จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือของไทยเวลานี้ มีรายงานว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เรียกประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารสาธารณสุขจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ ที่ศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นหน่วยงานที่ต้องช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจึงต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเร่งด่วนโดยขอเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้เตรียมความพร้อม ทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์
ส่วนจังหวัดไหนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบก็ขอให้บุคลากรทางการแพทย์ เตรียมร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอเมื่อมีเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทัน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์ว่า ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.-15 ส.ค.67 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 24 จังหวัด 18,500 ครัวเรือน
ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันมีจังหวัดได้รับผลกระทบ 10 จังหวัดซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ หรือ เขตสุขภาพที่ 1 พบว่า มีสถานบริการได้รับผลกระทบจำนวน 6 แห่ง คือ รพ.สต.แม่อิง จ.พะเยา, รพ.สต.บุญเกิด จ.พะเยา, รพ.สต.ดอนสิลา จ.เชียงราย, รพ.สต.ตับเต่า จ.เชียงราย, สสอ.เทิง จ.เชียงราย และ รพ.สต.นาเฉลียง
ส่วนการช่วยเหลือประชาชน ได้มีการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 2,200 ชุด พร้อมยาชุดแพทย์แผนไทย เช่น ยาฟ้าทะลายโจร 399 ขวด ยาหอมนวโกฐ 1,100 ซอง ยาปราบชมพูทวีป 569 ขวด ยาธาตุบรรจบ 1,984 ซอง ยาจันทน์ลีลา 473 ขวด
ขอให้ทุกหน่วยงานทบทวนและซักซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และหน่วยบริการทุกแห่ง พร้อมขอให้ดำเนินการดังนี้
1.จังหวัดที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่รับน้ำพิจารณาดำเนินการเปิด PHEOC เพื่อติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรายงานการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIs) กองสาธารณสุขฉุกเฉินสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
2.เน้นย้ำให้มีการติดตามสภาพภูมิอากาศ เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามระดับน้ำ รวมถึงให้มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่จังหวัดที่มีเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำหรือลำน้ำต่าง ๆ ที่อาจจะมีน้ำล้นตลิ่ง หรือน้ำพังพนังกั้นน้ำมาได้
3.กรณีเหตุการณ์ที่เข้าเกณฑ์ DCIRs ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายงานไปยังกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
4.เน้นย้ำการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม อาทิ โรคฉี่หนู โรคตาแดง และโรคไข้เลือดออก รวมถึงการดูแลสุขอนามัยของประชาชนในศูนย์พักพิงชั่วคราว (Shelter) ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการปฏิบัติหน้าที่เป็นสำคัญ
5.การจัดบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขระหว่างเกิดอุทกภัย รวมถึงการประเมินผลกระทบและดำเนินการฟื้นฟูต่อไป นายสมศักดิ์ รมว.สาธารณสุข กล่าว