“พิมพ์รพี”ห่วงประเคน“สนามบินกระบี่”ให้ทอท.ดูแลอาจผิดกฎหมาย

31 ส.ค. 2565 | 17:57 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2565 | 01:20 น.

“พิมพ์รพี”ห่วงประเคน“สนามบินกระบี่”ให้ทอท.ดูแลอาจผิดกฎหมาย เหตุไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ 100 % แบ่งกำไร 30 % ให้ผู้ถือหุ้น ถาม “ศักดิ์สยาม”การันตีได้หรือไม่ ประชาชนจะไม่จ่ายแพงขึ้น หวังไม่มีการโละจนท.เดิม

ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ หารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สอบถามไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับมติครม.ที่ให้โอนย้าย 3 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินกระบี่ สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินอุดรธานี จากกรมการท่าอาศยาน ไปอยู่ในความดูแลของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.  หรือ AOT 


โดยตั้งคำถามว่า การที่รัฐบาลได้นำงบประมาณลงทุนถึง 6 พันล้านบาท ในปี 2563 เพื่อขยายสนามบินกระบี่ ปัจจุบันทำกำไรเป็นอันดับหนึ่งในสังกัดกรมการท่าอากาศยาน การโอนย้ายไปสังกัด ทอท. ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ 100 % เนื่องจากอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนแบ่งกำไร 30 % เป็นของผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ของประเทศชาติและ ประชาชน 

“ทำแบบนี้จะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รายได้เดิมที่สนามบินกระบี่เคยนำส่งให้รัฐ จะเป็นอย่างไร รวมทั้งสถานะการเงินของกรมการท่าอากาศยานจะได้รับผลกระทบหรือไม่ หลังจากสนามบินกระบี่ ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงหน่วยงานนี้ แยกตัวออกไป จะทำให้รัฐต้องจัดงบประมาณเพิ่ม เพื่อไปอุดหนุน อย่างไร หรือไม่”


ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ไม่ขัดข้องที่จะมีการพัฒนาสนามบินกระบี่ เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นคนตั้งไข่สนามบินกระบี่ด้วยมือของเราเอง 

แต่ยังเป็นห่วงว่า การบริหารจัดการภายในพื้นที่ จะมีต้นทุนที่แพงขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายบริการสนามบิน การดูแลสนามบิน และภาษีสนามบิน จนส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายแพงหรือเปล่า 

 

จึงอยากขอคำยืนยันจาก รมว.คมนาคม (ศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ว่า ประชาชนจะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และบริการที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยขึ้น อีกทั้งจะมีหลักประกันให้ลูกจ้างเดิมที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ได้ทำงานต่อไป  และ สินค้าพื้นถิ่น และรายได้การเช่าใช้ประโยชน์จะได้ถึงประชาชนรากหญ้าบ้างหรือไม่