อันดับความเสมอภาคทางเพศของไทย 2566 WEF ดีขึ้นแตะที่ 74 โลก

26 มิ.ย. 2566 | 09:04 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มิ.ย. 2566 | 09:10 น.

WEF รายงานดัชนีความเสมอภาคทางเพศของโลก ประจำปี 2566 Global Gender Gap Index 2023 ของไทยอันดับดีขึ้นมา 5 อันดับ จากปีที่แล้ว โดยติดอันดับที่ 74 จากทั้งหมด 146 ประเทศทั่วโลก

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) เปิดเผยรายงานดัชนีความเสมอภาคทางเพศทั่วโลก ประจำปี 2566 (Global Gender Gap Index 2023) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 74 จากทั้งหมด 146 ประเทศ โดยอันดับขยับขึ้น 5 อันดับจากอันดับที่ 79 ในปี 2565 ด้วยคะแนน 0.711 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.002 คะแนน

สำหรับการจัดทำรายงานดัชนีความเสมอภาคทางเพศทั่วโลกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 เพื่อประเมินความคืบหน้าเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ และเปรียบเทียบช่องว่างระหว่างเพศของประเทศต่าง ๆ ใน 4 มิติ ได้แก่ 

1. ความเสมอภาคด้านการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ (Economic Participation and Opportunity) 

2. ความสำเร็จทางการศึกษา (Educational Attainment) 

3. สุขภาพและการอยู่รอด (Health and Survival)

4. การส่งเสริมศักยภาพทางการเมือง (Political Empowerment)

โดยหากมองในระดับภูมิภาค ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีความเท่าเทียมที่ร้อยละ 68.8 ซึ่งนับเป็นคะแนนสูงสุดอันดับ 5 จากทั้งหมด 8 ภูมิภาค โดยผู้หญิงในภูมิภาคนี้ต้องใช้เวลา 189 ปี จึงจะสามารถอุดช่องโหว่ความไม่เสมอภาคทางเพศได้ผลสำเร็จ

ทั้งนี้หากพิจารณารายมิติในปีนี้ ไทย อยู่ในอันดับที่ 24 มิติความเสมอภาคด้านการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยคะแนน 0.772 อันดับที่ 61 มิติความสำเร็จทางการศึกษา ด้วยคะแนน 0.995 อันดับที่ 42 มิติสุขภาพและการอยู่รอด ด้วยคะแนน 0.977 และอันดับที่ 120 มิติการส่งเสริมศักยภาพทางการเมือง ด้วยคะแนน 0.101

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสังคม ตามหลักสิทธิมนุษยชน และตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และได้ดำเนินการสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสตรี ซึ่งถือเป็นประชากรที่มีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ด้วยตระหนักถึงศักยภาพของสตรีในการเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ โดยรัฐบาลได้กำหนดกลไกการทำงาน และมีความร่วมมือกับกลไกจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งลำดับที่สูงขึ้นในดัชนีของ WEF นี้ จะเป็นอีกกำลังใจในการทำงานให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว