“สุเทพ”ชี้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เหมือนซื้อเหล้าแถมเบียร์ สร้างปัญหาให้ประเทศ

24 ก.พ. 2565 | 15:45 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2565 | 23:37 น.

" สุเทพ "ไม่เห็นด้วย แก้รธน.ลดอำนาจส.ว. ระบุ บัตรเลือกตั้ง 2ใบเหมือน "ซื้อเหล้าแถมเบียร์ "สร้างปัญหาให้ประเทศ เรียกร้องประชาชน ติดตามทุกการเคลื่อนไหว

วันที่ 24 ก.พ.2565  เฟสบุ๊คส่วนตัว “ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)” ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปท.)ได้เผยแพร่รายการ “คุยกับลุง” EP 19   โดยนายสุเทพ กล่าวว่า วันนี้จะมาพูดเรื่องการเมืองในรัฐสภาในขณะนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ให้ความสนใจมาก คือที่มีผู้เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะลดอำนาจวุฒิสมาชิก และเพื่อไม่ต้องการให้วุฒิฯมีสิทธิที่จะลงคะแนนเลือกนายกฯคนต่อไปหลังการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้น ตรงนี้มีคนพยายามมาก

 

อยากจะบอกว่า ตอนที่เขาร่าง รธน.ฉบับนี้ ประชาชนทั้งหลายเรียกร้องจะต้องมีการปฏิรูปการเมือง และรธน.ฉบับนี้คณะกรรมการร่างรธน.ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน  ได้ทำงานกันอย่างหนัก และเห็นว่านี่คือการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทยที่สำคัญการที่มีบทบัญญัติในมาตราต่างๆที่รธน.ฉบับนี้เขียนไว้ในประเด็นต่างๆเป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญ 

นายสุเทพ กล่าวต่อว่าเมื่อพูดถึงวุฒิสมาชิกในรธน.ปี2560 ในมาตรา107 เขากำหนดให้มีวุฒิสมาชิก 200 คน และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน จากกลุ่มอาชีพต่างๆเลือกกันเอง และคนพวกนี้ ต้องไม่สังกัดพรรคการเมืองและต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่เคยเป็นรัฐมนตรี หรือ ส.ส. หรือถ้าเคยเป็นมาแล้วต้องทิ้งช่วงอย่างน้อย 5 ปีหรือ พูดง่ายๆ ก็คือว่า   ตัดวุฒิสมาชิกออกจากความเกี่ยวข้องทางกับการเมือง หรือ พรรคการเมืองและวุฒิสมาชิกเหล่านี้  จะไปทำหน้าที่สำคัญหลายประการ เช่น ไปเลือกคณะกรรมการต่างๆ เช่นกรรมการสิทธิมนุษย์ชน กรรมการป.ป.ช. รวมทั้งกรรมการ ก.ก.ต. เพราะหากปล่อยให้ผู้แทนไปเลือกกันเองก็กรรมการพวกนี้ก็จะไม่มีความเป็นกลางใช้ไม่ได้ นี่คือการพูดถึงหลักการใน รธน.ความเป็นกลางของวุฒิสมาชิกและวุฒิฯเป็นได้หนเดียว เลือกตั้งเสร็จเข้าไปอยู่ มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปีแต่เป็นไปครั้งเดียว ประชาชนเดินไปทำหน้าที่ประชาชนในสภาครั้งเดียวแล้วกลับบ้านเลย ไม่เป็นได้อีกแล้ว ไม่เป็นวุฒิฯอาชีพ ไม่ใช่แบบนักการเมือง ตนชอบนะ และประชาชนส่วนใหญ่ก็ชอบ นี่จะเป็นการถ่วงดุลอำนาจของผู้แทนฯ เรามีประสบการณ์กันมาแล้วว่ามีผู้แทนฯหลายๆพรรค เข้าไปบางทีแล้วรวมหัวกันกลายเป็นแก๊งค์ที่มีเสียงมากที่สุดในสภาฯออกกฎหมายล้างความผิดให้โจรก็ทำมาแล้วเลย บ้านเมืองวุ่นวายเราไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้นอีก

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

 


นายสุเทพ กล่าวว่า จุดนี่เขาคงไม่เอามาวิพากษ์วิจารณ์หรือพยายามแก้ แต่บังเอิญใน รธน.ในบทเฉพาะกาลเขียนเอาไว้ ว่าในช่วง 5 ปีแรก  ให้วุฒิฯร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ตรงนี้ที่พรรคการเมืองและนักการเมืองทั้งหลายไม่ชอบ แต่ตนชอบ และเชื่อว่าประชาชนต้องชอบ และจากการดูการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง และนักการเมืองที่ทำคิดแต่เรื่องตัวเอง คิดถึงแต่เจ้าของทุนและเจ้าของพรรค   ไม่ได้คิดถึงเรื่องของประเทศชาติหรือ ประชาชน เพราะฉะนั้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ  ตนก็ยังเห็นด้วยกับผู้ร่างรธน.ที่กำหนดบทเฉพาะกาล บทนี้ไว้ว่าใน 5 ปีแรกคนที่จะเป็นนายกฯให้วุฒิสมาชิกเลือกด้วยบังเอิญว่า ในการเลือกวุฒิฯชุดปัจจุบัน ไม่ได้เลือกตามวิธี ที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติปกติ  ที่กำหนดให้ประชาชนอาชีพต่างๆเลือกกันเอง ในบทเฉพาะกาลนี้  เขาให้มาจากกรรมการสรรหา แล้วให้คสช.เป็นคนเลือกอีกทีจากกรรมการสรรหา มี 250 คน ตรงนี้เลยทำให้ฝ่ายที่ไม่พอใจ รู้สึกว่าเป็นประเด็นที่เขาจะเอามาโจมตีได้

 

“ ผมไม่รู้จักและ ไม่มีความสนิทสนม เป็นการส่วนตัวกับท่านวุฒิสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งเหล่านี้ ไม่เคยไปหา หรือไปคุย แต่ติดตามการทำงาน เห็นว่าในสถานการณ์อย่างนี้ใช้ได้ แต่ก็ยังหวังว่า เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ อย่างราบรื่น ในการเลือกตั้งนายกฯหลังการเลือกตั้งทั่วไปคราวหน้า ก็ยังอยากให้วุฒิฯชุดนี้ ได้มีส่วนในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี อันนี้เป็นการคานอำนาจของผู้แทนราษฎร ซึ่งเราไม่ค่อยสบายใจเท่าไรในภาพที่เขาแสดงกันออกมา และ ในระยะเปลี่ยนผ่านเราจำเป็นต้องมีคณะบุคคลบางกลุ่มบางส่วนที่จะต้องคอยคานอำนาจจนกว่าทุกอย่างเข้ารูป เข้ารอยเรียบร้อยและเมื่อพ้น 5 ปีนี้ และเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่อีกหน วุฒิสมาชิกที่มีสิทธิเลือกนายกฯอีกหนเดียว”นายสุเทพ กล่าว 

 

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปท.)

การที่ยกเอาประเด็นนี้มาคุย  เพราะรู้ว่าเขาคงแก้ไม่ได้เพราะการแก้ไข รธน.จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิก ที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน และที่ยกขึ้นมา ก็เพื่อให้พี่น้องได้ติดตามว่า ไม่ว่าเขาจะคิดเรื่องอะไร เรื่องรธน. เรามีความคิด ความเห็น เราต้องร่วมแสดงความคิด ความเห็นด้วย มิฉะนั้นเผลอแป็ปเดียว สิ่งที่เราคาดว่าจะมีการปฏิรูปการเมือง ถูกแก้ ถูกเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้ปฏิรูปอีก

 

ย้อนรอยถอยหกลังอีก ยกตัวอย่างเช่น รธน.กำหนดให้การเลือกตั้ง ใช้บัตร 2 ใบ ใบหนึ่งเลือกพรรค ใบหนึ่งเลือกส.ส. นี่เป็นของเก่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว  และสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติมาแล้ว พอมารธน.ฉบับนี้เขาจึงไม่เอา  เขียนให้มีการเลือกตั้งใช้บัตรเพียงใบเดียว  เป็นเหตุให้พรรคการเมืองและนักการเมืองไม่ชอบ ที่เขาชอบคือ  ซื้อเหล้าแถมเบียร์  คือเลือกผู้แทนเขต แล้วอีกบัตรเลือกพรรค กินรวบเลยเหมือน  ซื้อเหล้าแถมเบียร์ อันนี้อันตรายสำหรับประเทศ เราเคยเห็นพรรคการเองที่มีอำนาจเด็ดขาด เพราะเหตุว่ามีเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จในสภาฯทำอะไรก็ได้ ตรวจสอบไม่ได้ ฉ้อโกงทุจริตคอร์รัปชั่น ออกกฎหมายเพื่อพวกพ้อง ทำมาแล้วทั้งนั้น ตนไม่เห็นด้วย แต่ตอนนั้นเราเผลอไป ประชาชนไม่ได้เคลื่อนไหว ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านสุมหัวกันแก้เรื่องนี้เพื่อสมประโยชน์ของฝ่ายการเมืองทั้งนั้น  ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประเทศหรือประชาชน 
         

 

 ตอนนี้สัปดาห์นี้ กำลังแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับ รธน.จากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ ทุกความเคลื่อนไหวของนักการเมือง ทุกความเคลื่อนไหวพรรคการเมือง ทุกความเคลื่อนไหวสมาชิกรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือ วุฒิสภา เราต้องติดตามเรา ต้องสนใจ เผลอไม่ได้ เผลอเดี๊ยวไปแก้ตรงนั้นตรงนี้ทำปู้ยี่ ปู้ยำ สิ่งที่เราคิดอยากจะเห็นการปฏิรูปการเมืองเห็นการเมืองเจริญไปข้างหน้า เห็นการเมืองที่ทำให้บ้านมือง มีความผาสุข มีความเจริญไปข้างหน้ามันจะสะดุดลงได้ เพราะฉะนั้นเราต้องติดตาม ตนก็จะติดตามไม่ปล่อยปละละเลย บ้านเมืองเป็นของเราเราต้องติดตาม