"ภูมิคุ้มกันบำบัด" ฝีมือนักวิจัยไทย ทางเลือกใหม่ สู้ "มะเร็งเต้านม" 

07 พ.ย. 2567 | 12:20 น.

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ประกาศเดินหน้าวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิคุ้มกันบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลสำหรับคนไทย

7 พฤศจิกายน 2567 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ จำนวนมากกว่า 11 ล้านคนจากทั่วโลก ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งกว่า 60,000 คน จากผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมดประมาณ 120,000 คน โดยโรคมะเร็งเต้านมยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้หญิงและมีแนวโน้มอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นทุกปี 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ จึงได้ร่วมมือกับศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ดำเนินการวิจัยการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced therapy medicinal products) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 

โดย ศูนย์ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดทำโครงการวิจัยเพื่อเตรียมผลิตภัณฑ์ภูมิคุ้มกันบำบัด (Natural Dendritic Cells ; nDCs) สำหรับใช้ในการรักษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโดยได้มีส่วนร่วม ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาวิธีการเตรียมเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดในห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จนได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Prototype) ตลอดจนการควบคุมการเตรียมเซลล์ในห้องปฏิบัติการสะอาด ให้เป็นไปตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (GMP Compliance) สำหรับใช้ในการวิจัยทางคลินิก

รวมถึงการพัฒนาวิธีควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เซลล์ ซึ่งประกอบด้วย การตรวจคุณสมบัติของเซลล์ (Identity) ด้วยเทคนิคการตรวจแอนติเจนบนผิวเซลล์ (Flow Cytometry), การตรวจความบริสุทธิ์ (Purity), การทดสอบ การปนเปื้อนจุลชีพ (Sterility) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดที่เตรียมได้นั้น มีความปลอดภัย สำหรับการนำไปรักษาในผู้ป่วย

นายแพทย์ยงยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันสามารถเตรียมผลิตภัณฑ์เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไปแล้วจำนวน 18 ราย โดยในทุกรอบการเตรียมที่ผ่านมา ผลการทดสอบทุกรายการผ่านตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงเดินหน้าวิจัยพัฒนางานด้านผลิตภัณฑ์เซลล์บำบัดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลสำหรับประชาชนคนไทย