คืบหน้า!ไทยพร้อม ยิงดาวเทียมสำรวจโลกปีนี้

26 ม.ค. 2566 | 10:07 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2566 | 10:42 น.

กิจการอวกาศไทย พร้อมยิงดาวเทียมสำรวจโลกมาตรฐานระดับ industrial grade ดวงแรกของไทยปีนี้ แจงเป็นอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตของประเทศ

 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 สู่อวกาศ ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจดวงแรกของประเทศไทยในระดับ Industrial Grade จากผลงานของ 20 วิศวกรดาวเทียมไทยที่ได้พัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงระดับโลกด้านเทคโนโลยีอวกาศ

โดยทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) คาดว่านำส่งดาวเทียมในปี 2566 นี้

ดาวเทียมTHEOS-2

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า การดำเนินงานของดาวเทียมTHEOS-2 แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ

1.ดาวเทียมหลัก (THEOS-2) 1 ดวง และดาวเทียมเล็ก (THEOS-2A) 1 ดวง แล้วเสร็จเรียบร้อย โดยดาวเทียมหลัก (THEOS-2) หรือ Main satellite ขนาด 425 กิโลกรัม เป็นดาวเทียมที่สามารถบันทึกภาพรายละเอียดสูง 50 เซนติเมตร เป็นดาวเทียมปฏิบัติการ เพื่อการใช้งานด้านการติดตามพื้นที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานด้านความมั่นคง และการบริหารจัดการเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ในภาวะวิกฤต

ส่วนของดาวเทียมเล็ก (THEOS-2A) ขนาด 100 กิโลกรัม เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกที่มีมาตรฐานในระดับ Industrial grade ที่ออกแบบและพัฒนาโดยทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยกว่า 20 คน การพัฒนาดาวเทียม โดยคาดว่าดาวเทียม ทั้ง 2 ดวง จะขึ้นสู่วงโคจรในปี 2566

คืบหน้า!ไทยพร้อม ยิงดาวเทียมสำรวจโลกปีนี้

2.ศูนย์ทดสอบและประกอบดาวเทียมแห่งชาติ (National Assembly Integration and Test: AIT) ตั้งอยู่ ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park - SKP) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

เป็นศูนย์ที่มีอุปกรณ์เครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ สร้าง ประกอบ และทดสอบดาวเทียม ตั้งแต่ Cubesat จนถึง Small Sat ในประเทศไทยและใช้ในการทดสอบดาวเทียม THEOS-2A ก่อนนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร

3.การพัฒนาแอปพลิเคชั่นภูมิสารสนเทศ เพื่อการใช้งานภูมิสารสนเทศขั้นสูงประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบาย ให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการผสมผสานของโซลูชั่น (Integrated Solutions) ใน 6 ด้านตามภารกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่

1) ด้านเกษตรและความมั่งคงทางอาหาร 2) ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม 3) ด้านการจัดการภัยพิบัติ 4) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ

5) ด้านการวางแผนพัฒนาเขตเมือง และ 6) ด้านความมั่นคง ที่จะสามารถนำไปร่วมในการขับเคลื่อนและสร้างนโยบายในระดับชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ (Space Industry) เป็น 1 ใน 10 New S-Curve หรืออุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตของประเทศไทย ที่รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการกระจายรายได้ และสร้างความมั่นคงทางสังคม

ทั้งนี้ นอกจากการขับเคลื่อนโครงการดาวเทียม THEOS-2 แล้ว รัฐบาลยังได้มีการดำเนินงานในภารกิจสำคัญอื่น อาทิ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศและดำเนินกิจกรรมอวกาศระหว่างประเทศ และการส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในพื้นที่อีอีซี เป็นต้น