ฝ่ายค้านล็อกเป้าซักฟอก “ประยุทธ์ - อนุทิน”บริหารโควิดผิดซ้ำซาก

11 ส.ค. 2564 | 14:22 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 21:32 น.

พรรคร่วมฝ่ายค้านล็อกเป้าซักฟอก “ประยุทธ์ - อนุทิน”บริหารโควิดผิดซ้ำซาก พร้อมรัฐมนตรีรวม 4-5 คน จ่อยื่นญัตติอภิปราย “ไม่ไว้วางใจ” 16 ส.ค.นี้

วันที่ 11 ส.ค. 2564 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านผ่านระบบซูม โดยมีแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านประกอบด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ,นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ , นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย , นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย , นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล , พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ,นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร , นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมประชุม

 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย บอกว่า การหารือวันนี้ มีประเด็นสำคัญ คือ การเตรียมความพร้อมในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่อาคารรัฐสภา

ฝ่ายค้านล็อกเป้าซักฟอก “ประยุทธ์ - อนุทิน”บริหารโควิดผิดซ้ำซาก

รายชื่อรัฐมนตรี ที่จะถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น เบื้องต้นจะมีการอภิปรายรัฐมนตรีรวมทั้งสิ้นประมาณ 4-5 คน โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุข เป็นหลัก ซึ่งประเด็นสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผิดพลาดซ้ำซากของรัฐบาล เป็นสาเหตุทำให้พี่น้องประชาชนยากลำบากและปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบของบุคคลในรัฐบาลรวมไปถึงบริวารแวดล้อม

ในวันที่ 14 สิงหาคม 2564 หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะมีการหารือร่วมกันถึงรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณาเอกสารหลักฐานและสรุปความชัดเจนเกี่ยวกับรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเพิ่มเติมทั้งหมด หากพบว่าการบริหารจัดการของรัฐบาล ซึ่งสร้างผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชนมหาศาลเชื่อมโยงไปถึงรัฐมนตรีคนใด ก็จะดำเนินการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนไปด้วยเพราะถือว่าได้ร่วมกันสร้างผลกระทบความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน