยู่รอดไปให้ได้

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การจัดหาแหล่งน้ำ ปรับปรุงบ่อน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ และสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาเก็บกักไว้ สำหรับสวนผลไม้ที่อยู่ใกล้ทะเล ก็จำเป็นต้องกักน้ำจืดไว้ เพื่อป้องกันน้ำเค็มที่จะเข้ามาในสวน หมั่นตรวจสอบระบบส่งน้ำ ควบคุมอย่าให้น้ำรั่วไหล หากมีผักตบชวา จอก แหน หรือสาหร่าย อยู่ในท้องร่องสวนเป็นจำนวนมาก ควรนำขึ้นมาคลุมบริเวณโคนต้นไม้ผลเพื่อรักษาความชื้นได้ และการให้น้ำแก่ไม้ผลในช่วงแล้ง ควรคำนึงถึงการให้น้ำแบบประหยัดที่สุด คือ ให้น้ำภายในบริเวณรัศมีทรงพุ่มเท่านั้น อย่าให้น้ำมากจนไหลแฉะไปทั่วสวน 

ควรให้น้ำแบบระบบน้ำหยดหรือหัวเหวี่ยงขนาดเล็กจะช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่าการใช้สายยางรดน้ำ และให้น้ำตามความต้องการของพืชแค่ดินชุ่มชื้น หรือน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อลดการสูญเสียน้ำเปลี่ยนช่วงเวลาการให้น้ำเป็นช่วงกลางคืน เพื่อช่วยให้พืชลดการระเหยน้ำจากการถูกแดดเผา กรณีที่ไม่มีระบบน้ำหรือน้ำสำรองเก็บไว้ควรประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ นำน้ำมารดต้นไม้ผลทันที อย่างน้อย 7 – 10 วันต่อครั้ง เพื่อช่วยให้ต้นไม้ผลมีชีวิตรอดผ่านแล้งไปได้        

อย่างไรก็ตาม การใช้วัสดุคลุมดินก็มีความจำเป็นมาก เพราะจะช่วยชะลออัตราการระเหยของน้ำจากผิวดินให้ช้าลง วัสดุคลุมดินทางธรรมชาติที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่ ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นจากต้นไม้ผล ใบตองแห้ง ทางมะพร้าว กาบมะพร้าว หญ้าแห้ง เป็นต้น ซึ่งวัสดุคลุมดินเหล่านี้จะค่อย ๆ ผุผังเป็นอินทรียวัตถุ ทำให้ดินร่วนและมีการอุ้มน้ำดีขึ้น โดยทำการคลุมดินจากโคนต้นไม้ผลจนถึงแนวรัศมีทรงพุ่ม กรณีต้นไม้เล็กควรใช้วัสดุช่วยในการพรางแสง เพื่อลดความเข้มแสง หากต้นยังเล็กจะต้องพรางแสงช่วยด้วย และไม่ควรกำจัดวัชพืชเมื่อมีความแห้งแล้งมาก ๆ เพราะในระยะที่ขาดแคลนน้ำมาก ๆ การกำจัดวัชพืชหรือไถพรวนดิน จะทำให้ผิวดินแห้งเร็วมากขึ้น