ล้ม MOU 2544 - ขึ้นศาลโลก เดิมพัน พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ขุมทรัพย์ 20 ล้านล.

08 ก.ค. 2567 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2567 | 09:11 น.
1.4 k

เปิดใจ "ไพบูลย์ นิติตะวัน" สวมหมวกนักกฎหมาย ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย "MOU 2544" เป็นโมฆะ ชง กระทรวงต่างประเทศ ขึ้นศาลโลกชี้ขาดข้อพิพาท-อ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อน ขึ้นศาลโลก เดิมพัน ขุมทรัพย์ทางทะเล 20 ล้านล้าน

KEY

POINTS

  • เปิดใจ "ไพบูลย์ นิติตะวัน" สวมหมวกนักกฎหมาย ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย "MOU2544" เป็นโมฆะ
  • ชง กระทรวงต่างประเทศ ขึ้นศาลโลกชี้ขาดข้อพิพาท-อ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อน เดิมพัน ขุมทรัพย์ทางทะเล 20 ล้านล้าน 
  • มือกฎหมายบ้านป่ารอยต่อ เสียงหนักแน่น ไม่ต้องการล้มรัฐบาล-เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี 

20 ล้านล้านบาท คือ ตัวเลข “ขุมทรัพย์ใต้ทะเล” บนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 26,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 16 ล้านไร่ ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในอ่าวไทยจนเกิด “พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน”  

กว่า 24 ปี นับตั้งแต่ “เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส” ของทั้งสองประเทศบรรลุความเข้าใจร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ปี 2543 ที่ชะอำ ประเทศไทย และเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2544 ที่เสียมราฐ กัมพูชา

นำมาซึ่งการลงนาม “บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน” หรือ “MOU2544” เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ณ กรุงพนมเปญ 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา “MOU2544” ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในความพยายามคลี่คลายข้อขัดแย้ง-ข้อพิพาทให้ขึ้นมาอยุ่บนโต๊ะเจรจาเพื่อปักปันเขตแดน-แบ่งบันผลประโยชน์ร่วมกัน 

ทว่าด้วยการเมืองภายในของไทยและกัมพูชา ที่มีผู้เล่นสำคัญอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นตัวแปร ทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศระหองระแหง ตลอดจนความตึงเครียดของทหารตลอดรั้ว-แนวชายแดนทำให้ไม่มีบทสรุปที่น่าพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย 

ในจังหวะก้าวที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา ภายใต้ "รัฐบาลเศรษฐา" กับ "รัฐบาลฮุน มาเนต" อยู่ในช่วง "ฮานีมูนพีเรียด" กำลังรื้อฟื้นมิตรไมตรี-กระชับผลประโยชน์ร่วมกัน   

ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า "MOU2544" เป็นโมฆะ

“ฐานเศรษฐกิจ” เปิดใจ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” มือยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย “MOU2544” เป็น “โมฆะ” อะไรคือ จุดมุ่งหมาย-เป้าประสงค์สำคัญ ซึ่ง “มือกฎหมายประจำบ้านป่ารอยต่อ” ยืนยันเสียงหนักแน่นว่า “ไม่ต้องการล้มรัฐบาล”  

ทำไมจู่ๆ ถึงออกมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย “MOU2544” เป็นโมฆะ ? 

“ไม่ใช่ผมคงไม่เห็นฝ่ายกัมพูชากับไทยเคลื่อนไหวแล้วผมจะร้อง แต่เป็นเพราะมีผู้เคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้ขึ้น ทั้ง สว. ทั้งภาคประชาสังคมเต็มไปหมด” 

แม้พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคร่วมรัฐบาลนี้ด้วย ผมทำในฐานะพรรคไม่ได้ แต่ผมทำในฐานะนักกฎหมายและประชาชน ถ้าผมปล่อยให้มีแต่พูดกันและคัดค้านกันไปต่าง ๆ ไม่เกิดผลอะไร ผมก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย 

แต่ภาพจำของคุณไพบูลย์หนีไม่พ้นพรรคพลังประชารัฐ และยังเป็นมือกฎหมายของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องการล้มรัฐบาล ต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ?

คำร้องนี้ ผลของคำร้อง คือ ผู้ถูกร้องคือ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นผู้ถูกร้องที่ 1 กับกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นหน่วยราชการ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ ไปเกี่ยวกับรัฐบาลตรงไหน ถ้าไปเกี่ยวกับรัฐบาลไปร้องไม่ได้ด้วยซ้ำ 

ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย ได้ติดตาม mou2544 มานานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีพัฒนาการนำไปใช้ ตั้งแต่มีการลงนามในปี 2544 มาจนถึงปัจจุบัน มีความพยายามที่จะดำเนินการตาม mou2544 แต่ไม่สำเร็จ เพราะ mou2544 เป็นการทำขึ้นไม่เป็นไปตามรูปแบบที่ทำในการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลที่ทำกับเวียดนามและมาเลเซีย 

เวียดนามกับมาเลเซียไม่ได้ทำเป็น mou2544 แต่ทำในรูปแบบของคณะกรรมการร่วมกัน เพื่อเจรจาเรื่องเขตแดน ว่า เขตแดนทางทะเลของใคร ถึงไหน ตามกฎหมายทะเล จนได้ข้อยุติ ส่วนพื้นที่ที่เหลือ เคลียร์ไม่ได้ เพราะทับซ้อนกัน ถึงค่อยมาเจรจาพื้นที่ทับซ้อน เป็นการเจรจาหลักการปักปันเขตแดนทางทะเลเสร็จแล้ว 

กรณีของเวียดนาม หลังการเจรจาไม่มีพื้นที่ทับซ้อน แต่มาเลเซียมีพื้นที่ทับซ้อนส่วนหนึ่ง ไม่มาก ไม่กี่พันตารางกิโลเมตรที่ยังทับซ้อนอยู่ แต่เป็นการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์หลังจากแบ่งเขตแดนทางทะเลแล้ว 

“แต่การทำ mou2544 ไม่ได้ทำตามขั้นตอนนั้น แต่ใช้ขั้นตอนทำ mou2544 ขึ้นเลย เอาเขตที่อ้างสิทธิทั้งสองฝ่ายมาทับกันเลย แล้วค่อยมาเจรจาพร้อมกันไประหว่างการแบ่งเขตแดนกับการแบ่งปันผลผลิตในพื้นที่ทับซ้อน มันผิดตั้งแต่ต้น”

เวลาเจรจาแต่ละช่วงเท่าที่รับทราบมา ทางเรารับไม่ได้อยู่แล้วกับเขตที่ฝ่ายกัมพูชากำหนด เพราะยิ่งข้ามเกาะกูดมาเลย แต่ฝ่ายกัมพูชาพยายามอยากให้เจรจาเรื่องเฉพาะการแบ่งปันผลประโยชน์ก่อน เรื่องพื้นที่ทับซ้อน เรื่อการปักปันเขตแดน กัมพูชาไม่อยากเจรจา เพราะจะกลายเป็นอธิปไตยรอบเกาะกูดเป็นของไทย กัมพูชาก็จะเสียหายทางการเมือง จึงไม่เจรจา เราก็จะเจรจาแต่แบ่งปันผลประโยชน์ เราก็เจรจาไม่ได้ เพราะต้องทำพร้อมกัน และ mou2544 ก็เขียนอย่างนั้น มันก็คาอยู่อย่างนี้ 

ผมมาศึกษาจริงจังในปีนี้ มันปล่อยไว้ให้ผ่านไป 23 ปีก็ยังทำไม่ได้ ผมว่าอีก 10 ปีข้างหน้าก็ไม่ได้ เพราะถ้าฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลไหนไปเจรจา ถ้าไปยอมอ่อนข้อให้กัมพูชา ไปเจรจาเฉพาะการแบ่งปันผลผลิต ประชาชนก็บอกว่า เอาอธิปไตยของประเทศไปขายอีก ผลประโยชน์อะไรต่าง ๆ ก็จะมีเสียงคัดค้านกันมากมาย ทำไม่เสร็จอีก จะสร้างความวุ่นวายให้กับประเทศ

