จากกระแสข่าว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) ฉบับใหม่ โดยเน้นไปที่การให้การรักษามะเร็งโดยตรง ได้แก่ รังสีรักษา เคมีบำบัด ผ่าตัด และฮอร์โมน เกิดเป็นข่าวว่า สปสช. ยกเลิก โครงการ "มะเร็งรักษาทุกที่" นั้
ความคืบหน้าล่าสุด นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า สปสช. ขอยืนยันว่า โครงการมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) รวมถึงภาวะแทรกซ้อนและโรคร่วมโรคแทรกยังมีอยู่ ไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใดโดยผู้ป่วยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา สปสช. ได้หารือร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนแพทย์ ได้แก่ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาภรณ์ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น และมีข้อสรุปร่วมกัน 3 ข้อ ดังนี้
1. สปสช.จะผ่อนผันการบังคับใช้ประกาศมะเร็งรักษาทุกที่ฉบับใหม่ออกไปก่อนเป็นระยะเวลา 3 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -31 มี.ค. 68
2. ระหว่าง 3 เดือนนี้ ผู้ป่วยมะเร็งยังคงใช้บริการตามแนวทางมะเร็งรักษาทุกที่หรือ Cancer Anywhere เหมือนเดิม โดยผู้ป่วยรายเดิมยังคงเป็น Cancer Anywhere ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวเพื่อประกอบการเบิกจ่ายงบประมาณ สปสช.จะจัดสรรงบให้หน่วยบริการโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
ส่วนผู้ป่วยที่ทาง รพ.รับส่งต่อต้องการดูข้อมูล ผู้ป่วยสามารถดูผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ TCB Plus ของสถาบันมะเร็ง กรมการแพทย์ และ Health Link ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อใช้ลงทะเบียน รับส่งต่อและดูข้อมูลผู้ป่วย ขณะที่หน่วยบริการใช้ระบบการเบิกจ่ายเหมือนเดิม
3. ภายใน 3 เดือนนี้จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อหารือร่วมกันโดยยึดหลักการผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะทำงานร่วมโดยมอบให้ นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เป็นประธาน ในการหาข้อสรุปประเด็นปัญหาการดำเนินงานโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และวางแผนเสนอการทำโครงการนี้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและหน่วยบริการในอนาคต
ในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการบริการ ยาที่ใช้ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ งบประมาณ และภาระงานที่เกิดขึ้น รวมถึงการเบิกจ่ายต่าง ๆ โดยจะมีการสรุปและทำข้อเสนอซึ่งจะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 15 มกราคม 2568