ประกาศกรมอุตุฯฉบับ 10 พายุหม่านหยี่ -ใต้ฝนตกหนัก 20-23 พ.ย.67

20 พ.ย. 2567 | 14:56 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2567 | 15:03 น.
909

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 10 พายุหม่านหยี่ อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว พร้อมเตือนภาคใต้รับมือฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งวันที่ 20-23 พ.ย.67 เช็คจังหวัดพื้นที่เสี่ยงที่นี่

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 10  เรื่อง พายุ “หม่านหยี่” เมื่อเวลา 07.00 น. ของวันนี้ (20 พ.ย. 2567) พายุโซนร้อน “หม่านหยี่” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และเมื่อเวลา 10.00 น. ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนแล้ว

 

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 20-23 พ.ย. 2567 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล 

 

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม 

ประกาศกรมอุตุฯฉบับ 10 พายุหม่านหยี่ -ใต้ฝนตกหนัก 20-23 พ.ย.67

 

ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1–2 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1–2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร  ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

 

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 11 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 20 – 26 พ.ย. 67  โดยมีรายละเอียดพิกัดจุดเสี่ยงดังต่อไปนี้

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม 

จังหวัดสุราษฎร์ธานี 12 อำเภอ 

  • อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอบ้านนาสาร อำเภอเวียงสระ อำเภอบ้านนาเดิม อำเภอพุนพิน อำเภอเคียนซา อำเภอพระแสง อำเภอชัยบุรี อำเภอดอนสัก อำเภอเกาะพะงัน อำเภอเกาะสมุย 

จังหวัดนครศรีธรรมราช 18 อำเภอ 

  • อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอปากพนัง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอพระพรหม อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอขนอม อำเภอทุ่งสง อำเภอสิชล อำเภอนบพิตำ อำเภอพิปูน อำเภอฉวาง อำเภอท่าศาลา อำเภอพรหมคีรี อำเภอลานสกา อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร

จังหวัดพัทลุง 2 อำเภอ 

  • อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน จังหวัดสงขลา 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ อำเภอควนเนียง อำเภอบางกล่ำ อำเภอสิงหนคร อำเภอหาดใหญ่ อำเภอรัตภูมิ อำเภอระโนด อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี 

จังหวัดปัตตานี 11 อำเภอ 

  • อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอแม่ลาน อำเภอกะพ้อ อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอไม้แก่น อำเภอยะรัง อำเภอสายบุรี อำเภอยะหริ่ง อำเภอปานะเระ อำเภอมายอ อำเภอหนองจิก 

จังหวัดยะลา 8 อำเภอ 

  • อำเภอเมืองยะลา อำเภอกรงปินัง อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอกาบัง อำเภอยะหา อำเภอรามัน 

จังหวัดนราธิวาส 13 อำเภอ 

  • อำเภอนราธิวาส อำเภอศรีสาคร อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอแว้ง อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอจะแนะ อำเภอสุคิริน อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี อำเภอตากใบ 

จังหวัดตรัง 6 อำเภอ

  • อำเภอเมืองตรัง อำเภอวังวิเศษ อำเภอย่านตาขาว อำเภอห้วยยอด อำเภอนาโยง อำเภอปะเหลียน 

จังหวัดสตูล 5 อำเภอ 

  • อำเภอเมืองสตูล อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอควนกาหลง อำเภอควนโดน

 

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม 

พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และ ส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด

 

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส