ดร.ไตรรงค์ โพสต์มุมมอง #ประชาธิปไตยตายได้อย่างไร

20 มิ.ย. 2565 | 20:23 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2565 | 03:35 น.

ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์แชร์เรื่อง #ประชาธิปไตยตายได้อย่างไร #HowDemocraciesDie

ในเฟสบุ๊คส่วนตัว ที่กล่าวถึงเรื่องของประชาธิปไตย 5 ข้อ พร้อมระบุตอนท้ายว่าความเห็นที่ลงในเฟซบุ๊ก เป็น #ความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรคปชป(ประชาธิปัตย์) แต่อย่างใด

 

รายละเอียดของ #ประชาธิปไตยตายได้อย่างไร #HowDemocraciesDie ประกอบด้วย

 

วันนี้ผมขอมาแชร์ 5 ข้อว่า #ประชาธิปไตยตายได้อย่างไร #HowDemocraciesDie

 

#ข้อที่1 หลังจากมีสงครามกลางเมืองระหว่าง ค.ศ.1861-1865 ที่พี่น้องฆ่ากันเองตายไปมากกว่า 600,000 คน ซึ่งฝ่ายเหนือที่นำโดยประธานาธิบดี Lincoln ได้รับชัยชนะสามารถประกาศเลิกการมีทาสได้โดย 11 รัฐทางภาคใต้ต้องยอมแพ้และต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ซึ่งห้ามการมีทาส หลังจากนั้นสิทธิในการเลือกตั้งสำหรับคนผิวดำก็เกิดขึ้น และตามมาด้วยสิทธิการเลือกตั้งของสตรีในปี ค.ศ. 1920 และสิทธิการเลือกตั้งของชาวพื้นเมืองอินเดียแดงในปี ค.ศ.1924

รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐใหม่ก็มีความเข้มแข็งมากขึ้น แม้ว่าความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลิกทาส มักจะถูกละเมิดตลอดเวลาในรัฐทางใต้ แต่ก็เป็นช่วงที่ถือว่ามีความสงบทางการเมืองภายในประเทศพอสมควร ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมจนเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจ #การพัฒนาหลักการต่างๆเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยก็ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่าเป็นยุคแห่งการฟื้นฟูบูรณะประเทศหลังสงครามกลางเมือง ( Reconstruction era )

 

ภายใต้หลักการใหม่ที่ทั้งประเทศเห็นพ้องต้องกันให้ยึดถือเป็นเสมือนราวกันตก ( guard rail ) ทำให้ประชาธิปไตยของสหรัฐฯเจริญ มีความมั่นคง มีเสรีภาพและมีความเสมอภาคมากขึ้นติดต่อกันมาจนสามารถนำประเทศผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1941-1945) สหรัฐก็กลายเป็นผู้นำโลกเสรี ยิ่งหลังจากสหภาพโซเวียตรัสเซียได้สลายตัวเมื่อ ค.ศ.1991 สหรัฐก็กลายเป็นมหาอำนาจของโลกเพียงผู้เดียว

แต่เพราะการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่คือพรรค Republican และพรรค Democrat ได้ทำให้ทั้งสองฝ่ายค่อยๆทิ้ง #หลักการที่เป็นราวกันตก จนนำมาซึ่งความเสื่อมของระบอบประชาธิปไตย อันเป็นเหตุให้ศาสตราจารย์ด้านการเมืองของมหาวิทยาลัย Harvard 2 ท่านได้ทำวิจัยเรื่องความเสื่อมลงของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก รวมทั้งของประเทศสหรัฐฯเองด้วย ( หนังสือดังกล่าว ชื่อว่า “How Democracies Die” เขียนโดย ศาสตราจารย์STEVEN LEVITSKY และศาสตราจารย์ DANIEL ZIBLATT )

 

ซึ่งปกติผมเป็นคนเห็นจุดอ่อนของอาจารย์ฝรั่งที่บางที่ผมว่าพวกเขามิได้เข้าใจอะไรลึกซึ้งเกี่ยวกับประเทศเล็กๆเช่นประเทศไทย จึงมักนำทฤษฎีของพวกเขามาสรุปผิดๆเกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศด้อยพัฒนาอื่นๆ หรือบางที่พวกเขาก็แกล้งทำเป็นลืมความไม่ดีของประเทศของตนที่เป็นเหตุแห่งความเสื่อมพังทลายของหลายๆประเทศทั่วโลก ซึ่งผมได้ปะทะคารมกับพวกเขามามากแล้วทั้งที่มหาวิทยาลัยHawaii  มหาวิทยาลัย Harvard แห่งสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัย Cambridge กับมหาวิทยาลัยแห่ง London (LSE) แห่งประเทศอังกฤษ แต่ทัศนะของอาจารย์อเมริกันทั้งสองที่เขียนเกี่ยวกับประเทศสหรัฐฯของตนเองนั้น ผมว่าเราควรฟังเพราะมันน่าเชื่อถือ

 

#ข้อที่2 จากหนังสือดังกล่าวข้างต้นได้ชี้ให้เห็นว่า ตลอดเวลาหลังจากสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ นักการเมืองและประชาชนได้ยึดถือหลักการใหม่ที่ถือว่ามันเป็นเสมือนราวกันตกของระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐมาโดยตลอด

 

ราวกันตกที่ว่านั้นมีอยู่ 2 ข้อ ซึ่งมีความสำเร็จเสมือนเป็นกฎข้อหนึ่งในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ แม้จะมิได้ระบุเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม ราวกันตกดังกล่าวคือ

 

2.1) หลักการที่ว่า คู่แข่งทางการเมืองเป็นเพียงคู่แข่ง (Political rival) มิใช่เป็นศัตรู(Enemy) หลังเลือกตั้งทุกระดับผ่านไป ทุกคนต้องไม่โกรธกัน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับผู้ที่มีความเห็นต่างกันในทางการเมือง สามารถร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ไม่พยายามขัดขวางหรือสร้างความลำบากในการบริหารประเทศของฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งหลักการข้อนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “the mutual toleration”

 

2.2) หลักการอีกข้อหนึ่งก็คือหลักการว่าด้วยการควบคุมอารมณ์ของตนในการใช้สิทธิทางการเมือง ไม่มีการกระทำที่เป็นการอาฆาตมาดร้ายเพราะอิจฉาริษยา คือไม่มีการกระทำที่เป็นลักษณะที่เกิดจากความโกรธและเกลียดคู่แข่งในทางการเมือง( ในทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า ต้องไม่มีการกระทำที่เป็น “ทุจริต 3” คือกายทุจริตโดยการทำร้ายกัน กลั่นแกล้งกัน  วาจาทุจริต คือการทำร้ายกันทางวาจา และ มโนทุจริต คือการผูกใจอาฆาตมาดร้าย คอยสาปแช่งคู่แข่งทางการเมือง....ไตรรงค์) ซึ่งหลักการข้อนี้ ฝรั่งเขาเรียกว่า หลักการว่าด้วยความอดทนอดกลั้นในทางการเมือง(the political forbearance)

 

#ข้อที่3 เพราะกิเลสตัณหาของมนุษย์ที่มีแต่ความโลภ โกรธ หลง เข้าครอบงำจิตใจของนักการเมืองและกองเชียร์ในยุคหลังๆ การยึดถือหลักการทั้งสองข้อได้หย่อนยานลงจนเกิดสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาในปีค.ศ. 2016 โดยพรรค Republican (เหมือนพรรค Democrat)ซึ่งเคยยึดถือมาตลอดว่าผู้ที่จะสมัครเป็นประธานาธิบดีในนามของพรรคนั้น จะต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ทั้งทางการเมืองและทางบริหารราชการแผ่นดินในระดับที่เป็นประจักษ์และยอมรับได้ของประชาชนนอกเหนือจากการไม่มีประวัติด่างพร้อยทางจริยธรรม แต่ในปี ค.ศ.2016 พรรค Republican ได้เลิกยึดถือประเพณีดังกล่าว ปล่อยให้นักปลุกระดมมวลชน (ที่เรียกกันว่าพวกDemagogues) ที่ไร้ความรู้และประสบการณ์ทั้งในทางการเมืองและการบริหารประเทศ ได้รับเลือกให้เป็นผู้สมัครประธานาธิบดีในนามของพรรค Republican ซึ่งก็คือ Donald Trump เมื่อได้เป็นประธานาธิบดีจึงได้สร้างความเสียหายมากมายทั้งภายในประเทศและความตกต่ำของภาพลักษณ์ในสายตาของชาวโลกที่มีต่อสหรัฐอเมริกา

 

ปัญหาที่ Trump ได้สร้างขึ้นอันก่อให้เกิดความไม่มั่นคงภายในประเทศ ก็คือการสร้างและส่งเสริม #ลัทธิรังเกียจผิว โดยได้แพร่เชื้อที่ว่า ผิวขาวเท่านั้นที่เป็นเจ้าของประเทศสหรัฐ (White Supremacy)จึงทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายคนผิวสีที่ไม่ใช่สีขาว ปีหนึ่งๆมีการฆ่ากันเพราะเหตุนี้มากกว่า 1,000 คน แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งหลังสุด Trump จะประสบความพ่ายแพ้แก่ Joe Biden แห่งพรรค Democrat แต่เชื้อโรคลัทธิรังเกียจผิวก็ยังแพร่ขยายออกไป มีแต่จะแรงขึ้น เพราะเชื้อเดิมมันก็มีของมันอยู่แล้ว Trump เพียงราดน้ำมันเข้าใส่กองเพลิงให้ลุกโชนมากขึ้นเท่านั้น

 

#ข้อที่4 ลัทธิรังเกียจผิวได้ทำให้หลักการที่เป็นรั้วกันตกพังทลายลง กล่าวคือนักการเมืองและกองเชียร์ทั้ง 2 ขั้ว คือขั้วที่รังเกียจผิวกับขั้วที่ไม่รังเกียจผิวถือว่าเป็นศัตรูกันไม่สามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติกับผู้ที่มีความเห็นต่างได้   ความอดทนอดกลั่นที่ใช้ในการควบคุมอารมณ์มิให้ก่อความรุนแรงก็พังทลายลงเช่นเดียวกัน เพราะถ้าไม่ยึดมั่นรั้วกันตกอันที่หนึ่ง รั้วกันตกอันที่สองก็เกิดขึ้นไม่ได้ (คำอธิบายในเรื่องนี้อยู่หน้า 150-154 ของหนังสือที่อ้างถึง) สังเกตุเห็นได้ในครั้งแรกที่ Trump พ่ายแพ้แก่Biden Trumpได้เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนตนอย่ายอมรับผลการเลือกตั้ง ให้ใช้กำลังขัดขวางมิให้มีการประกาศแต่งตั้ง Joe Biden เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ จึงเกิดฝูงชนเข้าบุกทำลายอาคารรัฐสภา ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และตำรวจของรัฐสภาบาดเจ็บล้มตายไปหลายคน ถูกจับติดคุกติดตารางกันไปหลายคน เป็นต้น

 

หนังสือเล่มนี้ได้ทำนายไว้ว่า เมื่อหลักการทั้งสองที่เป็นเสมือนราวกันตกได้พังทลายลง ระบบอนาธิปไตย (anarchy) ก็จะเข้ามาแทนที่ความเป็นประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา ต่อไปในอนาคตสหรัฐอาจจะไม่พบกับความสงบอีกต่อไป

 

เพราะถ้าฝ่ายนิยมรังเกียจผิวมีชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป จะมีการรังแกคนผิวสีโดยวิธีต่างๆ เช่น จะมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เพื่อลดอิทธิพลของพวกผิวสีลง จะมีการใช้กำลังทั้งทหารและตำรวจกับคนผิวสีรุนแรงมากขึ้น จะมีการออกมาตรการเนรเทศคนผิวสี สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค เป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึงกันอีกแล้ว รัฐธรรมนูณจะถูกละเมิดเพราะทั้งศาลและองค์กรอิสระจะถูกอำนาจเผด็จการรัฐสภาเข้าแทรกแซงจนหมดสิ้น

 

แต่ถ้าพวกนิยมลัทธิรังเกียจผิวเกิดพ่ายแพ้การเลือกตั้ง พวกเขาก็จะก่อกวนสร้างความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เกิดความวุ่นวายเพื่อขัดขวางฝ่ายที่ชนะให้บริหารประเทศไม่ได้หรือบริหารได้ด้วยความลำบาก เพราะพวกเขาถือว่าผู้ที่ชนะการเลือกตั้งเป็นศัตรู แม้ว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม

 

ทั้งสองอย่างมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนยกเว้นเสียแต่ว่า พระเจ้าจะดลบันดาลให้นักการเมืองและกองเชียร์เกิดจิตสำนึกว่า สิ่งที่พวกตนคิด พูด และทำนั้นเป็นภัยต่ออนาคตของประเทศอย่างแท้จริง แล้วทุกฝ่ายก็กลับยึดถือหลักการที่เป็นราวกันตกกันใหม่ โดยปล่อยให้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 กลายเป็นบทเรียนแก่ชนรุ่นหลังว่าอย่าทำผิดเช่นนั้นอีก ประเทศสหรัฐและประชาธิปไตยจึงจะปลอดภัยในอนาคต

 

#ข้อที่5 เมืองไทยเราก็ได้เกิดการเมือง 2 ขั้วที่นับวันจะถือว่าเป็นศัตรูกันมากขึ้นระหว่างขั้วที่ชังชาติ ชังจารีตประเพณี บ้าวัฒนธรรมตะวันตก และอยากให้ประเทศปกครองในระบบประธานาธิบดี กับขั้วที่ยังรักชาติ ศาสน์กษัตริย์ ซึ่งยังต้องการรักษาความเป็นไทยภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 

ถ้าทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าอยู่ร่วมกันโดยสันติกับผู้เห็นต่างไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นศัตรูกันความอดกลั้นที่จะไม่ใช้ทุจริต 3 ทำร้ายกันและกันก็จะมีน้อยลง ประเทศและประชาธิปไตยก็จะฉิบหายไปพร้อมๆกับสหรัฐอเมริกา อย่างแน่นอน

 

ข้อ 5 นี้เป็นการสรุปของผมเองครับไม่ใช่บทสรุปของหนังสือ “How Democracies Die” หรอกครับ ผมเป็นคนรับผิดชอบข้อสรุปนี้เพียงคนเดียวครับ

 

ผมขอเรียนว่าความเห็นที่ลงในเฟซบุ๊ก เป็น #ความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรคปชปแต่อย่างใด