อาการ ฝีดาษวานร ที่ควรระวัง เช็คกลุ่มเสี่ยง ช่องทางการติดต่อ 

22 ส.ค. 2567 | 03:00 น.

เฝ้าระวัง โรคฝีดาษวานรสายพันธุ์ใหม่ กรมควบคุมโรค สรุปอาการที่ต้องระวัง กลุ่มเสี่ยง พร้อมช่องทางการติดต่อ หลังพบผู้ป่วยต้องสงสัยสายพันธุ์ Clade I ชาวยุโรปเดินทางเข้าไทยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 

โรคฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร (Monkeypox) ได้รับความสนใจจากประชาชนอีกครั้งหลังปรากฎข่าวมีรายงานจากกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และกองระบาดวิทยาว่า พบผู้ต้องสงสัยฝีดาษวานรสงสัยสายพันธุ์ Clade I (เคลดวัน) เป็นชายชาวยุโรป อายุ 66 ปีเดินทางมาจากทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ โรคฝีดาษวานร ในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกามีสถานะเป็น "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 เพื่อร่วมสร้างการตระหนักรู้ให้กับประชาชน ไม่ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองได้ ฐานเศรษฐกิจ พาไปรู้จักกับ โรคฝีดาษวานร กันให้มากขึ้น

โรคฝีดาษวานร คืออะไร 

โรคฝีดาษวานร เกิดจากเชื้อไวรัส ตระกูลเดียวกับโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ มีความรุนแรงน้อยกว่า ผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกันมีผื่น ตุ่มหนอง ตามร่างกาย 

จากข้อมูลกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ กรมควบคุมโรค ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์สายพันธุ์ของเชื้อฝีดาษวานรในประเทศไทย ด้วยการสุ่มตรวจทางห้องปฏิบัติการมาโดยตลอด 

ล่าสุดจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม จำนวน 191 ราย ผลการวิเคราะห์ แบ่งได้เป็น 8 สายพันธุ์ย่อย คือ A.2, A.2.1, B.1, B.1.12, B.1.3, B.1.7, C.1 และ C.1.1

พบมากที่สุด คือ สายพันธุ์ย่อย C.1  คิดเป็นสัดส่วน 85.34%  รองลงมา คือ สายพันธุ์ย่อย A.2.1 (5.76%) ตามด้วย สายพันธุ์ย่อย C.1.1 (3.66%) และ สายพันธุ์ย่อย A.2 (2.09%) ตามลำดับ

สำหรับสายพันธุ์ย่อย C.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่ในประเทศไทยซึ่งแตกต่างจากในช่วงแรกของสถานการณ์ระบาดที่เป็นสายพันธุ์ย่อย A.2 ทั้งนี้ บ่งชี้ถึงการวิวัฒนาการของไวรัสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการสะสมของการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น เพื่อปรับตัวตลอดเวลา สายพันธุ์ย่อย C.1 ถือว่า มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น

เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ Clade I (เคลดวัน) ที่มีการระบาดอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยเคลดวัน มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10% ในขณะที่Clade II ทั้ง เคลดทูเอ (Clade IIa), เคลดทูบี (Clade IIb) ซึ่งรวมถึง C.1 มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าเพียง 1% โดยทั่วไปเคลดทู Clade II (รวมถึง C.1) มีลักษณะการแพร่เชื้อที่ไม่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตต่ำในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ

ปัจจุบันได้จำแนกไวรัสฝีดาษวานร ออกเป็น 3 สายพันธุ์หลัก คือ

  • เคลดวัน Clade I
  • เคลดทูเอ Clade IIa
  • เคลดทูบี Clade IIb

สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในไทย

ขณะที่สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในเดือนกรกฎาคม 2565 จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วยรวม 787 ราย เป็นเพศชาย 768 ราย (ร้อยละ 97) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เชียงใหม่ ระยอง และอุดรธานี ตามลำดับ 

ข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระยะและเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเม.ย. (หลังเทศกาลสงกรานต์) จนถึงเดือน พ.ค. จึงต้องเฝ้าระวังพร้อมป้องกัน ลดเสี่ยง ลดโรค

ประชาชนที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือการสัมผัสใกล้ชิด แนบแน่น กอดจูบ ลูบ คลำ พูดคุยระยะ 1 เมตรโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือเคยดูแลผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร ให้สังเกตอาการตนเองเบื้องต้นภายหลังสัมผัสผู้ป่วย หรือมีความเสี่ยงภายใน 21 วัน ดังนี้

  • มีผื่น มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก
  • มีไข้
  • ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ

ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ แนะนำให้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล หรือสถานบริการสุขภาพใกล้บ้านทันทีเพื่อตรวจหาเชื้อได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากนั้นจะทราบผลตรวจภายใน 1-5 วัน

คำแนะนำสำหรับประชาชน

1.ผู้ที่อยู่ระหว่างรอผลตรวจ

  • ให้แยกของใช้ส่วนตัว 
  • แยกพื้นที่กับผู้ที่อยู่ร่วมบ้าน ที่พัก หรือ สถานที่ทำงาน 
  • ไม่ใช้จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ และของใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น 
  • สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อ เนื่องจากสามารถติดได้จากการสัมผัสใกล้ชิด 

2.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ภูมิคุ้มกันต่ำ 

หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที อย่าชะล่าใจเนื่องจากมีอาการรุนแรงได้  

3.ประชาชนทั่วไป

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร
  • ไม่คลุกคลี หรือ สัมผัส ตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ ซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้าหรือมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนกลาง เช่น หนูแกมเบียน กระรอกดิน
  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ

นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีกิจกรรมการรวมตัว หรือกิจกรรมพบปะสังสรรค์ ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานรก็เป็นอีกวิธีที่สามารถป้องกันฝีดาษวานรได้

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422