ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ฟรี ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

25 ส.ค. 2567 | 03:00 น.

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชวนผู้หญิงไทยอายุ 40 ปีขึ้นไปหรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม รับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมฟรี ด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ ตรวจสอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทั้งหมดได้ที่นี่

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชวนผู้หญิงไทยอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม รับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมฟรี ด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เพื่อเพิ่มโอกาสตรวจพบมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น และรับการรักษาอย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ปี 2565 ระบุว่า หญิงไทยพบเป็น มะเร็งเต้านม มากที่สุด 38,559 ราย รองลงมา คือ มะเร็งปากมดลูก 12,956 ราย สำหรับโรคมะเร็งเต้านมส่วนมาก พบในหญิงอายุ 60 ปี ขึ้นไป มากที่สุด จำนวน 19,776 ราย รองลงมา คือ อายุ 50 – 59 ปี จำนวน 12,181 ราย และ อายุ 40 – 49 ปี จำนวน 5,177 ราย

ชี้ให้เห็นว่า โรคมะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบใกล้ตัว เนื่องจากในระยะแรกของการเป็นมะเร็งเต้านมจะไม่แสดงอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด จะปรากฏอาการผิดปกติให้เห็น เมื่ออยู่ในระยะที่ก้อนมะเร็งมีการอักเสบ และลุกลามไปทั่วแล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก

ล่าสุด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ชวนหญิงไทยเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ ฟรี โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

เงื่อนไขการรับบริการ

  • ผู้หญิงไทย ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม
  • มีใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่ามีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม
  • ไม่เคยใช้สิทธิกองทุนตรวจแมมโมแกรมมาก่อนภายใน 2 ปี

ช่องทางการติดต่อ

ติดต่อขอรับบริการได้ที่งานเวชระเบียน (เคาน์เตอร์ A3 ) ชั้น 1 อาคารดำรงนิราดูร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โทร. 0 2202 6800 ต่อ 1127

รู้จักมะเร็งเต้านม 

มะเร็งเต้านม เกิดเนื่องการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอก โดยหากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งจะโตขึ้นและกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ก่อนที่จะกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

สำหรับประเทศไทยนั้นข้อมูลจาก Globocan ปี 2020 มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในเพศหญิง (22.8%) ตามมาด้วยมะเร็งลำไส้ (10.7%) และมะเร็งปากมดลูก (9.4%) ตามลำดับ

ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม

  • เพศหญิง (มีโอกาสพบในเพศชายเพียง 1% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด)
  • อายุที่มากขึ้น (เริ่มพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40-50 ปี)
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่กินยาฮอร์โมนทดแทน
  • การมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ เนื่องจากอาจสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านมชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งพบได้

อาการของมะเร็งเต้านม

  • คลำพบก้อนที่เต้านม (90%)
  • ความผิดปกติของหัวนม ได้แก่ มีการดึงรั้งจนหัวนมบุ๋มลง มีน้ำเหลือง/เลือดออกทางหัวนม
  • คลำพบต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ (5-10%)

ดังนั้น หากคลำพบก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ แม้ว่าจะไม่มีอาการปวด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรีบวินิจฉัยสาเหตุ

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในเพศหญิง และเป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถตรวจคลำได้ด้วยมือจากภายนอก ข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะต้นสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาดได้

กล่าวคือ หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม โอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปีของมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 และ 2 สูงถึง 98% และ 88% ตามลำดับ ตามแนวทางของสถาบันมะเร็งแห่งชาติแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ดังนี้

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง:

  • ควรคลำเต้านมทุกเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ หลังหมดประจำเดือน 2-3 วัน เนื่องจากจะคัดเต้านมน้อย

การตรวจเต้านมโดยแพทย์:

  • แนะนำให้ตรวจปีละ 1 ครั้งในผู้ป่วยที่อายุ 40 ปีขึ้นไป

การถ่ายภาพเอ็กเรย์เต้านม (Mammography)

  • เป็นการตรวจที่มีความไวมากกว่าการคลำ สามารถตรวจพบก้อนมะเร็งขนาดเล็กๆได้ อาจทำร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ (ultrasonography) ในคนไข้ที่เนื้อเต้านมค่อนข้างแน่น แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปี โดยตรวจต่อเนื่องทุก 1-2 ปี หรือถี่กว่านั้นหากตรวจพบความผิดปกติ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม เช่น มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเร็วขึ้น คือควรตรวจตั้งแต่อายุที่ญาติเป็นมะเร็งลบด้วย 5-10 ปี

โดยเมื่อตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจคัดกรอง แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อเต้านมหรือต่อมน้ำเหลือง โดยใช้เข็มเจาะตัดเนื้อเยื่อ (core needle biopsy) หรือใช้เข็มเจาะดูดเซลล์ (Fine needle aspiration) เพื่อนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือเซลล์ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อหาชนิดของมะเร็งเต้านม

ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ฟรี ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

ข้อมูล กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขมหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก