กรมควบคุมโรค ยัน ไม่พบ ฝีดาษวานรสายพันธุ์ใหม่ ไทยเฝ้าระวังต่อเนื่อง 

08 ส.ค. 2567 | 16:45 น.

กรมควบคุมโรค เผย ไทยเฝ้าระวัง ย้ำยังไม่พบฝีดาษวานรสายพันธุ์รุนแรงเชื่อมโยงแอฟริกากลาง ยืนยันไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ เปิดตัวเลขล่าสุดมีผู้ป่วยสะสม 822 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิต เตือนสังเกตอาการ เร่งพบแพทย์

จากกรณีที่มีสถานการณ์ฝีดาษวานร ในแอฟริกากลาง พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จนทำให้มีข้อกังวลว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือไม่นั้น ความคืบหน้าล่าสุดโดย นพ.วิชาญ บุญกิติกร ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวยืนยันว่า ข้อมูลสายพันธุ์โรคฝีดาษวานรที่มีอยู่พบว่ายังไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ เป็นสายพันธุ์เก่าที่มีสายพันธุ์ย่อยอยู่ 2 สายพันธุ์

ส่วนสายพันธุ์ที่มีการรายงานข่าวออกมาทางแอฟริกากลางนั้น จากการดูข้อมูลสถานการณ์ฝีดาษวานรทั่วโลก แนวโน้มโรคไม่ได้สูงขึ้นยังคงทรงตัว

สำหรับประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังอยู่แล้วซึ่งยังไม่จำเป็นต้องมีการกักตัวหรือตรวจเฉพาะผู้เดินทางมาจากแอฟริกากลางแต่อย่างใดยังคงใช้ระบบเฝ้าระวังเดิมโดยกรณีหน่วยบริการเจอผู้เดินทางที่มีอาการและเข้ารับการรักษานั้นทุกรายจะต้องมีการรายงานเข้ามายังระบบส่วนกลาง โดยต้องมีการตรวจยืนยันสายพันธุ์โรคฝีดาษวานรล่าสุดยังไม่เจอสายพันธุ์ที่รุนแรงที่เชื่อมโยงกับทางแอฟริกา

สำหรับอาการของโรคฝีดาษวานรนั้น ยังคงเหมือนเดิม คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ผื่นขึ้น มีตุ่มหนอง อยู่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์  ที่สำคัญไม่ได้ติดต่อง่าย ต้องสัมผัสแนบชิดจริง ๆ กลุ่มเสี่ยงก็จะเป็นกลุ่มมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัยแต่ไม่ได้ติดจากการหายใจแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ข้อมูลสะสมของประเทศไทย ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2567 อยู่ที่ 822 ราย โดยตั้งแต่มกราคม 2567 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการรายงานผู้ป่วยฝีดาษวานรสะสม 135 ราย  ซึ่งจำนวนผู้ป่วย ปี2567 หากเทียบกับ ปี 2566 ไม่ต่างกันมาก และขณะนี้ ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากฝีดาษวานร

ส่วนการรักษาในปัจจุบัน เป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วยหากอาการไม่มากรับยากลับไปดูแลรักษาที่บ้านแต่เน้นย้ำผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยจะต้องมีการเฝ้าระวังตัวเองภายในระยะเวลา 21 วัน ให้สังเกตอาการไข้ มีผื่น มีตุ่มหนองขึ้นตามร่างกาย หากมีอาการเหล่านี้ต้องไปตรวจยืนยันที่โรงพยาบาลใกล้บ้านแต่หากบางรายที่มีอาการหนักก็ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

สำหรับความรุนแรงของโรคฝีดาษวานรนั้นจัดให้อยู่ในกลุ่มโรคติดต่อเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย การติดต่อของโรคถือว่าติดต่อไม่ง่าย หากไม่ได้มีสัมพันธ์แนบชิดใกล้ชิดกัน การรักษาหรือนอนในโรงพยาบาลไม่มีความจำเป็นจะต้องแยกกักกันโรคเหมือนโรคอันตรายอื่น ๆ แต่ต้องรายงานผู้ป่วยเข้าระบบและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยต้องเฝ้าระวังตัวเอง