มูลนิธิรักษ์ไทยยกระดับบริการเชิงรุกตั้งเป้ายุติเอดส์ 13 ปีพิชิต “เอดส์” เป็นศูนย์

30 พ.ย. 2560 | 10:51 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2560 | 17:51 น.
ปัจจุบันแม้ว่าการระบาดของเอชไอวีในประเทศไทย ได้ผ่านช่วงการระบาดสูงสุด โดยการติดเชื้อรายใหม่โดยรวมลดลง แต่การติดเชื้อยังคงสูงอยู่ โดยคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2558 มีจำนวน 6,900 คน ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวีเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันถึง 90% ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดแยกเป็น 45% เป็นการรับและถ่ายทอดเชื้อฯ จากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย 30% เกิดจากคู่สามีภรรยาหรือคู่ประจำที่ไม่ทราบว่าอีกฝ่ายติดเชื้อ 11% เกิดจากเพศสัมพันธ์ระหว่างพนักงานบริการและลูกค้า 10% เกิดจากผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด และ 4% เกิดจากเพศสัมพันธ์กับคู่ฉาบฉวยไม่ประจำ

พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการ มูลนิธิรักษ์ไทย สมาชิกองค์การแคร์นานาชาติ ได้กล่าวถึงปัญหาและเป้าหมายการยุติเอดส์ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันรักษ์ไทยได้ทำงานด้านการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ ร่วมกับ ภาครัฐ และองค์กรภาคีภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร โดยได้ยกระดับความร่วมมือเพื่อให้เกิดการเร่งรัดและยั่งยืนในการเข้าถึงการตรวจ วินิจฉัยและรักษา โดยมีเป้าหมายหลัก ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เพื่อยุติเอดส์ให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2573 ด้วยการลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้ต่ำกว่า 1,000 ราย (จากข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อปี พ.ศ. 2559 พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 6,176 คน) ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศสภาวะลงร้อยละ 90

rak1

โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 36 จังหวัดในการดำเนินงาน ปี 2561-2563 ใน 5 กลุ่มประชากรหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการแพร่ระบาดเชื้อสูงมากกว่ากลุ่มคนทั่วไป ได้แก่ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) กลุ่มสาวประเภทสอง (TG) 7 จังหวัด กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด (PWID) 19 จังหวัด กลุ่มประชากรข้ามชาติ (Migrant) 13 จังหวัด และกลุ่มผู้ต้องขัง (Prisoner) 36 จังหวัด และที่สำคัญยังต้องเชื่อมโยงบริการสุขภาพต่อเนื่อง 5 องค์ประกอบหลักคือ การเข้าถึง-การเข้าสู่บริการ-การตรวจหา-การรักษา-การคงอยู่ในระบบ (Reach-Recruit-Test-Treat-Retain) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนโลก (Global Fund) ตั้งแต่ปี 2546 แต่ปัจจุบันแต่การสนับสนุนจากกองทุนโลกกำลังจะหมดลง ภาครัฐก็ไม่มีเงินสนับสนุน ส่งผลกระทบในการยุติเอดส์อีก 13 ปีข้างหน้า

เพราะหากประเทศไทยจะลงทุนเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่ลงจากเดิมเกินกว่าร้อยละ 50 ต้องใช้งบประมาณเพิ่มถึง 3,325 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี และหากทำได้จริง จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ได้ประมาณ 20,000 คน ลดการสูญเสียชีวิตลง 22,000 คน ประเทศประหยัดงบประมาณได้ถึง 10,955 ล้านบาท
hiv

ด้านกฤษดากร สอทอง เจ้าหน้าที่วิชาการ มูลนิธิรักษ์ไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การรังเกียจและการตีตราในกลุ่มประชากรหลัก เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการเข้ารับการตรวจรักษา เพราะสังคมยังไม่เปิดรับ เช่น ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด พนักงานบริการ ชายรักชาย เพราะถูกตีตราว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เขาเหล่านั้นปกปิดตนเอง ไม่กล้าเปิดเผยที่จะเข้าทำการรักษา ศูนย์บริการโดยชุมชน จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เข้าสู่กระบวนการรักษาเร็ว และรับยาต้านเชื้อเป็นประจำตั้งแต่รับเชื้อในช่วงแรก ก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ โดยชุมชนจะตรวจและรู้เร็วในวันเดียว และที่สำคัญหากเร่งจำนวนการตรวจเพื่อทราบผลผู้รับเชื้อรายใหม่ และรักษาเร็ว ย่อมลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา จะนำไปสู่การยุติเอดส์ในปี 2573 ตามยุทธศาสตร์เอดส์ชาติได้ พร้อมแนวคิดการรณรงค์ “Right to Health” สิทธิสุขภาพ ปราศจากตีตรา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
e-book-1-503x62