21 สิงหาคม 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยกรณีว่า ได้รับรายงานจากกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และกองระบาดวิทยาว่า พบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานรสายพันธุ์ Clade 1b (เคลด 1บี) เป็นเพศชายชาวยุโรป อายุ 66 ปี เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาด
ผู้ป่วยรายนี้เดินทางเข้ามาประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. มีประวัติมาว่า มาจากประเทศแทบแอฟริกา ซึ่งมีการระบาดของฝีดาษวานรสายพันธุ์ Clade 1b ซึ่งไปต่อเครื่องบินที่ประเทศตะวันออกกลาง ก่อนเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย
ต่อมาในวันที่ 15 ส.ค. 2567 ผู้ป่วยเริ่มป่วย มีอาการไข้ และมีตุ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จึงเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา เมื่อซักประวัติแล้วสงสัยว่า เข้าข่ายโรคฝีดาษวานร โดยผลตรวจเชื้อโรคฝีดาษวานร สายพันธุ์ Clade 2 (เคลด 2) ให้ผลเป็นลบ ส่วนสายพันธุ์ Clade 1b (เคลด 1บี) ให้ผลไม่ชัดเจน จึงต้องตรวจใหม่และอยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยันซึ่งจะทราบผลในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567
ทั้งนี้ แม้ว่าผลการตรวจยังไม่ชัดเจนแต่ประชาชนควรตระหนักถึงอันตรายของโรคโดยขณะนี้ได้ส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยผู้สัมผัสเสี่ยงใกล้ชิดกับผู้ป่วยในช่วงก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 43 ราย ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ขอให้ผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาสังเกตอาการภายใน 21 วัน หากมีอาการไข้ มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
จากการตรวจเบื้องต้น ปรากฏว่า เป็นโรคฝีดาษวานรแน่นอนแต่ไม่ใช่สายพันธุ์ Clade 2 และ Clade 1b ยังไม่ชัดเจน จะต้องนำยีนไปตรวจต่อ แม้จะยังไม่ 100% แต่จำเป็นต้องให้ข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบว่า มีผู้ป่วยสงสัยที่ค่อนข้างเชื่อได้ว่า ป่วยฝีดาษวานร ซึ่งมาจากต่างประเทศ
สำหรับผู้ป่วยรายนี้เป็นชาวยุโรป อาศัยอยู่ในประเทศแทบแอฟริกาที่มีการระบาด นั่งเครื่องบินมาที่ตะวันออกกลาง ก่อนต่อเครื่องบินมาลงที่ประเทศไทย สำหรับอาการล่าสุดของผู้ป่วยนี้ไม่มีอาการรุนแรง ส่วนระบบการติดตามผู้สัมผัสนั่งใกล้ผู้ป่วยบนเครื่องบินจำนวน 43 รายนั้น มีการสืบเพื่อควบคุมโรคและติดตามแล้วโดยไม่จำเป็นต้องกักตัวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ นพ.ธงชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยรายนี้หลังจากลงเครื่องบินแล้วมีเวลาสัมผัสกับคนอื่นสั้นมากเพราะมาถึงประเทศไทยเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ในวันรุ่งขึ้นได้ไปพบแพทย์และรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลเลย
สำหรับการป้องกันโรคฝีดาษลิงที่ดีที่สุดนั้น นพ.ธงชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะนำว่า การล้างมือเป็นวิธีที่ดีที่สุด ขณะที่การสวมหน้ากากอนามัยนั้น เป็นวิธีการหนึ่งที่ป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ดี
ทั้งนี้ อัตราการเสียชีวิตจากฝีดาษวานรทั้ง 2 สายพันธุ์นั้นแตกต่างกัน โดยนพ.ธงชัย กล่าวว่า เคลด 1บี มีความรุนแรงมากกว่าอัตราการเสียชีวิตประมาณ 3-5% ซึ่งองค์การอนามัยโลกมีความกังวลเนื่องจากปัจจุบันเพราะพบติดเชื้อในเด็กด้วยจากเดิมที่จะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ ส่วน เคลด 2 อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1.3%