สธ. แจงข้อเท็จจริงปมพบผู้ป่วยช็อกจากเชื้อ STSS เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น 

17 มิ.ย. 2567 | 15:55 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2567 | 15:55 น.

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีผู้ป่วยอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (STSS) เพิ่มสูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น 

17 มิถุนายน 2567 กรมควบคุมโรค ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีพบผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (Streptococcal toxic shock syndrome (STSS)) เพิ่มสูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น

ภูมิหลังและความสำคัญ

Streptococcal Toxic Shock Syndrome (STSS) เป็นภาวะติดเชื้อที่รุนแรงที่พบได้น้อยแต่เป็นอันตรายถึงชีวิต ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus กลุ่ม A ซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้พบได้บ่อยในลำคอและบนผิวหนังของคนเราทั่วไปและสามารถทำให้เกิดอาการคออักเสบได้ บางรายมีความรุนแรงทำให้เกิดการติดเชื้อที่ลุกลามที่เรียกว่า invasive Group A Streptococcal disease (iGAS) 

เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถผ่านปราการระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนลึกและปล่อยสารพิษผ่านระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบบจนเกิดภาวะช็อกและภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายตามมาจนเสียชีวิตได้และสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ และการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุคอ เยื่อบุเมือกต่าง ๆ และบาดแผลบนผิวหนัง

ลักษณะอาการ

เริ่มด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวและประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมงจะมีอาการรุนแรงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

จากรายงานโรคติดเชื้อประจำสัปดาห์ของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น (Infectious Diseases Weekly Report : IDWR) ฉบับที่ 21 (วันที่ 20 – 26 พฤษภาคม 2567) พบผู้ป่วย STSS จำนวน 30 ราย เสียชีวิต 6 ราย โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.– 26 พ.ค.2567 มีรายงานพบผู้ป่วย STSS สะสมจำนวน 690 ราย เสียชีวิต 163 ราย (ร้อยละ 23.6) กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 70 - 79 ปี 149 ราย (ร้อยละ 21.6) 

จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 พบการรายงานผู้ป่วย STSS สะสมในปี 2567 เพิ่มขึ้น รวมจำนวน 977 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา และแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566 

Streptococcal Toxic Shock Syndrome (STSS) คืออะไร 

สาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ S. pyogenes เรียกว่า Streptococcus กลุ่ม A (Group A Strep) ซึ่งสามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนลึกและปล่อยสารพิษผ่านระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบจนเกิดภาวะช็อกและภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายตามมาจนเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ Streptococcus กลุ่ม B, C, G ก็ทำให้เกิด STSS ได้ แต่เกิดขึ้นน้อยกว่ากลุ่ม A

ลักษณะอาการ

เริ่มด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง จะมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วและมีสัญญาณและอาการที่แสดงให้เห็นถึงภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับวาย ไตวาย ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เกิดลิ่มเลือดในกระแสเลือด การอักเสบของเนื้อเยื่อ ผื่นแดงทั่วตัว อาการทางระบบประสาท  

การติดต่อ

เชื้อ Streptococcus กลุ่ม A แพร่เชื้อจากคนสู่คน ผ่านสารคัดหลั่ง เช่น ละอองฝอยน้ำมูก น้ำลาย ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุคอ เยื่อบุเมือกต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลบนผิวหนังจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งได้ด้วยจากนั้นเชื้อจะแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อชั้นลึกและเข้าสู่กระแสเลือด 

การวินิจฉัยโรค และการรักษา

ใช้อาการทางคลินิกร่วมกับผลการตรวจแยกเชื้อ โดยผู้ป่วยควรได้รับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ 

สถานการณ์ปัจจุบัน

สถานการณ์การติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A รวมทั้งการเกิด Streptococcal Toxic Shock Syndrome (STSS) ในประเทศญี่ปุ่น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2566 จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 พบการรายงานผู้ป่วย STSS สะสมในปี 2567 จำนวน 977 รายซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา 

จากรายงานโรคติดเชื้อประจำสัปดาห์ของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น (Infectious Diseases Weekly Report : IDWR) ฉบับที่ 21 (วันที่ 20 – 26 พฤษภาคม 2567) พบผู้ป่วย STSS จำนวน 30 ราย เสียชีวิต 6 ราย

โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 พฤษภาคม 2567 รายงานพบผู้ป่วย STSS จำนวน 690 ราย เสียชีวิต จำนวน 163 ราย (ร้อยละ 23.6) กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ อายุ 70 - 79 ปี 149 ราย (ร้อยละ 21.6) รองลงมาคือ อายุ 80 - 89 ปี จำนวน 143 ราย (ร้อยละ 20.7) ช่วงอายุ 60 - 69 ปี จำนวน 110 ราย (ร้อยละ 15.9)

สำหรับประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยภาวะติดเชื้อที่รุนแรง หรือ STSS แต่มีรายงานการติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A ซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่นที่ทำให้เกิดโรคไข้ดำแดง มีการติดเชื้อเป็นหนองหรือจุดเลือดออกที่คอหอย และต่อมทอนซิล มักมีอาการไม่รุนแรง ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ และไข้มีผื่นละเอียดสีแดงตามร่างกาย สัมผัสแล้วมีลักษณะสากคล้ายกระดาษทราย ลิ้นบวมแดง (Strawberry tongue)

โรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยการหายใจสูดเอาละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อหรือสัมผัสผ่านทางมือสิ่งของเครื่องใช้ มักระบาดในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น เด็กนักเรียนในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก

จากข้อมูลระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค ของกรมควบคุมโรค ในปี 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 608 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.92 ต่อแสนประชากร ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตและปี 2567 (วันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2567) พบผู้ป่วย จำนวน 18 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต 

คำแนะนำสำหรับผู้เดินทาง

สำหรับผู้ที่วางแผนจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ควรให้ความสำคัญในการป้องกันตนเอง เนื่องจากเชื้อ สามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านละอองฝอยของสารคัดหลั่ง และบาดแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้เดินทางกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีบาดแผลหรือแผลผ่าตัด ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยมีคำแนะนำ ดังนี้

ก่อนการเดินทาง

- ตรวจสอบสถานการณ์โรคในพื้นที่ที่จะเดินทางไป โดยติดตามการระบาดของโรคได้ที่เว็บไซต์ทางการของประเทศญี่ปุ่น https://www.niid.go.jp/

- เตรียมอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองให้พร้อม เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ อุปกรณ์ทำความสะอาดบาดแผล ทายาฆ่าเชื้อ และปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ เป็นต้น 

- แนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

ระหว่างการเดินทาง (ระหว่างอยู่ที่ประเทศปลายทาง)

- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ และทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากหรือจมูกเมื่อไอหรือจาม และระมัดระวังไม่ให้ผิวหนังเกิดบาดแผล และเมื่อมีบาดแผลให้ทำความสะอาดอย่างถูกวิธี 

- ระมัดระวังการเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น ย่านช้อปปิ้ง ถนนคนเดิน สถานีรถไฟ 

- สังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ เจ็บคอ มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ และแยกตัวเองจากบุคคลใกล้ชิด

 หลังกลับจากการเดินทาง 

-ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกเรื่องการจำกัดการเดินทางในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ ยังไม่มีคำแนะนำการคัดกรองผู้เดินทาง ณ บริเวณช่องทางเข้าออกประเทศ หากผู้เดินทางมีข้อสงสัยสามารถสอบถามและขอคำแนะนำได้จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่าน

- กรณีท่านมีอาการผิดปกติเข้าได้กับอาการแรกเริ่มของ STSS เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ

- สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากรู้สึกไม่สบาย หรือมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ เจ็บคอ มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ

ข้อมูลสำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข

เนื่องด้วยอาการ STSS มีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หน่วยงานบริการสาธารณสุขต้องเฝ้าระวังโรคในผู้เดินทางหากพบผู้ป่วยเข้าได้กับลักษณะอาการของ STSS และมีประวัติการเดินทางมาจากพื้นที่ที่พบผู้ป่วย ควรรีบประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็วก่อนเกิดภาวะช็อก ลดความรุนแรง และการแพร่กระจายของโรคในประเทศไทย

ที่มา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข