"สุดารัตน์"ฝากรัฐพิจารณา 3 ประเด็นสำคัญ ไทยเจ้าภาพประชุมเอเปค

07 พ.ย. 2565 | 11:35 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2565 | 18:52 น.

"สุดารัตน์" โพสต์ฝากรัฐพิจารณา 3 ประเด็นสำคัญ ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค 2022 แนะไทยควรวางตำแหน่งประเทศบนภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่ให้ดี พร้อมแสดง “จุดแข็ง” ของประเทศให้ชัด

วันที่ 7 พ.ย.2565 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมระดับโลกเกิดขึ้นในอาเซียนของเรา 3 การประชุมคือวันที่ 12-13 พฤศจิกายน จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ วันที่ 15-16 พฤศจิกายน จะมีการประชุม G20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย

 

และปิดท้ายด้วยการประชุม APEC 2022 ที่กรุงเทพมหานคร ช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายน การประชุมระดับโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอาเซียนทั้ง 3 ครั้ง 

 

 

  คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย

 

คุณหญิงสุดารัตน์  กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ติดต่อกันเช่นนี้ ดิฉันคิดว่าเป็นโอกาสดียิ่งของประเทศไทย และประชาคมอาเซียนจะได้แสดงศักยภาพของพวกเราให้โลกได้รับรู้ภาวะเศรษฐกิจและสังคมโลกหลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

ส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ห่วงโซ่อุปทานเกิดปัญหา ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะงักงันอย่างที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ และแน่นอนว่าประเทศไทยของเราและอาเซียนก็ย่อมจะหนีไม่พ้นผลกระทบดังกล่าวด้วยเช่นกัน  

 

เมื่อเราดูตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุด 5 อันดับในอาเซียนด้วยกันคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และประเทศไทย รวมถึงดาวรุ่งอย่างเวียดนาม ก็จะพบว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ต่ำที่สุด ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ มาตั้งแต่ก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด-19 สงครามการค้าและสงครามยูเครนเสียอีก

 

 ซึ่งนั่นสะท้อนถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่ลดต่ำลงนั่นเอง ซึ่งการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022 ของประเทศไทยนั้นเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาสำคัญเหล่านี้ 

 

การประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงพนมเปญนั้น นอกจากประเทศสมาชิกทั้งสิบประเทศที่จะเข้าร่วมประชุม และประเทศคู่เจรจาสำคัญๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมแล้ว ก็จะยังมีการประชุม US-ASEAN summit และ East Asia Summit ซึ่งจะมีผู้นำจากสหรัฐฯและรัสเซีย เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งปีนี้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ตอบรับที่จะมาเข้าร่วมประชุมที่กรุงพนมเปญ

 

ขณะที่ยังไม่มีการยืนยันว่าประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน จะเข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่ หากผู้นำทั้งสามประเทศคือ จีน สหรัฐฯและรัสเซียมาประชุมกันพร้อมหน้า ก็คงจะเป็นเรื่องที่โลกจะต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลานั้น

 

หลังจากการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว ผู้นำของประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ 20 ประเทศของโลก (G20) ก็จะไปร่วมประชุมกันที่บาหลี ซึ่งในปีนี้ผู้นำทั้งทางตะวันตกเช่นสหรัฐฯ  เยอรมนี อังกฤษ และยุโรป น่าจะมากันครบ

 

ส่วนทางตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ก็คงจะมาร่วมกันครบเช่นเดียวกัน ทำให้ อินโดนีเซียเจ้าภาพซึ่งเป็นประเทศอาเซียนเพียงประเทศเดียวที่เป็นสมาชิก G20 ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากสื่อมวลชนโลกอย่างแน่นอน และจะส่งเสริมให้อินโดนีเซียมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก

 

หลังจากกรุงพนมเปญ และบาหลี ผู้นำระดับโลกก็จะมาร่วมประชุมกันใน APEC 2022 ที่กรุงเทพฯของเรา แม้ว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะไม่มาร่วมการประชุม โดยส่งระดับรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส เข้าร่วมประชุมแทน ทำให้ความโดดเด่นของการประชุมลดลงไปบ้างก็ตามที แต่ส่วนมากผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตก็ยังมาร่วมประชุมด้วยตนเอง
 

ดิฉันคิดว่าการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022 ครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญของประเทศเราในการที่จะแสดงให้โลกเห็นศักยภาพของประเทศไทย เพื่อที่จะพลิกฟื้นประเทศไทยให้กลับมาแข็งแกร่ง และเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะด้วยปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลง

 

และปัญหาของการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถที่จะพลิกฟื้นกลับมาแข็งแรงได้ด้วยประเทศเราเองอย่างลำพัง โดยปราศจากการเข้ามาลงทุน ค้าขายและท่องเที่ยวของประเทศต่างๆอย่างแน่นอน

 

ดังนั้น ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 ของประเทศไทย ดิฉันจึงอยากจะฝากประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ให้รัฐบาลได้พิจารณา ดังนี้ 1)รัฐบาลควรใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ แสดงตำแหน่งทางการแข่งขันของประเทศและยุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจนให้ประชาคมโลกได้รับรู้ เพราะในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