สิ่งสำคัญเกิดผลเสีย ข้อแรก เราก็จะเสียสิทธิในอธิปไตยทางทะเล เกาะกูด ซึ่งจากแผนที่ของเรา จากการประกาศเขตของเรา เป็นไปตามกฎหมายทะเล ทั้ง 26,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 16 ล้านไร่ เราก็ต้องไปแบ่งให้กัมพูชา ซึ่งการแบ่งเขตนั้น กัมพูชาไม่เจรจา เราต้องไปแบ่งผลประโยชน์ให้กับกัมพูชา กลายเป็นผลประโยชน์พลังงานธรรมชาติทางทะเลเป็นของไทย อยู่ในเขตไทย ตามกฎหมายทะเลเป็นของเรา แต่เราต้องไปแบ่งให้กัมพูชา เพราะกัมพูชาอ้างว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน 

“ผมว่ามันไม่ถูก ผมรับไม่ได้ ไม่ใช่การเมือง แต่เป็นเรื่องในฐานะของประชาชน ในฐานะของนักกฎหมาย ที่เราจะต้องปกป้องอธิปไตยทางทะเล ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย เรารับไม่ได้ ผมไม่ได้ตำหนิรัฐบาลไหน แต่มีมูลเหตุมาจากการทำ mou2544”

ข้อที่สอง เสียเวลา ถ้าเราไม่ยกเลิก mou2544 เพราะคุยกันแล้วก็ไม่จบ 

“ข้อแรกจบ โดยที่เราเสียประโยชน์ ซึ่งเราก็ไม่ยอม เมื่อไม่ยอมก็ต้องมาข้อที่สอง คุยกันแบบไม่ได้ข้อจบ ยืดไปอีก 10 ปี 20 ปีก็ไม่จบ เสียเวลา เสียประโยชน์ประเทศ”   

ข้อที่สาม ถ้ามันเป็นอธิปไตยของไทยทั้งหมด หรือเกือบจะทั้งหมดตาม mou2544 ตามกฎหมายทะเล ดังนั้น เราก็ควรที่จะต้องหาวิธีดำเนินการที่จะให้เอาผลประโยชน์ เอาอธิปไตยทางทะเลของเราเป็นของเราให้ชัดเจน ให้มันจบโดยเร็วที่สุด 

“ข้อที่สาม เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมต้องยื่นคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะปัญหาคือ กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ไปเซ็น mou2544 แทนที่จะไม่เซ็น ก็ใช้วิธีแบบแบ่งเขตแดนทางทะเลกับเวียดนาม กับมาเลเซียที่ทำสำเร็จแล้ว”

ก็คุยกับกัมพูชา คุยการแบ่งเขตให้จบ ทับซ้อนเท่าไหร่ค่อยมาแบ่งผลประโยชน์กัน ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีไม่รู้ ที่รู้ถ้ามีก็น้อย ก็จะเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ทำตอนนี้ไม่ได้ เพราะยังคา mou2544 อยู่

“ดังนั้น ต้องหาวิธีที่ทำให้ mou2544 ยกเลิกไป” 

รัฐบาลยังไม่เคยบอกว่าการเจรจาจะยึดตาม MOU2544 ?

รัฐบาลบอกทุกครั้ง ใช้ mou2544 มีผลมาตลอด ใช้ทุกรัฐบาล ไปคุยกับฝั่งกัมพูชา แม้กระทั่งรัฐบาลที่ผ่านมาก็ตาม ก็คุย ตามกรอบ mou2544

ฝ่ายกัมพูชาก็บอกว่า เรื่องแบ่งเขต ยังไม่แบ่ง คุยเรื่องแบ่งผลประโยชน์ก่อน มันก็จบ ไปไม่ได้ 

Mou2544 ต้องคุยพร้อมกัน ทั้งเรื่องเส้นเขตแดนและแบ่งผลประโยชน์ จะคุยอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ ต้องคุยพร้อมกัน 
ฝ่ายกัมพูชาก็ไม่เอา จะคุยอย่างเดียว  

การไปยกเลิก MOU2544 จะไปเข้าทางกัมพูชา ?

Mou2544 บอกให้ทำพร้อมกัน ไปขัดกับแนวทางที่ทำสำเร็จมาแล้วในอดีต ของเวียดนามกับมาเลเซีย คือ ให้ปักปันเขตแดนก่อน ซึ่งพื้นที่ที่เหลือของมาเลเซียไม่กี่พันตารางกิโลเมตรก็มาแบ่งผลประโยชน์กันตรงนั้น ไม่ต้องมีเอ็มโอยู

“ถ้าไม่มี mou2544 อยู่ ฝ่ายกัมพูชาก็อ้างไม่ได้ ก็ต้องแบ่ง ถ้าไม่ยอมแบ่ง ไม่ยอมรับ เราก็นำเรื่องไปฟ้องศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (ITLOS) ให้ศาลชี้เลยว่า เส้นของเรา เราต้องเป็นฝ่ายเสนอเข้าศาล” 

หน่วยงานราชการกังวลว่าไทยจะไปแพ้ศาลโลก?

“เราเป็นโรคกลัวกรณีเขาพระวิหาร แต่ลืมไปว่า กรณีเขาพระวิหาร ฝ่ายกัมพูชาเป็นโจทก์ เป็นผู้ร้องไปศาลโลกก่อน กัมพูชาร้องเพราะเขาได้เปรียบ ทำไมกรณีพื้นที่ทับซ้อน กัมพูชาไม่ร้อง เพราะเขาเสียเปรียบ กัมพูชาเสียเปรียบเขาเลยไม่ร้อง แต่เราได้เปรียบเรากลับกลัวกัมพูชา ไม่กล้าไปร้อง”

อะไรที่คิดว่า เมื่อไทยไปร้องศาลโลกแล้วเราจะได้เปรียบ?

มองในมุมกฎหมาย กฎหมายทะเล การตีเส้นแบบกัมพูชา ลากเส้นผ่านเกาะกูด ซึ่งเป็นอธิปไตยของไทย เส้นนี้ผิดกฎหมาย 100 % ถ้าเริ่มต้นจากเส้นที่ผิดกฎหมายแล้ว มันก็มีแนวโน้มจะผิดทั้งอัน 

“ส่วนเส้นของไทย เป็นเส้นที่ลากจาก ‘หมุด73’ ไปตรงเส้นระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา เป็นเส้นตรงกลาง ตามกฎหมายทะเล และเป็นไปตามประกาศของไทย ถ้าไปศาลโลกเราชนะ 100 %”

แต่ถ้าไปศาลโลกในขณะที่มี mou2544 อยู่ ถือว่าเราไปจำยอม ไปยอมรับเส้นของกัมพูชามาแล้ว คล้ายกับว่ามีการประนีประนอมกันไปแล้ว ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับไทย 

“แผนที่ mou2544 การเจรจาในส่วนล่างอีกหมื่นกว่าตารางกิโลเมตรไปบอกว่าแบ่งผลผลิตแล้ว มาแบ่งผลผลิตกัน ใครจะได้มากได้น้อยแค่นั้นเอง ตรงนี้ (พื้นที่ทับซ้อน) เท่ากับยอมรับว่าเป็นเขตของกัมพูชาไปแล้ว ยอมรับว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน”

แต่ตามประกาศของไทย เป็นเขตของไทย ไม่ใช่เขตของกัมพูชา แล้วไปยอมแบ่งผลิตให้กัมพูชา  

ถ้ากัมพูชาเอาไปศาลโลกได้ โดยที่ mou2544 ยังอยู่ กัมพูชาก็จะได้สิ่งที่ไม่ใช่ของเขา แต่เป็นสิ่งที่เป็นของไทย ส่วนไทยก็จะเสียในสิ่งที่เป็นของเราไปให้กัมพูชา เพราะ mou2544 ยังมีผลอยู่ 

“การไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เป็นวิธีการที่จะทำให้ mou2544 ซึ่งดำเนินการมาโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญให้เป็น ‘โมฆะ’ เมื่อโมฆะแล้ว โดยหลักถือว่าเป็นสนธิสัญญาที่ไม่สมบูรณ์ เป็นโมฆะตั้งแต่ต้น เหมือนไม่เคยมี mou2544”

ต่างฝ่ายต่างมีประกาศคนละฉบับ ไทยก็มีประกาศของไทย กัมพูชาก็มีประกาศของกัมพูชา มาเจรจาแบ่งเขตแดนกัน ถ้าฝ่ายกัมพูชาไม่ยอม ไทยก็ยื่นศาลโลก เป็นฝ่ายร้องว่าเส้นของไทยเป็นไปตามกฎหมายทางทะเลขอให้ศาลวินิจฉัย

การเสี่ยงขึ้นศาลโลกจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการฟ้องแล้วไทยจะชนะ?

ถ้ากัมพูชาได้เปรียบจริง กัมพูชาไปฟ้องศาลโลกแล้ว ที่ไม่ไปฟ้องเพราะว่าเสียเปรียบ 

กรณีเขาพระวิหารเป็นคนละข้อเท็จจริง แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กัมพูชาเป็นฝ่ายได้เปรียบก็เอาไปฟ้องศาลโลก ไทยก็แพ้ เมื่อเราแพ้ เช่นนั้นอย่าไปศาลโลกอีกเลย ไม่ใช่

ในฐานะนักกฎหมาย เรื่องไปศาลเป็นวิธีการสันติวิธีที่สุด ที่ไม่ต้องใช้กำลัง ขัดแย้งกัน ก็ไปให้ศาลตัดสิน

มีวิธีอื่นที่ดีกว่าการให้ศาลตัดสิน ซึ่งมีความเสี่ยง 50/50 ที่ไทยจะชนะหรือแพ้ ?

มี เจรจายอมเอาตามแบบที่กัมพูชาต้องการ เราจะยอมไหม พอเอากลับเข้ามาสภา ก็เกิดม็อบ ผมก็ต้องออกมาคัดค้าน 

ถ้าไปฟ้องแล้วศาลสั่งเรารับได้ ฝ่ายกัมพูชาก็รับได้เหมือนกัน ก็ไปสู้กันที่ศาล 

“แต่ก่อนไปศาลเราก็มองออก ผมเป็นนักกฎหมายทำไมดูไม่ออก (ฝ่ายไทยจะชนะ) ไม่ได้ว่าใครนะ เว้นสียแต่กลุ่มที่เห็นประโยชน์ว่า การไปเจรจาแบ่งผลผลิตให้กับกัมพูชาได้ประโยชน์ทางอื่น ไม่ได้มองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นอันดับแรก”

ขยายความคำว่า “ได้ประโยชน์ทางอื่น” ทางไหน?

เดี๋ยวจะไปหาว่า ผมกล่าวหา กลายเป็นเรื่องทางการเมือง ผมไม่อยากให้เป็นเรื่องทางการเมือง 

“ประเด็นนี้เป็นการพูดถึงเรื่องของการปกป้องอธิปไตยทางทะเล ปกป้องผลประโยชน์พลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทย ถ้าไม่ทำเท่ากับว่า ไปเอื้อให้มีกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์จากการเอาส่วนที่เป็นอธิปไตยทางทะเลบางส่วน หรืออาจจะส่วนใหญ่ ผลประโยชน์ทางทะเล พลังงานธรรมชาติบางส่วนหรือส่วนใหญ่ที่เป็นของไทยไปให้กัมพูชา”

ประเด็นนี้จะถึงขั้นทำให้รัฐบาลล้มได้หรือไม่ ?

“ผมไม่ต้องการจะไปล้มรัฐบาล ไม่ต้องการไปให้เกิดความขัดแย้งอีก ไม่เกิดประโยชน์กับใครทั้งสิ้น คนที่เสียประโยชน์คือประเทศไทย”

หนึ่ง ต้องรักษาอธิปไตยทางทะเลของเรา ที่เป็นของเราให้ได้มากที่สุด หรือทั้งหมด 

สอง ต้องรักษาผลประโยชน์พลังงานธรรมชาติให้ได้มากที่สุด หรือทั้งหมด

สาม ต้องทำให้วิธีการนั้น เป็นวิธีการที่ได้ข้อยุติโดยเร็ว ไม่ยืดเยื้อ 
ถ้าอยู่ดี ๆ ฝ่ายรัฐบาลไทยไปบอกเลิกก็ไม่ถูก แม้เลิกได้ก็ตาม แต่เวลาถึงศาล เราเป็นฝ่ายเลิกสนธิสัญญากับกัมพูชา 

จึงเป็นที่มา ถ้าทำตามแผนขึ้นตอนที่ผมดำเนินการ คือ ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศไทย 

เอ็มโอยูตอนปี 2544 รัฐธรรมนูญปี 40 เขียนไว้ ว่า เป็นสนธิสัญญาต้องเอาเข้าสภา มี รัฐธรรมนูญปี 50 และรัฐธรรมนูญปี 60 ก็เขียนเช่นเดียวกัน ข้อตกลงระหว่างประเทศต้องเอาเข้าสภา 

“แต่ปรากฏไม่เอาเข้าสภา เพราะสมัยนั้นเข้าใจว่า ไม่ใช่สนธิสัญญา แต่เนื้อหาจริง ๆ เป็นสนธิสัญญา เพราะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญต้องเอาเข้าสภา และมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 3 คำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานที่ชี้ว่า mou2544 ต้องผ่านสภา”

  • หนึ่ง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 
  • สอง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 33/2543
  • สาม คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 

ดังนั้น หลักการของการไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ คือ กรมสนธิสัญญากับกระทรวงการต่างประเทศใช้ mou44 ซึ่งเป็นสนธิสัญญา แต่ไม่ผ่านสาภา เป็นเครื่องมือในการเจรจาแบ่งอธิปไตยและแบ่งผลประโยชน์ แบ่งผลผลิต แบ่งทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้กับกัมพูชา “แต่ mou2544 ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านสภา สถานะก็ต้องเป็นโมฆะ”

นอกจากนี้ยังเป็น “ความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา” หรือไม่เป็นไปตามสนธิสัญญาของ “อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969” และ “อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญาระหว่างรัฐและองค์การระหว่างประเทศ หรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศ ค.ศ.1986” เมื่อไม่สมบูรณ์ก็ “ไม่ผูกพันทั้งสองประเทศอีกต่อไป” 

หลังจากนั้น ถ้ากัมพูชาเจรจาก็ดี แต่ถ้าไม่ แสดงว่ามีข้อพิพาทเรื่องอธิปไตยทางทะเลเกิดขึ้นแล้ว เราก็ไปฟ้องศาลระหว่างประเทศทางทะเล หรือนำไปสู่ศาลโลกให้ตัดสิน ใช้เวลา 2-3 ปีจบ 

ถ้าศาลตัดสินว่าเป็นของไทย ดำเนินการสำรวจเอาทรัพยากรได้ทันที ปักเขตเลย หรือ เป็นไปตามที่ศาลพิพากษา แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ไทยก็จะได้ประโยชน์มากที่สุด มากกว่า mou2544 หลายเท่า ไทยจะไม่เสีย และไม่มีความขัดแย้งในประเทศ เพราะถ้าศาลตัดสินก็ต้องยอมรับ 

การนำขึ้นศาลโลกจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาแย่ลง ? 

“ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมันจะดีหรือมันจะเลวมันไม่ใช่แลกโดยการที่เราเอาอะไรไปให้เขาหมด เอาอธิปไตยทางทะเล เอาผลประโยชน์ทางทะเลไปให้เขา เพื่อแลกกับการให้เขาบอกว่า เราดี ผมไม่เอา การไปฟ้องศาลไม่ได้ทำให้เสียสัมพันธ์ไมตรี”

ประเทศไทยเสียเวลาอีกไม่ได้แล้ว ต้องเดินหน้าที่จะได้อธิปไตยทางทะเลให้ชัดเจน และผลประโยชน์ทางพลังงานธรรมชาติในทะเลให้เร็วที่สุด ซึ่งวิธีที่เร็วที่สุด คือ การยกเลิก mou2544

ขั้นแรก ต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาแล้วรับคำร้องหรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเป็นไปตามคำร้อง 3 ข้อ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ “ผู้พันทุกองค์กร” ถ้าเจรจากับกัมพูชาไม่ได้ก็สามารถคำวินิจฉัยไปฟ้องต่อศาลโลกได้ 

  • ข้อแรก พิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองในการนำ mou44 ที่ทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตแดนอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา เป็นการกระทำละเมิดสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 25 และมาตรา 42 (2) ผู้ร้องถูกผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการ “ละเมิดสิทธิ” ของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญโดยตรงและทำให้ผู้ร้องอาจได้รับความเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการถูกผู้ถูกร้องทั้งสองละเมิดสิทธิ และการถูกละเมิดสิทธิของผู้ร้องนั้นยังคงมีอยู่
  • ข้อที่สอง พิจารณาวินิจฉัยว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน พ.ศ.2544 หรือ mou2544 “เป็นหนังสือสัญญา” ที่กระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นบทบัญญัติใด หรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก ตามหลักการ เรื่อง “ความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา” ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 
  • ข้อที่สาม มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง โดยให้เลิกการนำ mou2544 ที่ทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา 

“คำถาม กลัวอะไรกันนักหนา ถ้ากลัวเพราะเหตุการณ์คดีเขาพระวิหาร เป็นคนละคดี ถ้าเราไปฝังใจกลัว เหยียบเชือกกล้วยก็ยังกลัวเป็นงูไปแล้ว ใช้ไม่ได้ คนอื่นอาจจะใช้เหตุนี้มาอ้างเพื่ออำพรางนำไปสู่การได้ผลประโยชน์จากการแบ่งปันผลผลิตกับกัมพูชาตาม mou2544”

ถ้าไปรับฟัง นอกจากกลุ่มที่มีผลประโยชน์จากการใช้ mou2544 เพื่อหวังจะแบ่งปันผลประโยชน์กับกัมพูชา ทั้งประเทศ ทุกฝ่าย รู้ปัญหาว่า mou2544 ต้องยกเลิก มีกลุ่มคนเพียงนิดเดียวเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์ ที่พยายามหาวิธีหรือหาข้ออ้าง หรือหาสารพัดวิธีที่จะให้ mou2544 คงไว้ เพราะจะเอื้อประโยชน์กับกลุ่มบุคคลนั้นมากกว่า 

คำร้องนี้เป็นคำร้องที่ผมตั้งใจมาก ผมมีความภูมิใจ เพราะเป็นคำร้องที่ชัดเจนว่า ผมกำลังทำหน้าที่ ประชาชนคนไทยอย่างแท้จริงในการปกป้องอธิปไตยทางทะเลและปกป้องผลประโยชน์พลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทย 

“ถ้าการทำอะไรก็ตามที่ทำให้อธิปไตยทางทะเลของไทยสุ่มเสี่ยงที่จะต้องเสีย หรือเสียไป หรือผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลของไทยต้องสูญเสียไป ไม่ว่าใครที่คิดจะทำก็ตาม ไม่ใช่โดนคัดค้านเฉพาะผม แต่จะโดนคัดค้านด้วยคนทั้งแผ่นดิน”