โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ของรัฐบาลซึ่งได้เปิด 46 จังหวัดนำร่องรวมกรุงเทพมหานครด้วยโดยในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เตรียมคิกออฟโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ กทม.เป็นจังหวัดที่ 46 อย่างเป็นทางการ
พร้อมเปิดตัวตราสัญลักษณ์โครงการฯล่าสุดเพื่อใช้ในการรับรองคุณภาพและการเข้าร่วมโครงการฯ ของหน่วยบริการทั่วประเทศและใช้สื่อสารประชาสัมพันธ์ในการเข้ารับบริการของประชาชน ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ กทม.
จากการตรวจสอบความพร้อมในส่วนของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. และกรุงเทพมหานคร ที่ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาเรื่องของใบส่งตัวเพื่อเข้ารับบริการของกลุ่มผู้ป่วย
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2567 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สำหรับกรุงเทพมหานครนั้นจะได้ใช้นโยบายโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่เป็นจังหวัดที่ 46 จากที่ถูกกำหนดให้เป็นจังหวัดสุดท้ายของโครงการฯ
นพ.จเด็จ เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นที่ไม่อยากให้มองว่า กทม.เปิดเป็นจังหวัดสุดท้ายเพราะมีปัญหาแต่ต้องการให้แสดงถึงศักยภาพการให้บริการจึงออกมาเป็นนโยบายดังกล่าวข้างต้น
สำหรับความพร้อมตามนโยบาย 30 รักษาทุกที่ในส่วนของ กทม. นั้น ขณะนี้กำลังเตรียมกันอยู่ซึ่งก็ยอมรับว่า แม้จะมั่นใจในระดับหนึ่งในการเตรียมเปิดตัวโครงการฯ ในวันที่ 26 ส.ค.นี้ แต่ก็ยังต้องติดตามดูกันอีกทีซึ่งตามที่ท่านผู้ว่าฯ (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ระบุว่า การเชื่อมระบบข้อมูลของหน่วยให้บริการของ กทม. เชื่อมต่อกันเกือบ 100% แล้วเหลืออีก 100 กว่าแห่งเท่านั้นจากทั้งหมด 1,400 แห่ง
คาดว่า ภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้จะเรียบร้อยจึงคิดว่า มีความพร้อมระดับหนึ่งแล้วเพียงแต่ก็ต้องสื่อสารให้กับประชาชนให้มีความชัดเจนว่า จะต้องทำอย่างไร ซึ่งในที่ประชุม บอร์ด สปสช.ล่าสุด ให้มีตราสัญลักษณ์เพื่อติดไว้ที่หน่วยบริการแสดงให้ประชาชนเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าในภาพรวมจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้มากขึ้น
ถามว่า กทม.มีความพร้อมมากกว่าจังหวัดอื่นที่รออยู่หรือไม่นั้น นพ.จเด็จ กล่าวว่า กทม.เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการจะทำให้เห็นและผู้ว่าฯก็กำหนดเป็นนโยบายที่จะให้ทำในเรื่องนี้
ขณะที่ประชาชนในกทม.ก็มีปัญหาที่เราอยากแก้ไข เช่น การแก้ปัญหาเรื่องใบส่งตัวและการเติมเงินเข้าไปในหน่วยนวัตกรรม อย่างไรก็ดี คลินิกที่ยังมีปัญหาและกังวลว่าจะต้องจ่ายเงินที่ตัวเองรับไปแล้วในส่วนที่เยอะเกินไปก็อาจจะแบ่งเบาความรู้สึกตัวเองได้บ้าง
นอกจากนี้ในส่วนของ กทม. ขณะนี้ได้พยายามจะเพิ่มหน่วยนวัตกรรมเข้ามา 1,200 แห่งเพื่อเสริมการให้บริการที่เป็นคลินิกคุณหมอ คลินิกฟัน กายภาพ แล็ป และแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะคลินิกแล็ปที่สามารถเจาะเลือดที่บ้าน หรืออาจจะเปิดในปั๊มน้ำมันบางจากที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วหรือบนรถไฟฟ้า และโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อให้การเจ็บป่วยเล็กน้อยได้รับการดูแลเบื้องต้น
ไม่จำเป็นว่า ทุกคนต้องวิ่งไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยล่าสุด บอร์ด สปสช. ก็ได้มีมติให้นำโรงพยาบาลเอกชน 22 แห่งเข้ามาร่วมในระบบซึ่งก็จะมีการจัดระบบส่งตัวใหม่อีกรอบหนึ่ง
สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องใบส่งตัวที่มีความกังวลว่า หากเปิดตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่แล้ว โรงพยาบาลของ กทม. กับโรงพยาบาลอื่นจะสามารถเชื่อมข้อมูลกันได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาพื้นที่ กทม. ยังไม่ได้เชื่อมข้อมูลกันและมีปัญหาเรื่องใบส่งตัวอีกหรือไม่นั้น
ได้มีข้อสรุปว่า หากเชื่อมต่อกับระบบของ 30 บาทรักษาทุกที่ก็จะต้องเชื่อมระบบแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งในอนาคตจะใช้เป็นระบบการส่งข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยสถานพยาบาลในหน่วยงานของ กทม. นอกจากจะเชื่อมของกทม.แล้ว ตอนนี้เชื่อมกับหน่วยงานสังกัดอื่นซึ่ง 30 บาทรักษาทุกที่จะทำให้เกิดแพลตฟอร์มข้อมูลกลางที่จะนำมาเชื่อมต่อกันโดยไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัยของโรงพยาบาลแต่ละแห่งเพราะไม่ได้มีการล้วงข้อมูลใด ๆ
ด้านนายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หากประชาชนไม่พอใจบริการของหน่วยคลินิกใกล้บ้าน อยากจะเข้าไปรับบริการที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อื่น แม้จะข้ามสังกัดก็สามารถทำได้แต่อาจจะมีความไม่สะดวกเรื่องการส่งตัวเล็กน้อยในตอนนี้เท่านั้น
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ 45 จังหวัดนำร่องโครงการ 30 รักษาทุกที่ ตามนโยบายรัฐบาล ได้ทยอยเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลตั้งเป้าสามารถให้บริการได้ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ สำหรับ 45 จังหวัดนำร่องโครงการ 30 รักษาทุกที่ที่เปิดตัวไปแล้วนั้น ประกอบด้วย
1.กำแพงเพชร 2.ชัยนาท 3.ชัยภูมิ 4.เชียงราย 5.เชียงใหม่ 6.ตรัง 7.นครนายก 8.นครพนม 9.นครราชสีมา 10.นครสวรรค์
11.นนทบุรี 12.นราธิวาส 13.น่าน 14.บึงกาฬ 15.บุรีรัมย์ 16.ปทุมธานี 17.ปัตตานี 18.พระนครศรีอยุธยา 19.พะเยา 20.พังงา
21.พัทลุง 22.พิจิตร 23.เพชรบุรี 24.เพชรบูรณ์ 25.แพร่ 26.แม่ฮ่องสอน 27.ยะลา 28.ร้อยเอ็ด 29.ลพบุรี 30.ลำปาง
31.ลำพูน 32.เลย 33.สกลนคร 34.สงขลา 35.สตูล 36.สระแก้ว 37.สระบุรี 38.สิงห์บุรี 39.สุรินทร์ 40.หนองคาย
41.หนองบัวลำภู 42.อ่างทอง 43.อำนาจเจริญ 44.อุดรธานี และ 45.อุทัยธานี