รถยนต์อู้ฟู่ โบนัส 7-8 เดือน อีซูซุ โตโยต้า ยอดขาย-ส่งออกพุ่ง

08 ธ.ค. 2565 | 09:19 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2565 | 16:48 น.
1.5 k

เปิดรายชื่อบริษัทที่ทุ่มจ่ายโบนัสปี 2565 ค่ายรถยนต์อู้ฟู่ อีซูซุ มอเตอร์ ให้ 8 เดือน โตโยต้า 7.5 เดือน ยอดขาย-ส่งออกพุ่ง และได้อานิสงค์จากค่าเงินบาทอ่อน

เศรษฐกิจฟื้นตัว ภาคธุรกิจกลับมามีกำไร ดาหน้าแจกเงินโบนัสปี 2565 ค่ายรถยนต์ยอดขายกระฉูด ส่งมอบรถยนต์ไม่ทัน อีซูซุ มอเตอร์ ควักจ่ายโบนัสสูงสุด 8 เดือน ค้าปลีกได้อานิสงส์กำลังซื้อผู้บริโภคกลับมาจ่ายเงินพิเศษให้พนักงานต่อเนื่อง ภาคผลิต ส่งออกดีดันกำลังผลิตเต็มสูบ ภาคบริการโรงแรม นักท่องเที่ยวแน่น

รถยนต์อู้ฟู่ โบนัส 7-8 เดือน อีซูซุ โตโยต้า ยอดขาย-ส่งออกพุ่ง

หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มดีขึ้น ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลายหน่วยงานคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศปีนี้ จะขยายตัวได้ราว 3-4% จากปัจจัยนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยมากขึ้น การบริโภคภายในประเทศเป็นไปในทิศทางทีดี การส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลต่อผลการดำเนินงานของแต่ละบริษัทเป็นไปค่อนข้างดี

 

เห็นได้จากผลกำไรที่แต่ละบริษัทได้รับ สะท้อนมายังเงินประโยชน์ตอบแทนพิเศษ หรือเงินโบนัส ที่จ่ายให้กับพนักงานในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า

 

  • อีซูซุโบนัสสูงสุด 8 เดือน

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สำรวจภาคธุรกิจต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่ได้ประกาศและอยู่ระหว่างการพิจารณาการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2565 แล้ว โดยเฉพาะค่ายผู้ผลิตรถยนต์ มีกำไรจากการจำหน่ายรถยนต์ค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบหนักจากปัญหา “ชิป” ขาดแคลน จนรถยนต์หลายรุ่นผลิตไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า โดยรุ่นยอดนิยมอย่าง Toyota Yaris Ativ (รุ่นท็อป) ต้องรอรถอย่างตํ่า 4 เดือน Honda HR-V รอการส่งมอบข้ามปี เช่นเดียวกับ Nissan Kicks

ตลาดรถยนต์ 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ต.ค. 65) รวมทุกยี่ห้อจำหน่ายได้ 6.98 แสนคัน เพิ่มขึ้น 17.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 แม้หลายค่ายจะไม่มีรถส่งมอบ แต่ยอดขายยังมีอัตราเติบโต ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตหรือค่ายรถยนต์ ไม่มีความจำเป็นต้องทำโปรโมชันถล่มทลาย หรืออัดเงินส่งเสริมการขายเหมือนในอดีต(ก่อนโควิด-19) นอกจากนี้ โรงงานผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่ผลิตเพื่อส่งออกจำนวนมาก ยังได้อานิสงส์จาก เงินบาทอ่อนค่า นั่นเท่ากับการมีรายรับเข้ากระเป๋าเต็มๆ

 

ส่งผลสะท้อนมายังการจ่ายเงินโบนัส และเงินพิเศษ หลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เจรจากับสหภาพแรงงานจบไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และพบว่ารายใหญ่ยังจ่ายโบนัสกันหนักหน่วงตามผลประกอบการที่ดีขึ้น เช่น อีซูซุ มอเตอร์ (โรงงานผลิต) ให้โบนัสพนักงาน 8 เดือน บวกเงินพิเศษ 27,000 บาท บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จ่าย 7.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 34,000 บาท และปีนี้ฉลองการดำเนินธุรกิจครบ 60 ปีในไทย จึงเพิ่มเงินก้นถุงให้อีก 16,000 บาท

รถยนต์อู้ฟู่ โบนัส 7-8 เดือน อีซูซุ โตโยต้า ยอดขาย-ส่งออกพุ่ง

ส่วนบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ให้ 5.4 เดือน บวกเงินพิเศษ 50,000 บาท แต่แบ่งจ่าย 2 ครั้ง คือครึ่งปีแรก และสิ้นปี

 

ในส่วนซัพพลายเออร์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ต่างจ่ายโบนัสสูงไม่แพ้กัน อย่าง เด็นโซ่ ได้ 7.4 เดือน บวกเงินพิเศษ 32,500 บาท โยโกฮามา ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จ่าย 5 เดือน บวกเงินพิเศษ 25,000 บาท

  • ปี 2566 ยอดขายรถยนต์โตกระฉูด

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ชี้ให้เห็นว่า ทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศเริ่มฟื้นตัวกลับเข้ามาสู่ระดับปกติอีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ที่ยอดขายหดตัว 21.4% และ 4.0% ตามลำดับ โดยในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 ยอดขายรถยนต์สะสมอยู่ 698,305 แสนคัน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.0% รถยนต์พาณิชย์ขยาย 21.4% ในขณะที่รถยนต์นั่งขยายตัว 9.0% เหตุจากการบริโภคภายในประเทศที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว ประกอบกับการเปิดประเทศ ทำให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง

รถยนต์อู้ฟู่ โบนัส 7-8 เดือน อีซูซุ โตโยต้า ยอดขาย-ส่งออกพุ่ง

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 ยอดขายรถยนต์จะเร่งขึ้น จากการกระตุ้นยอดขายจากงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ช่วงสิ้นปี ทำให้คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2565 จะอยู่ที่ 8.6 แสนคัน หรือ ปรับเพิ่มขึ้น 13.3% ขณะที่ปี 2566 นั้น ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะอยู่ที่ 9.3 แสนคัน ปรับเพิ่มขึ้น 8.1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว การเปิดประเทศทำให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ภาคเกษตรยังเติบโตต่อเนื่อง ราคานํ้ามันที่ปรับสูงขึ้นจะกระตุ้นความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคพุ่งขึ้น

 

  • ยักษ์ค้าปลีกจ่อจ่ายโบนัส

 

ในส่วนของผู้ประกอบการค้าปลีกที่ปีนี้เริ่มกลับมาคึกคัก หลังรัฐบาลคลายมาตรการต่างๆ และกลับมาเปิดได้ตามปกติเต็มรูปแบบทั้งในส่วนของศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆ ภายในศูนย์ผนวกลูกค้ากลุ่มต่างชาติที่ทยอยเข้ามา ทำให้บรรยากาศโดยรวมในครึ่งปีหลังดีขึ้นอย่างมาก บางสาขามีตัวเลขลูกค้าเข้ามาใช้บริการใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 คาดว่าผลประกอบการและกำไรจะกลับมาเติบโตมากขึ้น จนสามารถจ่ายโบนัสให้กับพนักงานได้

 

ทั้งนี้ เครือ เอ็ม บี เค ผู้บริหารศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์, พาราไดซ์ พาร์ค, เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 และเดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ มีนโยบายจ่ายโบนัสพนักงานทุกปี แบ่งเป็นสิ้นเดือนกรกฏาคม จ่ายโบนัส 1 เดือน สิ้นเดือนธันวาคมจ่ายโบนัส 0.5 เดือน รวมเบ็ดเสร็จจ่ายโบนัส 1.5 เดือน และในทุกเดือนมีนาคมของทุกปีจะจ่ายเงินพิเศษอีกรอบโดยพิจารณาตามผลงานและศักยภาพของพนักงานแต่ละราย

 

กลุ่มเซ็นทรัล อยู่ระหว่างการพิจารณาการให้โบนัสพนักงาน ซึ่งเครือเซ็นทรัลทั้งหมดจะจ่ายโบนัสพร้อมปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี แม้ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด ก็ยังมีการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานเช่นเดิม

 

ขณะที่กลุ่มสยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารสยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่, ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ซึ่งมีการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานทุกปี เชื่อว่าในปีนี้จะมีโบนัสเช่นกัน โดยจะจ่ายโบนัสภายในเดือนมีนาคม ส่วนจะได้เท่าใดนั้นจะต้องรอสรุปปิดตัวเลขรายได้ในสิ้นปีนี้ก่อน

 

ส่วนเดอะ มอลล์ กรุ๊ป อยู่ระหว่างพิจารณาการจ่ายโบนัส ซึ่งปกติจะไม่มีการแจ้งล่วงหน้า แต่จ่ายโบนัสให้กับพนักงานทุกปี แม้กระทั่งในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดก็ยังมีการจ่ายโบนัส เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน โดยจะจ่ายในปลายเดือนธันวาคมของทุกปี

 

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ยังคงแจกโบนัสเป็นประจำแบบรายไตรมาส ขึ้นอยู่กับผลงานของแต่ละแผนก/ฝ่ายเช่นเดิม

 

ด้านเครือสหพัฒน์ ทั้งบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปกติบริษัทไม่มีการประกาศแจกโบนัสให้พนักงานรับทราบล่วงหน้า แต่จะทราบตอนได้รับเงินเดือนในเดือนมกราคมหรือช่วงตรุษจีน ซึ่งแต่ละแบรนด์จะได้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับผลงานและยอดขาย

 

  • ภาคผลิตกลับมาฟื้นตัว

 

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวหลังโควิด-19 ทำให้โรงงานต่างๆกลับมาเดินสายการผลิตกันได้เพิ่มขึ้น หลายโรงงานประกาศให้โบนัสพนักงานเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อาทิ บริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้โบนัส 7.2 เดือน บวก 20,000 บาท และเงินพิเศษอีก 3,700 บาท พร้อมปรับขึ้นเงินเดือน 4.8% ซึ่งโบนัสจะจ่ายในสิ้นปีนี้

 

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู ผู้ผลิตและส่งออกทูน่ากระป๋องรายใหญ่ของโลก อยู่รหว่างพิจารณาจ่ายโบนัส 1-2.5 เดือนขึ้นกับผลประกอบการ โดยจะจ่ายครั้งแรกเดือนธ.ค. และจ่ายอีกครั้งช่วงเดือน มี.ค.หรือเม.ย.2566

รถยนต์อู้ฟู่ โบนัส 7-8 เดือน อีซูซุ โตโยต้า ยอดขาย-ส่งออกพุ่ง

  • โรงแรม-บริการมีเงินตอบแทนพิเศษ

 

ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในปีนี้ พนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษ 1 เดือน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะมีการจ่ายโบนัสเช่นกัน ซึ่งจะประกาศในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้

 

ส่วนธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมเชนหรือโรงแรมใหญ่ ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แม้จะไม่มีโบนัส แต่พนักงานก็กลับมาได้รับเซอร์วิส ชาร์จ กันแล้ว โดยเฉพาะไตรมาส 4 ปีนี้ จากนักท่องเที่ยวที่มีใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน เช่น โรงแรมโอ๊ควู๊ด สุขุมวิท ทองหล่อ ได้ 9,018 บาท

 

โรงแรมไอบิส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ 15,186 บาท โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพฯ 26,218 บาท โรงแรมยู สาทรกรุงเทพ 16,832 บาท โรงแรมพูลแมน แกรนด์ สุขุมวิท 22,243 บาท โรงแรมเมอร์เคียว สมุย 8,696 บาท โรงแรมโอเรียลเต็ล กรุงเทพฯ 34,000 บาท เป็นต้น

 

นายกรีฑากร ศิริอัฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และการเงิน บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของโบนัสจะใช้คำว่าอินเทนซีพ ซึ่งไม่เคยตัดออก เพราะเป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์ เบสอยู่แล้ว ถ้าพนักงานสามารถทำถึงเป้าที่ตั้งไว้ก็ได้อินเทนซีฟตามคอมมิตเม้นท์ ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะได้อินเทนซีพไม่เท่ากัน

 

  • อสังหาฯรอลุ้นโบนัส

 

ขณะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจรวมดีขึ้น แต่ยังเจอกับแรงกดดันเรื่อง “กำลังซื้อ” และ การเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทำให้ภาพรวมผลประกอบการ ปี 2565 ของอสังหาฯไทยในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2565 ครอบคลุม 37 บริษัท ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีรายได้รวมกันทะลุ 2.3 แสนล้านบาท มีกำไรเฉียด 3 หมื่นล้านบาท บวกขึ้นมา 28% คาดจะเป็นแรงหนุนให้ผู้ประกอบการบางบริษัท อัดฉีดเรียกขวัญกำลังใจพนักงานเหมือนช่วงเวลาที่เคยเฟื่องฟูก่อนหน้า เช่น บมจ.แสนสิริ, บมจ.ออริจิ้น ,บมจ.เสนาฯ และ บมจ.แอสเซทไวส์ เป็นต้น

 

มอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล เผยแพร่ผลสำรวจ Total Remuneration (TRS) ประจำปี 2565 กับองค์กร 636 แห่ง ใน 15 อุตสาหกรรมของประเทศไทย ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 คาดการณ์ว่า การจ่ายโบนัสจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3-2.5 เดือน สูงสุดอยู่ที่ 2.4 เดือน จากอุตสาหกรรมยา และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตดีในช่วงโควิด-19