สื่อนอกสะท้อนภาพขวากหนามการเมือง “พิธา-ก้าวไกล” ไม่มีที่สิ้นสุด

25 ม.ค. 2567 | 09:03 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2567 | 09:46 น.

สื่อต่างประเทศยังคงเกาะติดผลวินิจฉัยคดีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้นไอทีวี ว่าไม่ได้ละเมิดกฎหมายการเลือกตั้ง จึงยังสามารถดำรงสมาชิกภาพสส.ในสภา โดยสะท้อนว่า แม้เป็นด่านแรกที่รอด แต่ด่านอุปสรรคที่สองในสัปดาห์หน้า อาจไม่ง่าย   

 

สื่อต่างประเทศ หลายสำนักต่างเกาะติดกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเมื่อวันพุธ (24 ม.ค.) ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้า พรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ไม่ได้ฝ่าฝืนกฎการเลือกตั้งว่าด้วยการถือหุ้นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อระหว่างที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ คำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้นักการเมืองหนุ่มที่ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาของไทย  สามารถรักษาสมาชิกภาพสส.และกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสภาได้อีกครั้ง

บีบีซี สื่อใหญ่จากอังกฤษรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 ว่า พิธาเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีในวันสมัครรับเลือกตั้งก็จริง แต่ “ไม่พ้นสมาชิกภาพ สส.”  เนื่องจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ โดยศาลเห็นว่า ไอทีวีไม่มีคลื่นความถี่ ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ และยังไม่มีแผนจะกลับมาทำสื่อ

บีบีซีระบุด้วยว่า ก่อนฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นายพิธากล่าวว่า มีความมั่นใจในความบริสุทธิ์ และไม่มีความกังวลใจใดๆ แต่เมื่อสื่อถามว่าจะกลับไปเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลเหมือนเดิมหรือไม่ นายพิธาตอบว่า ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ เพราะคณะกรรมการบริหารพรรคมีอายุงาน 4 ปี แต่ย้ำว่า ตนเองนั้น ยังมีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลอยู่ และในสัปดาห์หน้าวันที่ 31 ม.ค. ก็จะเดินทางมารับฟังคำพิพากษาคดีล้มล้างการปกครองด้วย

สื่อนอกสะท้อนขวากหนามการเมือง “พิธา-ก้าวไกล” นั้น ยังมีอุปสรรคด่านใหญ่รออยู่ในสัปดาห์หน้า

เกี่ยวกับคดีดังกล่าว ดอยเชอ เวลเลอ (Deutsche Welle) สื่อใหญ่ของเยอรมนีรายงานว่า นายพิธา วัย 43 ปี ที่นำพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา แต่ถูกสกัดในรัฐสภาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแม้พรรคจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด ถึงจะรอดจากคดีถือหุ้นไอทีวีและได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ได้ละเมิดกฎหมายการเลือกตั้ง แต่ทั้งตัวเขาและพรรคก้าวไกลเอง ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในการถูกแบนทางการเมือง

โดยจะต้องติดตามต่อในวันที่ 31 ม.ค. ว่าอนาคตของพรรคก้าวไกลจะเป็นอย่างไร เพราะทางพรรคถูกฟ้องในประเด็นเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคก้าวไกลก็มีความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรค

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลของนายพิธายังยืนยันว่าคดีดังกล่าวมีแรงจูงใจทางการเมืองโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ต้องการปิดตายเส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายพิธา หลังจากพรรคก้าวไกลกวาดที่นั่งในสภาได้มากที่สุด ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วจากการชูนโยบายสลายการผูกขาดในภาคธุรกิจและสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากกว่าที่เป็นอยู่

ด้าน สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานสะท้อนความเห็นจากภัณฑิล น่วมเจิม สส.พรรคก้าวไกล ที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ถ้าหากพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรคในสัปดาห์หน้า ก็จะมีพรรคอีกพรรคเกิดขึ้นมาแทน

“คุณอาจจะฆ่าคนหนึ่งได้ แต่ไม่อาจทำลายอุดมการณ์ได้ ผู้คนต่างสูญเสียความศรัทธาในระบบกฎหมายของเรามาครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้น หากพวกเขาต้องการขุดหลุมฝังตัวเองก็เชิญ” สส.ภัณฑิลกล่าว

พิธายัน ยังมีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลอยู่

นักวิเคราะห์มองว่าพรรคก้าวไกลที่เรียกร้องการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยถือเป็นความท้าทายที่สุดสำหรับกลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยก่อนหน้านี้ พรรคอนาคตใหม่ถูกสั่งยุบพรรครวมทั้งตัดสิทธิ์การเมืองของบรรดาผู้ก่อตั้งพรรค ซึ่งกลายเป็นการปูทางให้นายพิธาก้าวขึ้นมาเป็นดาวการเมืองดวงใหม่ของไทย

อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 นายพิธาที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นนายกฯ คนใหม่ของไทย ก็ถูกสกัดเส้นทางสู่ดวงดาวในทุกรูปแบบ โดยนายพิธาไม่เพียงถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งระงับบทบาทหน้าที่ สส.ในสภาเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาจากกรณีถือหุ้นไอทีวี แต่เขายังถูกวุฒิสมาชิกที่มาจากการคัดสรรของกลุ่มอนุรักษ์นิยมโหวตค้านไม่ให้ขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการเสนอชื่อตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

สำนักข่าวอัลจาซีรา ระบุว่า หลังรอดคดีถือหุ้นสื่อ นายพิธาตั้งใจจะกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสภาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่หนทางไม่ได้ง่ายเพราะสัปดาห์หน้าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคดีการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนปัจจุบัน ยอมรับว่า หากผลออกมาในเชิงลบต่อพรรค ก็เป็นไปได้ว่าจะมีความพยายามเร่งกระบวนการยุบพรรคก้าวไกล ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนพรรคก้าวไกลกล่าวกับอัลจาซีราว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเกมการเมืองแบบสกปรกที่ถูกนำมาใช้เนิ่นนานแล้วโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการสกัดกั้นหรือกำจัดคู่แข่งทางการเมือง และก็มักจะใช้ศาลหรือหน่วยงานอิสระภาครัฐเช่นคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือเพื่อการนี้

ด้านปีเตอร์ มัมฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียและอาเซียนจากบริษัทยูเรเชีย กรุ๊ป (Eurasia Group) ให้ความเห็นกับ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่า “นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในอีกหลายคดีสำหรับพรรคก้าวไกล” และว่า ทั้งนายพิธาและพรรคก้าวไกลก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า พวกเขารอดพ้นจากวิกฤตเหล่านี้แล้วหรือยัง