 

ตำแหน่งของประเทศไทยบนแผนที่การแข่งขันโลกนั้นดูเลือนลางลงไปทุกปี มีเพียงเรื่องการท่องเที่ยวเท่านั้นที่ยังมีความแข็งแรง สร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ในทางตรงกันข้ามเสน่ห์ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ FDI กลับลดลงอย่างน่าตกใจ ในช่วงปี 2544-2548

 

จากที่ประเทศไทยเคยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เป็นสัดส่วน 44 % เมื่อเปรียบเทียบกับ FDI ที่เข้ามาลงทุนในห้าประเทศอาเซียนคือไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในช่วงปี 2562-2564 ไทยเรากลับสามารถดึงดูดการลงทุนได้เพียงแค่ 4 % FDI ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนี้ส่งผลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

 

ตำแหน่งการแข่งขันของประเทศบนแผนที่การแข่งขันโลก และยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่นำพาประเทศไปสู่ตำแหน่งนั้น มีความสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศไม่น้อยไปกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ศักยภาพของคนในประเทศและปัญหาอุปสรรคในกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน

 

ดังนั้นถ้ารัฐบาลใช้โอกาสนี้ทำให้ผู้นำทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนจาก 21 เขตเศรษฐกิจเกิดความเข้าใจตำแหน่งการแข่งขันของประเทศไทยและยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนได้มากเท่าใด โอกาสที่ไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนจาก 21 เขตเศรษฐกิจก็จะมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

2) การเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022 ของไทยในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่โลกกำลังครุกรุ่นไปด้วยการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจโลกเช่น สหรัฐฯและจีน ด้านสงครามการค้า รวมไปถึงการเผชิญหน้าระหว่าง สหรัฐฯ พันธมิตร และรัสเซีย ซึ่งการเผชิญหน้าระหว่างประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ ย่อมจะส่งผลให้ภูมิรัฐศาสตร์โลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ 

 

ประเทศไทยในฐานะประเทศหลักประเทศหนึ่งในประชาคมอาเซียนซึ่งจีนและสหรัฐต่างก็กำลังพยายามเข้ามาช่วงชิงการมีบทบาทนำในภูมิภาคนี้ โดยบางประเทศเลือกที่จะให้ความสำคัญกับสหรัฐฯมากกว่า

 

ในขณะที่บางประเทศกลับเลือกที่จะให้ความสำคัญกับจีนมากกว่า และในฐานะที่ประเทศไทยเรามีตำแหน่งประเทศอยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กัมพูชา เมียนมาร์ สปป.ลาวและเวียดนาม ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับจีนตอนใต้ที่เรียกว่า “ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”

 

 ไทยจึงควรที่จะวางตำแหน่งประเทศบนภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่นี้ให้ดี โดยวางเป้าหมายให้ทั้งสองมหาอำนาจต้องร่วมมือกับไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทยและอาเซียนให้ได้ ในทุกวิกฤตย่อมจะมีโอกาสอยู่เสมอ ดังนั้นภายใต้วิกฤตภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่ หากรัฐบาลวางตำแหน่งประเทศไทยได้ดี สร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนและมหาอำนาจของโลกได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โอกาสที่เราจะพลิกวิกฤตโลกให้เป็นโอกาสของประเทศไทยก็มีความเป็นไปได้อย่างสูง 

 

3)รัฐบาลควรที่จะแสดง “จุดแข็ง” ของประเทศไทยที่มีมาโดยตลอดซึ่งก็คือ พลังความสามัคคีของคนไทย ความอ่อนน้อมและความมีน้ำใจของคนไทย แต่เพราะในช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา ไทยเราต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งการเมืองสองขั้ว ปัญหาความแตกต่างทางความคิดของคนต่างกลุ่มต่างวัย ทำให้ภาพความขัดแย้งของไทยถูกนำไปเผยแพร่ทั่วโลก

 

 ดังนั้นระหว่างการประชุมเอเปค 2022 รัฐบาลควรจะได้นำเอาภาพความสามัคคี ความมีน้ำใจของคนไทยโดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ที่คนไทยทุกหมู่เหล่าได้ออกมาแสดงน้ำใจ ช่วยเหลือกันและกันอย่างเต็มที่ อย่างที่ไม่มีประเทศใดจะทำได้ มาแสดงให้ผู้เข้าร่วมประชุมและสื่อมวลชนทั้งโลกได้เห็นจุดแข็ง ของประเทศไทยให้ชัดเจน

 

ในขณะเดียวกันดิฉันก็อยากจะเชิญชวนนักการเมืองทุกขั้วทุกพรรค และพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้ให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 และช่วยกันแสดงจุดแข็งของประเทศไทยให้โลกได้เห็นร่วมกัน

 

ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ และพี่น้องประชาชนไทยทุกคน ดิฉัน และสมาชิกพรรคไทยสร้างไทยทุกคน พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ในการจัดประชุมครั้งนี้