“ก้าวไกล”สุดมั่นใจรอดยุบพรรค ศาลชี้ชะตาก่อน ก.ย.

03 ก.ค. 2567 | 13:41 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2567 | 13:54 น.

ศาลรัฐธรรมนูญเปิดไทม์ไลน์ตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล และ ถอดถอนนายกฯ ก่อน ก.ย.นี้ “พิธา”ฉะกกต.สองมาตรฐาน ส่งก้าวไกลขึ้นทางด่วน “ปกรณ์วุฒิ” ชี้ข้อต่อสู้มีน้ำหนัก มั่นใจรอดยุบพรรค : รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4006

วันที่ 3 ก.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบ “พรรคก้าวไกล” 

โดย กกต. ยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) 

 

ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2569 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และ ห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่ง กก.บห. และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็น กก.บห. หรือ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปี 

ก่อนหน้านั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้คู่กรณี คือ กกต. และพรรคก้าวไกล เข้าตรวจพยานหลักฐานในวันอังคารที่ 9 ก.ค. 2567

ล่าสุด ผลการประชุม ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีให้รอฟังผลการตรวจพยานหลักฐานของคู่กรณีในวันอังคารที่ 9 ก.ค. 2567 และนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันพุธที่ 17 ก.ค. เวลา 9.30 น.

ก่อนก.ย.ศาลตัดสิน 2 คดีดัง

ขณะที่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาระบุถึงไทม์ไลน์การตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล และกรณี 40 สว. ยื่นคำร้องขอให้ถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ว่า วันที่ 3 ก.ค.นี้ ศาลฯ จะพิจารณา ส่วนจะมีการไต่สวนหรือไม่ ขอให้มีการคุยกันในองค์คณะก่อน ถึงตนจะเป็นประธานก็ยังตอบไม่ได้ ดังนั้นขอให้รอฟังผลการประชุม 

“ทั้ง 2 คดีน่าจะเสร็จก่อนเดือน ก.ย.นี้แน่นอน แต่เรื่องไหนจะเสร็จก่อนผมไม่ทราบ ทั้งนี้ในคดีของพรรคก้าวไกล เป็นเพียงแค่การขอเอกสารหลักฐานจากคู่กรณีเท่านั้น” 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความกดกัน หรือกังวลอะไรหรือไม่ นายนครินทร์ กล่าวว่า การทำงานเรา มีการกดดันตัวเอง สังคมก็กดดันเรา เป็นที่เข้าใจได้ เพราะเป็นคดีสำคัญ อย่างไรก็ตาม เราต้องมีความเที่ยงธรรม ดูให้พอเหมาะพอควร ให้เขาชี้แจงข้อสงสัย แล้วไปประชุมวินิจฉัยกันอีกครั้ง  

“การตัดสินใจของศาลเป็นการตัดสินใจโดยองค์คณะ ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งองค์คณะก็มีความเห็นเป็นอิสระ ส่วนผลก็จะแสดงออกมาอย่างชัดเจนในใบแถลงข่าว ใครเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย ตัดสินใจอย่างไร มีการเปิดเผยหมด”

“พิธา”ฉะกกต.สองมาตรฐาน 

ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แถลงข่าวเมื่อ 30 มิ.ย. 2567 เน้นย้ำถึงกระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้กระบวนการยุบพรรค มี “สองมาตรฐาน” เพราะ กกต. อ้างว่าในกรณีของพรรคก้าวไกล ใช้แค่มาตรา 92 (พ.ร.ป.พรรคการเมือง) ก็สามารถยื่นศาลฯ พิจารณายุบพรรคได้ เพราะ “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” 

ทั้งที่มาตรา 93 เขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องต่อเนื่องจากมาตรา 92 ถ้าตีความอย่างเคร่งครัด คือ ไม่สามารถใช้แยกกรณีกันได้ ถ้าใช้แยกกรณีกันเมื่อใดหมายความว่ามีสองมาตรฐาน ในการยื่นยุบพรรคทันที บางพรรคที่อยากให้เร็วก็ใช้เฉพาะมาตรา 92 แต่พรรคใดที่อยากให้ช้าหน่อยก็ใช้มาตรา 92 ประกอบกับ 93 

“ถ้าปล่อยให้ใช้แยกกัน ย่อมหมายความว่า จะเป็นการส่งพรรคก้าวไกลขึ้นทางด่วน แต่พรรคอื่นไปทางธรรมดา เป็นสองมาตรฐานที่ต้องตั้งคำถามว่า กกต. สามารถใช้ดุลยพินิจเช่นนี้ โดยไม่ต้องมีการถ่วงดุลและมีส่วนร่วมได้ด้วยหรือ” 

นายพิธา ย้ำว่า เมื่อ มาตรา 93 ระบุว่า กกต. ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด เมื่อเดือน ก.พ. 2566 กกต.จึงออกระเบียบเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 92 และ 93 ขึ้น  

โดยสรุปได้ว่า ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องมีโอกาสรับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งด้วยหลักฐานในชั้น กกต. ซึ่งระเบียบดังกล่าวทำให้คดียุบพรรคก้าวไกล กับคดี ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่เกิดขึ้นก่อนการออกระเบียบดังกล่าวไม่เหมือนกัน 

เรื่องนี้ถูกตอกย้ำโดยเอกสารคำอธิบายกระบวนการที่ กกต. จัดทำขึ้นมาเอง เมื่อเดือน พ.ย. 2566 ที่ระบุว่า ในกระบวนการยื่นคำร้องยุบพรรค ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้รับทราบ และมีโอกาสโต้แย้งพยานหลักฐานในชั้น กกต. ก่อนส่งศาลฯ  ไม่ได้มีทางด่วน และทางธรรมดา ทุกอย่างต้องลงมาในกระบวนการเดียวกันทั้งหมด ไม่มีข้อใดที่ระบุว่าเพียง “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” ก็สามารถส่งศาลฯ ได้ โดยไม่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องโต้แย้งในชั้น กกต. 

“พิธา”เปิด 2 คำถามศาลรธน. 

นายพิธา ชี้ว่า การทำคำร้องยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ กกต. มีวัตถุคดีชิ้นเดียว คือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ซึ่งพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้ ด้วยเหตุว่า เป็นคนละข้อหากัน เพราะคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นข้อกล่าวหาตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ส่วนคดีปัจจุบันเป็นข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 และ 93  

นอกจากคนละข้อหากันแล้ว ความหนักของโทษก็ต่างกัน คือสั่งให้เลิกการกระทำ กับ สั่งให้ยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค  

การที่ กกต. ออกมาแถลงว่าคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่า และเป็นวัตถุคดีเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ส่งศาลฯ  โดยไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกล ได้โต้แย้ง จึงเป็นวัตถุคดีที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ 

นายพิธา ยังกล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของคดียุบพรรคก้าวไกล ว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2567 ศาลฯ มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล ทำบันทึกถ้อยคำภายใน 7 วัน เพื่อตอบ 2 คำถามสำคัญสำหรับใช้ในการนัดพิจารณาครั้งถัดไป คือ วันที่ 3 ก.ค. โดย 2 คำถามที่พรรคก้าวไกลได้รับมาคือ  

1. พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งต่อ กกต. ในประเด็นที่พรรคไม่มีโอกาสชี้แจงในชั้นพิจารณาของ กกต. หรือไม่

และ 2. การกระทำตามข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 อาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่  

ยกเคสปชป.เทียบเคยตีตก

โดยคำถามข้อที่ 1 คำตอบคือ ในเมื่อพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งในชั้น กกต. จะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคก้าวไกลจะเรียกร้อง กกต. ให้ทำตามกระบวนการ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดหน้าที่ให้พรรคต้องโต้แย้งในกรณีที่ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการ

“เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่มีความคล้ายคลึงกัน คือ คดียุบพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่ 15/2553 ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยยกคำร้อง เพราะ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการมาแล้ว ด้วยเหตุว่า นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาฯ กกต.) ไม่ได้ทำความเห็นส่งไปยัง กกต. ซึ่งเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค ที่น้อยกว่ากระบวนการยุบพรรคก้าวไกลวันนี้ด้วยซ้ำ แต่ศาลก็ยกคำร้อง”

นายพิธา ระบุด้วยว่า ความผิดเพียงเล็กน้อย ศาลยังยกคำร้อง ดังนั้นในกรณีของพรรคก้าวไกล ที่ กกต.ข้ามขั้นตอน ปิดโอกาสในการชี้แจงซึ่งเป็นความผิดพลาดที่มากกว่า ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้นว่า ควรยกคำร้อง 

ส่วนในคำถามที่ 2 พรรคก้าวไกลตอบไปว่า พรรคไม่สามารถตอบต่อศาลในชั้นนี้ได้ เพราะข้อกล่าวหาคำว่า “การกระทำเป็นการล้มล้างและอาจเป็นปฏิปักษ์” เป็นคนละข้อกล่าวหากับคดี 3/2567 ที่กล่าวหาว่า “ใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ” เพียงอย่างเดียว

พรรคก้าวไกลยืนยันว่า การกระทำของพรรคก้าวไกล ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ได้ แต่ในเมื่อเป็นคนละข้อหา และเป็นประเด็นใหม่ ก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ในชั้น กกต. ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน  

“ถ้าเกิดมันมีสองมาตรฐานแบบนี้ได้ ถ้า กกต. อยากยุบพรรคไหนเป็นพิเศษ ก็ส่งขึ้นทางด่วน ใช้มาตรา 92 อย่างเดียว พรรคไหนไม่อยากยุบเร็ว อยากประวิงเวลาให้ก็ส่งไปทางธรรมดา ใช้มาตรา 93 เข้ามาช่วย คุณเลือกใช้แบบนี้ไม่ได้ มันทำให้เกิดสองมาตรฐานในประเทศไทย” นายพิธา ระบุ 

มั่นใจก้าวไกลรอดยุบพรรค 

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล และประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงคดียุบพรรคก้าวไกล ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินก่อนเดือน ก.ย.นี้ ว่า คิดว่าศาลจะไม่ยุบ เพราะไม่มีอะไร 

“เรามั่นใจในข้อโต้แย้งของเรา ต่อข้อกล่าวหาของ กกต. ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคิดว่าหลายคนคงเห็นว่า ท่าทีของฝั่งผู้กล่าวหาดูจะเกรงๆ ต่อข้อโต้แย้งของเราพอสมควร คือ มีน้ำหนัก และมีโอกาสมาก ที่พรรคก้าวไกลจะมีโอกาสรอดสูง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้นี้ระบุ