นายกฯขออย่าวิตก โควิด “โอไมครอน” สั่งเข้มคนเข้า-ออกประเทศ

29 พ.ย. 2564 | 12:36 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2564 | 19:52 น.

"นายกฯ"ขออย่าวิตกโควิดสายพันธ์"โอไมครอน" สั่งมาตรการเข้มเดินทางเข้า-ออกประเทศ ขณะที่ “สุพัฒนพงษ์”รอดู 2-3 สัปดาห์ ประเมินความรุนแรง

วันที่ 29 พ.ย. 2564  ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ว่า ได้เน้นย้ำไปแล้วอย่าให้กลายเป็นเรื่องความวิตกจนเกินไป วันนี้เราได้เพิ่มมาตรการและมาตรฐาน ห้ามคนเข้า-ออกประเทศต้นทางที่มีการแพร่ระบาดอยู่แล้ว และเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ได้สั่งการไป ซึ่งก็ได้มีการประกาศออกมาแล้ว อย่าไปกังวล ขออย่างเดียวให้ฉีดวัคซีนให้ครบเร็วๆ ตอนนี้เรามีวัคซีนเพียงพอ รวมถึงวัคซีนทางเลือก ที่ยังไม่ได้ฉีดกันก็ขอให้มาฉีดกับเรา ฉีดฟรีอยู่แล้ว ดีกว่าไปรอ ขอให้ไว้ใจก็แล้วกัน

นายกฯขออย่าวิตก โควิด “โอไมครอน” สั่งเข้มคนเข้า-ออกประเทศ
 

ขณะที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงข้อกังวลเรื่องเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน จะส่งผลต่อภาคธุรกิจและการเปิดประเทศของไทยหรือไม่ ว่า ความชัดเจนต้องรอฟังจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะใช้เวลาในช่วงสั้นๆเพื่อดูว่าโอไมครอน มีโครงสร้างทางดีเอ็นเออย่างไร และบริษัทที่ผลิตวัคซีนได้เตรียมความพร้อมทันทีที่ได้ข้อมูล โดยไม่เกิน 2-3 สัปดาห์นี้ น่าจะเห็นว่าความน่ากลัวเป็นอย่างไร และบริษัทที่ผลิตวัคซีนจะปรับตัวในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อดูแลและป้องกันโอไมครอน วันนี้ให้ฉีดวัคซีนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ใครที่ฉีดยังไม่ครบให้ฉีดให้ครบ
 

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเปิดประเทศยังไม่มีการปรับแผน ต้องรอดูสถานการณ์ก่อนใช่หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เราระมัดระวังเรื่องเปิดประเทศอยู่แล้ว และใน 63 ประเทศที่ให้เข้ามาก็ไม่มีกลุ่มประเทศแอฟริกา อีกทั้งกลุ่มประเทศดังกล่าวหากจะเข้ามาจะต้องกักตัวอยู่ในสถานที่กักตัวทางเลือกก่อน ต้องมีการตรวจเชื้ออย่างละเอียด ข้อมูลเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีปัญหาอะไร แต่รายละเอียดต้องรอฟังกระทรวงสาธารณสุข และนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปก็ยังไม่มีใครเข้ามาอีก

 

เมื่อถามว่า แต่ใน 63 ประเทศที่ไม่ต้องกักตัวพบว่ามีประเทศที่พบเชื้อโอไมครอนแล้ว จะส่งผลต่อปลายปีที่จะเปิดให้ประเทศอื่นเข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ให้รอดู ยังอีกนาน อย่างที่บอก ไม่เกิน 2-3 สัปดาห์น่าจะรู้ว่าเราจะมีผลกระทบอย่างไร ระหว่างนี้คงมีข้อมูลเข้ามาเรื่อยๆ ย้ำว่าเราระมัดระวังอยู่แล้ว