ส่องโอกาส ‘แฟชั่นกัญชงไทย’ บนเวทีโลก ไปไกลได้แค่ไหน?

13 มี.ค. 2565 | 16:59 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2565 | 00:02 น.
2.5 k

ส่องโอกาส “กัญชง” บนเวทีแฟชั่นโลก กับโรดแมป 5 ปี สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง-ย่อม ปูทางบุกตลาดญี่ปุ่น อิตาลี และอเมริกา

กัญชง อดีตพืชที่ถูกจัดเป็นหนึ่งในยาเสพติดและต้องปลูกภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด วันนี้ถูกหลายฝ่ายปลุกปั้นให้เป็น “พืชเศรษฐกิจ” ตัวใหม่ นอกจากมุมอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและอาหารเสริมที่ดูเหมือนคึกคักเป็นพิเศษ อีกมุมที่น้อยคนจะพูดถึงคือ “แฟชั่นกัญชง” หรือการนำเส้นใยไปใช้ประโยชน์ในด้านสิ่งทอ

 

วันนี้เส้นทางแฟชั่นกัญชงดูสดใสขึ้น เมื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED ถูกกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP) กระทรวงพาณิชย์ ยกให้เป็นแม่งานผลักดันสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ทำจากเส้นใยและผลิตภัณฑ์ใยกัญชงไปแจ้งเกิดในตลาดโลก แต่คำถาม คือ แฟชั่นกัญชงไทยอยู่ตรงไหน ไปต่อที่ไหน แล้วจะไปต่อได้อย่างไร?

แฟชั่นกัญชง

งานนี้ ISMED เลยต้องคิด ทางเดินพร้อมปูพรมแดงให้ แฟชั่นกัญชงไทย ไปเฉิดฉายบนเวทีโลก จนออกมาเป็นโรดแมป 5 ปี โดยปีแรก เป็นการกำหนดตลาดเป้าหมายที่ต้องการบุกใน 3 ประเทศคือ ญี่ปุ่น อิตาลี และอเมริกา ปีที่ 2 เป็นปีที่ ISMED มองแล้วว่าควรจะต้องมี collection สิ่งทอกัญชงแรกออกสู่ตลาดในแต่ละประเทศเป้าหมาย ซึ่งทั้งสามประเทศนี้ collection ที่ออกมาจะแตกต่าง เพราะแต่ละพื้นที่มีพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต่างกัน ควบคู่ไปกับการสร้าง brand awareness

 

หลังจากนั้นปีที่ 3 จะเข้าสู่กระบวนการในการเรียนรู้ตลาดว่า collection สิ่งทอกัญชงที่ออกสู่ตลาดไปแล้วนั้นรุ่งหรือร่วง และในปีที่ 4-5 เข้าสู่การปรับสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด

 

นัยสำคัญอีกประการคือ ไทยตั้งธงแล้วว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ กัญชงจะต้องกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้าง GDP ให้ประเทศได้ไม่น้อยกว่า 1% ของภาคการผลิตภายในระยะ 5 ปีและมีการคำนวณออกมาแล้วว่าถ้าจะทำให้ผลิตภัณฑ์กัญชงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดได้ในระยะเวลา 5 ปี มูลค่าของผลิตภัณฑ์กัญชงควรจะมีประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นมูลค่าที่ค่อนข้างสูง แต่อย่าลืมว่ามูลค่าตรงนี้มาจากการใช้ประโยชน์ของทุกส่วนของพืชกัญชงไม่ใช่เฉพาะสิ่งทอ

แฟชั่นกัญชง

ดร.ช่อทิพย์ วิเศษพงษ์พันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสมรรถนะธุรกิจสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สะท้อนประเด็นนี้อย่างน่าสนใจว่า เฉพาะสิ่งทอหรือเครื่องนุ่งห่มที่ไทยกำลังสนใจอยู่นี้ ศูนย์วิจัยกรุงศรีได้ประมาณการการเติบโตของธุรกิจกัญชงอยู่ที่ประมาณ 126% ต่อปีเพราะฉะนั้นคาดว่าในปี 2570 มูลค่าตลาดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มจากกัญชงน่าจะอยู่ที่หลักหมื่นล้านบาท ถ้าเริ่มต้นจากปี 2566 ในแง่ของอุตสาหกรรมน่าจะสร้างรายได้อยู่สักประมาณ 390 ล้านบาทแล้วค่อยๆ เติบโตขึ้นไป

 

ปัญหาที่ว่าซัพพลายกัญชงเพียงพอหรือไม่กับความต้องการในตลาด ก็ไม่ต่างกับการตั้งคำถามว่า ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน, demand จะมาก่อนหรือ supply จะมาก่อน ฝั่งคนซื้อก็บอกว่าเธอปลูกสิแล้วฉันจะซื้อ ส่วนคนปลูกก็บอกว่าเธอซื้อก่อนสิแล้วฉันจะปลูก ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่ในไทยแต่เป็นกันทั้งโลก

 

การที่จะมีผลผลิตตรงนี้ขึ้นมาได้ ซัพพลายอยู่ตรงไหน? ซัพพลายก็ต้องเป็นการปลูกในประเทศ คุณภาพของเส้นใยที่เหมาะสมกับการนำไปใช้ทำเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม จะต้องปลูกไม่เกิน 90 วันจะได้เส้นใยที่มีความละเอียดและนุ่ม ส่วนเส้นใยที่ได้จากการปลูก 180 วันจะเหมาะกับการทำเส้นด้ายขนาดใหญ่หรือเส้นใยที่ต้องการความเหนียวหรือผ้าสำหรับทำรองเท้าผ้าใบหรือทำยีนส์

 

ปัญหาก็คือปัจจุบันประเทศ ไทยยังไม่อนุญาตให้นำเข้าเมล็ดพันธุ์เพื่อประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการปลูก แต่การปลูกเพื่อเอาเส้นใยหนึ่งไร่หนึ่งจะปลูกโดยใช้เมล็ดประมาณ 10-15 กิโลกรัม ใน 1 กิโลกรัมมี
เมล็ด 30,000 เมล็ด ซึ่ง “ไม่พอ” ดังนั้นแล้วคลัตเตอร์แรกที่ควรจะต้องเกิดขึ้นมาก็คือคลัตเตอร์เมล็ดพันธุ์ เพาะเมล็ดพันธุ์เป็นตัวหลักเพื่อนำไปปลูกต่อ เพื่อให้มีเมล็ดพันธุ์ที่กัญชงที่เพียงพอสำหรับนำไปปลูกเอาเส้นใย

แฟชั่นกัญชง

เพราะฉะนั้นถ้าปี 2570 ไทยจะสร้างรายได้หลักหมื่นล้านบาท ควรจะต้องมีพื้นที่ปลูกประมาณ 1.3 แสนไร่แต่ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบคือสามารถปลูกได้ 2 รอบต่อปีเป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้นก็อาจใช้พื้นที่ไม่เยอะแค่ 6 หมื่นไร่ก็พอแล้ว

 

หลังจากปัญหาซัพพลายมีทางออกแล้ว ความฝันที่สิ่งทอกัญชงไทยจะไปสู่ตลาดโลกมีโอกาสมากน้อยแต่ไหนนั้น นางสาวดวงฤทัย ภูมิพิเชฐ ผู้จัดการ บริษัท ดี ดี เนเจอร์คราฟท์ จำกัด ผู้ซึ่งควํ่าหวอดในวงการสิ่งทอกัญชงมานับ 17 ปีตั้งแต่กัญชงยังถูกตีตราว่า “ผิดกฎหมาย” เปิดประเด็นที่น่าสนใจว่า “ตั้งแต่เริ่มทำงานมา สินค้าผลิตภัณฑ์จากกัญชงเราส่งไปที่ไหนไม่เคยเหลือ และราคาไม่เคยถูกต่อเลยแม้ว่าราคาจะแพงมาก แพงยิ่งกว่าไหมอีก”

แฟชั่นกัญชง

หนึ่งในเหตุผลที่สิ่งทอกัญชงเนื้อหอมในต่างประเทศที่คนไม่ค่อยรู้คือ กัญชงตอบโจทย์เรื่องของ stop global warming ทำไมกัญชงถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม? นั่นเพราะว่ากัญชงใช้นํ้าน้อย ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แถมยังดูดคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย เพราะฉะนั้นแล้วถ้าใครก็ตามที่ปลูกกัญชงเยอะๆท้ายที่สุดก็จะได้คาร์บอนฟุตพริ้นท์คืน และในอนาคตใกล้ๆ นี้กฎหมายในยุโรปเปิดโอกาสให้คนที่ใช้สิ่งเหล่านี้ได้ภาษีคืน เพราะฉะนั้น “กัญชงไม่เคยราคาถูก” แม้แต่ในประเทศไทยก็ยังเป็นตลาดพรีเมี่ยม

 

แม้จะมีเป้าหมายที่ชัดเจน และโรดแมปในการปูทางสู่ตลาดโลกรวมทั้งคำยืนยันจากผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดมาอย่างยาวนานว่า สิ่งทอกัญชงไทย ไปตลาดโลกได้อย่างแน่นอน แต่ก็ยังต้องตามลุ้นกันต่อว่าจะมีผู้ประกอบการสักกี่ราย จะมีแบรนด์แฟชั่นกัญชงไทยสักกี่แบรนด์ที่ไปปักหมุดในตลาดโลกได้บ้าง