หมอยง เผย คนเกิดหลังปี 2523 เสี่ยงฝีดาษวานร เหตุไม่ได้ปลูกฝี

23 ส.ค. 2567 | 11:10 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2567 | 11:14 น.

หมอยง เผย ฝีดาษวานรสายพันธุ์ 1b แพร่เชื้อง่าย รุนแรงกว่าเดิม ชี้คนไทยรุ่นใหม่ขาดภูมิคุ้มกันฝีดาษ เสี่ยงติด MPOX มากกว่าคนรุ่นก่อน แนะกลุ่มเสี่ยงระวังตัวเป็นพิเศษ

เกาะติดสถานการณ์โรคฝีดาษวานรล่าสุด โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวให้ความรู้เกี่ยวกับโรคฝีดาษวานร MPOX มาต่อเนื่อง 

หมอยง ระบุว่า โรคฝีดาษวานร เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีระยะฟักตัวประมาณ 5 – 14 วัน (ช้ากว่าโควิด 19) โดยจะเริ่มอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เหมือนไข้ในโรคไวรัสทั่วๆ ไป หลังจากมีไข้แล้วประมาณ 1 – 2 วัน ก็จะมีตุ่มขึ้น โดยที่ตุ่มที่ขึ้น จะมากหรือน้อย แล้วแต่บุคคล หรือภูมิต้านทานของโรค

ผู้ป่วยจำนวนมากจะมีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ รอบก้น ในเด็ก จะขึ้นได้ทั่วไป บริเวณไหนก็ได้ ลักษณะของตุ่มที่ขึ้นจะแตกต่างกับสุกใส คือในฝีดาษวานร ตุ่มเกือบทั้งหมดจะมีระยะเดียวกัน และจะสุกพร้อมกัน ซึ่งต่างกับสุกใส ตุ่มจะมีหลายระยะ บางตุ่มใสแล้ว บางตุ่มเพิ่งขึ้นแดงๆ ตุ่มของฝีดาษจะขึ้นที่มือและเท้า ที่ฝ่ามือฝ่าเท้า มากกว่าลำตัวซึ่งต่างกับสุกใส จะขึ้นที่ลำตัวมากกว่า

เมื่อตุ่มที่ใสในฝีดาษวานร จะบุ๋มตรงกลาง หรือที่เรียกว่า umbilicated lesion ส่วนสุกใสจะมีลักษณะใส ชัดเจน ผู้ที่มีผื่นตามตัวหรือแพ้ง่าย ผื่นจะมีโอกาสขึ้นได้มาก และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้มือไปแกะเกา แล้วมาขยี้ตา ก็อาจจะเกิดรอยโรคขึ้นที่ตา และเยื่อบุนัยน์ตา

ต่อมาก็จะตกสะเก็ด ตุ่มที่เกิดขึ้นรวมทั้งสะเก็ด มีเชื้อไวรัสจำนวนมาก สามารถติดต่อได้ ลักษณะอาการกว่าจะหายหมดใช้เวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ จนมั่นใจว่าตุ่มทุกตุ่มหายไป และไม่มีสะเก็ดหลงเหลืออยู่

ผู้สัมผัสโรค จะต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 21 วัน ถ้าไม่มีอาการก็ไม่น่าจะติดโรค

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ฝีดาษวานร MPOX กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงของโรค บุคคลที่ติดเชื้อฝีดาษวานรแล้ว จะทำให้เกิดโรครุนแรง ที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมี ดังนี้

บุคคลที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อ HIV และไม่ได้รับการรักษา กินยากดภูมิต้านทาน โรคเรื้อรังที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำร่างกายอ่อนแอ

  • เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี
  • บุคคลที่มีผื่นภูมิแพ้เรื้อรัง eczema
  • สตรีตั้งครรภ์

การติดต่อของสายพันธุ์ 1b สามารถติดต่อได้ทางฝ่ายละอองที่ออกมาทางจมูกและปาก และการสัมผัสกับผู้ป่วย การสัมผัสฝอยละออง การติดต่อจึงง่ายกว่าสายพันธุ์ 2b จึงทำให้มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้

ความรุนแรงของโรคสายพันธุ์ 1b มีความรุนแรงมากกว่า 2b ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะการติดเชื้อในวัยเด็กและเด็กส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ซึ่งต่างกับผู้ใหญ่ที่มีอายุมาก โดยเฉพาะที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ส่วนใหญ่เคยปลูกฝี ป้องกันฝีดาษหรือไข้ทรพิษมาแล้ว จึงมีภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์ที่มาปกป้องหรือลดอาการของโรคได้บางส่วน

ทำไมผู้สูงอายุจึงไม่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสำหรับ Mpox

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เคยได้รับวัคซีนป้องกันฝีดาษมาแล้ววัคซีนดังกล่าวเมื่อปลูกฝีแล้วสามารถมีภูมิต้านทานต่อไข้ทรพิษได้ตลอดชีวิต และขณะเดียวกันสามารถข้ามไปปกป้องสายพันธุ์ Mpox ได้ด้วยถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ จึงสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือลดความรุนแรงของโรคลงได้ 

ประเทศไทย เลิกปลูกฝีอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี พ.ศ 2523 ที่จริงแล้วการปลูกฝีเริ่มปลูกน้อยลงตั้งแต่ปีพ.ศ 2517  และเลิกเป็นทางการในปี 2523  แสดงว่าผู้ที่เกิดหลังปี 2523  จะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการปลูกฝี จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เสี่ยงต่อการติด Mpoxได้มากกว่าผู้ที่เคยปลูกฝีแล้ว