โอกาส แพทย์แผนไทย สปสช. เปิดทางร่วม 30 บาทรักษาทุกที่

01 ต.ค. 2567 | 04:00 น.

รองเลขาธิการ สปสช. เผย คลินิกแพทย์แผนไทยร่วมให้บริการ "30 บาทรักษาทุกที่" กว่า 300 แห่ง ยอดผู้ใช้บริการแตะ 7 พันครั้ง คาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้าน "เอช.เอ.บี คลินิกการแพทย์แผนไทย" ระบุ เป็นช่วงนาทีทอง เปิดโอกาสแพทย์แผนไทยโชว์ฝีมือวิชาชีพ สานต่อการแพทย์ของไทยให้คงอยู่  

จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ของรัฐบาล เพื่อดูแลสุขภาพคนไทย ล่าสุด ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยความก้าวหน้าล่าสุดว่า ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่ง สปสช. ให้ความสำคัญต่อการแพทย์แผนไทยที่เป็นสมบัติของประเทศ จึงมีนโยบายสนับสนุนเพื่อเกิดการขยายและต่อยอดบริการแพทย์แผนไทย

นอกจากในโรงพยาบาลแล้ว สปสช. ยังสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับบริการที่คลินิกแพทย์แผนไทยที่เป็นเอกชน และเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมกับ สปสช. ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน และขอขอบคุณคลินิกแพทย์แผนไทยที่ได้เข้ามาร่วมดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท

ทั้งนี้ ข้อมูลในระบบของ สปสช. ณ ปัจจุบัน ( 25 ก.ย. 67) ระบุว่า มีคลินิกการแพทย์แผนไทยที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. แล้ว จำนวน 315 แห่ง มีประชาชนเข้ารับบริการแล้ว 781 คน เป็นจำนวน 7,029 ครั้ง และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น 

ด้านนายประเสริฐ ประกฤติพงศ์ ผู้บริหาร เอช.เอ.บี คลินิกการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ทางคลินิกฯ ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เพื่อให้บริการการแพทย์แผนไทยกับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ของรัฐบาล

นายประเสริฐ ประกฤติพงศ์ ผู้บริหาร เอช.เอ.บี คลินิกการแพทย์แผนไทย เหตุผลของการเข้าร่วมเพราะมองว่า เป็นนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ ทั้งน่าจะถูกใจประชาชนมากที่สุด เนื่องจากทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้นและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนจะมีทางเลือกในการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการนวัตกรรมใกล้บ้านได้ ไม่จำกัดเฉพาะที่โรงพยาบาลเหมือนในอดีตที่ทำให้เกิดความแออัดมากขึ้น

สำหรับการให้บริการการตามนโยบายนั้น อาทิ หากผู้ใช้สิทธิบัตรทองฯ มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ปวดหัวก็สามารถไปรับบริการที่คลินิกแพทน์แผนปัจจุบัน หรือร้านยาได้ หรือกรณีที่ไม่ต้องการรับบริการแผนปัจจุบันก็สามารถรับบริการที่คลินิกแพทย์แผนไทยได้เช่นกัน โดยจะใช้องค์ความรู้ของศาสตร์การแพทย์แผนไทยในการรักษา ทั้งขั้นตอนในการเข้ารับบริการก็สะดวก

ผู้ป่วยสามารถ walk in มาที่คลินิกฯ ได้เลย โดยคลินิกฯ จะใช้บัตรประชาชนในการตรวจสอบสิทธิและยืนยันตัวตน หลังจากนั้นจึงทำการตรวจและวางแผนการรักษา ที่เป็นไปเงื่อนไขสิทธิประโยชน์บริการแพทย์แผนไทยที่ สปสช. กำหนด 

อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบัน สปสช. จะให้สิทธิในการเบิกจ่ายค่าบริการของแพทย์แผนไทยได้จำนวน 7 รายการ แต่ยังจำกัดอยู่ในโรงพยาบาล ขณะที่ในส่วนของคลินิกแพทย์แผนไทย กำหนดให้บริการได้เพียง 3 รายการ คือ นวดแผนไทย ประคบด้วยสมุนไพร และนวด+ประคบ เท่านั้น

โอกาส แพทย์แผนไทย สปสช. เปิดทางร่วม 30 บาทรักษาทุกที่

ดังนั้น ขอบเขตจึงทำได้เพียงการบริการเบื้องต้น ทั้งที่คลินิกฯ มีศักยภาพการดูแลผู้ป่วยมากกว่านี้ เช่น การดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเข่า โดยวิธีพอกยารักษาอาการปวด หรือการดูแลคุณแม่หลังคลอด แต่ตอนนี้ยังเป็นรายการบริการที่เบิกไม่ได้ ซึ่งประชาชนยังคงต้องจ่ายเงินเอง

ดังนั้น ในอนาคตหวังว่า สปสช. จะขยายขอบเขตบริการที่คลินิกฯ มากกว่านี้ โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เนื่องจากขณะนี้เราได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เท่ากับเป็นการเพิ่มสิทธิการดูแลให้กับประชาชนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันสิทธิประโยชน์บริการแพทย์แผนไทยที่คลินิกฯ จะยังไม่มาก แต่ก็รู้สึกขอบคุณ สปสช. ที่เปิดโอกาสให้เข้าร่วมนโยบาย เพราะนอกจากได้ร่วมดูแลสุขภาพประชาชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมศาสตร์การแพทย์ประจำชาติของไทยไม่ให้สูญหายไป และขอฝากถึงเพื่อนแพทย์แผนไทยว่า นโยบายนี้ถือเป็นนาทีทองของการแพทย์แผนไทยที่ สปสช. เปิดโอกาสให้แสดงฝีมือ หลังจากนี้การแพทย์แผนไทยจะได้รับการยอมรับหรือไม่อยู่ที่การแสดงฝีมือของเราแล้ว 

โอกาส แพทย์แผนไทย สปสช. เปิดทางร่วม 30 บาทรักษาทุกที่

บางคนอาจคิดว่าการเข้ามาร่วมงานกับ สปสช. แล้วได้เงินเบิกจ่ายค่าบริการน้อยมาก แต่อยากให้คิดอีกมุมหนึ่งว่าเป็นตอบสนองความต้องการทางจิตใจที่ทำให้เราตัดสินใจมาทำหน้าที่หมอเพื่อดูแลผู้ป่วย ถ้าอยากให้ความเป็นหมอของเราอยู่ติดตัว ได้ดูแลคนในชุมชน และภูมิใจในศาสตร์แพทย์แผนไทยที่เป็นการแพทย์ของประเทศแล้ว ตอนนี้เป็นนาทีทองในการใช้วิชาชีพดูแลสังคมอย่างจริงจัง ผู้บริหาร เอช.เอ.บี คลินิกการแพทย์แผนไทย กล่าว