ประชุม APEC SME ดัน BCG Model

06 ก.ย. 2565 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2565 | 19:29 น.

ประชุม APEC SME วันแรก ดัน BCG Model เพิ่มโอกาสและความท้าทายของ SME

สสว. ประเดิมการประชุม APEC MSME 2022 วันแรก ด้วยการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก BCG Model หวังเพิ่มโอกาสและเตรียมพร้อม MSME ไทย รับความท้าทาย และเพิ่มขีดความสามารถปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันของเศรษฐกิจโลก ย้ำ MSME เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ขณะที่ BCG Model คือตัวเร่งให้ผู้ประกอบการอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน
 

วันนี้ (5 กันยายน 2565) ที่โรงแรม ทราย ลากูน่า ภูเก็ต นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า การจัดประชุม APEC MSME 2022 ซึ่ง สสว. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในกรอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้เริ่มขึ้นวันนี้เป็นวันแรก เริ่มด้วยการจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การเร่งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจองค์รวม (BCG Model) สำหรับวิสาหกิจ MMSMEs ในภูมิภาคเอเปค ผ่านตลาดคาร์บอนเครดิต” (Accelerating Bio-Circular-Green (BCG) Adoption among APEC MMSMEs) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งสร้างความเข้าใจในโอกาสและความท้าทายของการนำ BCG ไปปรับใช้สำหรับ MSME และการร่วมแบ่งปันแนวทางและเครื่องมือนโยบายส่งเสริม MSME เพื่อใช้โอกาสจาก BCG เช่นเศรษฐกิจหมุนเวียนและตลาดสินเชื่อคาร์บอน

ประชุม APEC SME ดัน BCG Model

โดยมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในเขตเศรษฐกิจเอเปค รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ UNESCAP เช่น ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารธนา จาก สวทช. Dr. Vikram Ahuja, Giken Mobility Pte. Ltd., จากสิงคโปร์ Mr. Shabib Rizvi, Policy, Analysis and International Small and Family Business, จากออสเตรเลีย ฯลฯ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ซึ่งการประชุมนี้ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ MSME เข้าร่วมงาน โดยมีเขตเศรษฐกิจสมาชิกเข้าร่วม 11 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ไทย เม็กซิโก ชิลี มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีนฮ่องกง แคนาดา และบรูไนดารุสซาลาม มีผู้เข้าร่วมประชุมผ่านทั้งออนไลน์และออฟไลน์เกือบ 200 คน

ประชุม APEC SME ดัน BCG Model

ประชุม APEC SME ดัน BCG Model

สำหรับประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนและเป็นที่สนใจของผู้เข้าร่วมประชุม คือ ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า BCG Model หรือ การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่ควรต้องดำเนินการ จากมูลเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทำให้เกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของ GDP รวม ทำให้เริ่มมีการมองหาการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการลดการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นการมีขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิตผ่านการกำหนดราคาเมื่อธุรกิจต่าง ๆ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในปริมาณที่สูงนั้นจะช่วยให้ทั่วโลกมุ่งลดการปล่อยก๊าซ GHG และเริ่มมองว่าการปรับธุรกิจสู่แนวคิดของ BCG นั้นมีความน่าสนใจและคุ้มค่าแก่การลงทุนมากยิ่งขึ้น และหาแนวทางในการสนับสนุนธุรกิจที่มีการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ MSME ให้ความสำคัญกับการดำเนินการในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับธุรกิจสีเขียว การให้ข้อมูลความรู้กับผู้ประกอบการเพื่อให้ปรับตัวเข้าสู่ BCG การสนับสนุนให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชนในกลุ่มสินค้า BCG
“ประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาก คือ MSME มีความสำคัญกับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของทุกเขตเศรษฐกิจ ดังนั้นทำอย่างไรจะให้การพัฒนาเป็นการสร้างความเจริญ ขณะเดียวกันต้องมีความยั่งยืน และที่สำคัญคือต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่ง BCG Model เป็นแนวทางสำคัญที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ โดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การวิจัย พัฒนา การสร้างนวัตกรรมเพื่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาภายใต้ Concept BCG และยังเป็นโอกาสที่จะช่วยสร้างธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม Start up รวมถึงการให้บริษัทขนาดใหญ่ เป็นต้นแบบให้กับ MSME ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทรายใหญ่ และจะนำไปสู่ห่วงโซ่อุปทานโลกได้ในอนาคต” ผอ.สสว. กล่าว
 

ทั้งนี้ เนื่องจาก BCG Model เป็นแนวทางที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้น ผู้ประกอบการ MSME ก็ต้องเห็นความสำคัญเพราะมิฉนั้นจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือการจะขยายตลาดในพื้นที่ต่างๆ ลดลงหรือหมดไปในที่สุด เพราะ BCG Model คือโอกาสที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่เนื่องจาก MSME ส่วนใหญ่มีกำหลังหรือศักยภาพที่จะปรับตัวต่ำกว่าขนาดใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเตรียมแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนา ซึ่งข้อคิดเห็นที่ได้จากการประชุมนี้ คือ ต้องมีแนวทางการในการให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐ การสนับสนุนแนวคิดการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืน การมุ่งสร้างความตระหนักและสนับสนุนการบริโภคที่ยั่งยืน และการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่โปร่งใส ผ่านการสนับสนุนที่ครอบคลุมทั้งด้านการเงิน และด้านที่ไม่ใช่การเงิน ซึ่งต้องมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐเพื่อให้บริการอย่างไร้รอยต่อ และให้การสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อคิดเห็นที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ สสว. จะดำเนินการรวบรวม เพื่อจัดทำเป็นรายงานเอเปค และมุ่งพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับการระบุแนวปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ MSMEs ผ่านการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีต่อไป